การจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดบุรีรัมย์
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 27 March 2024 01:56
- Hits: 9755
การจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดบุรีรัมย์
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการกำหนดให้จังหวัดบุรีรัมย์เป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตามที่คณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (คณะกรรมการนโยบายฯ) เสนอ
ทั้งนี้ การขอรับจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานตามมาตรา 28 ของพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 เห็นควรให้มีการนำผลการประเมินการดำเนินงานในช่วง 3 ปี ตามมาตรา 40 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาการจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมสอดคล้องกับข้อเท็จจริง โดยคำนึงถึงศักยภาพและความพร้อมของสถานศึกษาแต่ละพื้นที่ ความคุ้มค่า ความซับซ้อน ความครอบคลุมทุกแหล่งเงิน รวมถึงสร้างการรับรู้และความเข้าใจในทุกมิติถึงประโยชน์ที่ทุกภาคส่วนจะได้รับเป็นสำคัญตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
สาระสำคัญเรื่อง
คณะกรรมการนโยบายฯ รายงานว่า
1. พระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 มาตรา 5 บัญญัติให้พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเป็นพื้นที่ปฏิรูปการบริหารและการจัดการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมการศึกษา1 โดยมีวัตถุประสงค์ 4 ประการ ดังนี้ (1) คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมการศึกษาและการเรียนรู้เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียน รวมทั้งเพื่อให้มีการขยายผลไปปรับใช้ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอื่น (2) ลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา (3) กระจายอำนาจและให้อิสระแก่หน่วยงานทางการศึกษาและสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารและการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และ (4) สร้างและพัฒนากลไกการจัดการศึกษาร่วมกันระหว่างภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา มาตรา 6 บัญญัติให้คณะกรรมการนโยบายฯ พิจารณาความเหมาะสมของการเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาโดยคำนึงถึงความพร้อม ตลอดจนการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง และมาตรา 7 บัญญัติให้จังหวัดใดประสงค์จะเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ให้คณะผู้เสนอ2โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายฯ พิจารณา โดยปัจจุบันมีการจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษามาแล้ว จำนวน 19 พื้นที่ สรุปได้ ดังนี้
ปี |
จำนวนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่มีการจัดตั้ง |
จำนวนสถานศึกษานำร่อง (แห่ง) |
2561-2562 |
8 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดสตูล ระยอง ศรีสะเกษ กาญจนบุรี เชียงใหม่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส [เป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่ได้จัดตั้งขึ้นโดยประกาศกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ก่อนวันที่พระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ใช้บังคับ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 44 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว] |
5393 |
2565 |
11 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดจันทบุรี ภูเก็ต สงขลา สุราษฎร์ธานี อุบลราชธานี สุโขทัย แม่ฮ่องสอน กระบี่ ตราด และสระแก้ว [คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565] |
1,498 |
รวม |
19 |
2,037 |
ทั้งนี้ การจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจะส่งผลให้สถานศึกษานำร่องในพื้นที่สามารถจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่โดยสามารถบริหารจัดการการศึกษาได้อย่างอิสระ ยืดหยุ่น คล่องตัว ไม่ต้องอิงกฎระเบียบที่ไม่จำเป็นหรือไม่เอื้อจากส่วนกลาง เช่น การเลือกใช้หลักสูตร/สื่อการเรียนการสอนออกแบบการทดสอบเฉพาะพื้นที่ได้ สถานศึกษาได้งบพัฒนาเป็นวงเงินรวม (Block Grant) มีช่องทางผลักดันการบริหารงานบุคคลให้เหมาะสมกับพื้นที่ สามารถปรับลดและยกเลิกโครงการที่เพิ่มภาระงานครูและส่งผลเสียต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยกลไกการจัดการศึกษาระหว่างภาครัฐ อปท. ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ซึ่งจะส่งผลดีทั้งต่อผู้เรียน สถานศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่และช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
2. คณะผู้เสนอได้ยื่นคำขอจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดบุรีรัมย์ต่อสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อให้นำเสนอคณะกรรมการนโยบายฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยได้ดำเนินการตามขั้นตอนของประกาศคณะกรรมการนโยบายฯ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการพิจารณาความพร้อมของจังหวัด จำนวนและคุณสมบัติของคณะผู้เสนอ หลักเกณฑ์และวิธีการเสนอจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2564 ด้วยแล้ว สรุปได้ ดังนี้
2.1 คณะกรรมการนโยบายฯ ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นประธาน ได้มีมติเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2565 มอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านนโยบาย ยุทธศาสตร์ ติดตามและประเมินผล4 (คณะอนุกรรมการด้านนโยบายฯ) พิจารณาคำขอจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งคณะอนุกรรมการด้านนโยบายฯ มีมติเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2566 เห็นชอบให้จังหวัดบุรีรัมย์เป็นพื้นที่ซึ่งมีความพร้อมในการจัดตั้งเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเนื่องจากมีแนวทางการดำเนินงานสอดคล้องกับแนวคิดหลักของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา มีแนวทางการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาและการลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา มีภาคีเครือข่ายจากทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือในการจัดการศึกษา มีหน่วยงานที่มีความเข้าใจในเป้าหมายและหลักการสำคัญของการเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาพร้อมให้คำปรึกษาชี้แนะ และเป็นพี่เลี้ยงทางวิชาการ รวมทั้งมีแผนการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่ชัดเจน ซึ่งต่อมาคณะกรรมการนโยบายฯ ได้มีมติเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2566 เห็นชอบให้จังหวัดบุรีรัมย์เป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาและได้เสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี แต่เนื่องจากขณะนั้นได้มีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ประกอบกับคณะรัฐมนตรีมีมติ (21 มีนาคม 2566) เรื่อง แนวทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งกรณีนี้มีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไปอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 169 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และไม่สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นจึงมีคำสั่งให้ส่งเรื่องดังกล่าวคืนคณะกรรมการนโยบายฯ เพื่อให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ต่อไป
2.2 ต่อมาฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายฯ (สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา) ได้นำเรื่องการจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดบุรีรัมย์เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายฯ อีกครั้ง โดยคณะกรรมการนโยบายฯ ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) เป็นประธานมีมติเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2566 ยืนยันตามมติเดิมของคณะกรรมการนโยบายฯ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2566 โดยเห็นชอบการขอจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดบุรีรัมย์และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายฯ เสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อกำหนดให้จังหวัดบุรีรัมย์เป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
3. ประมาณการค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนการจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดบุรีรัมย์ (สถานศึกษานำร่อง 83 แห่ง) ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568-25695 รวมจำนวน 18,600,000 บาท โดย ศธ. จะขอรับการจัดสรรงบประมาณตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป สรุปได้ ดังนี้
3.1 งบประมาณของ ศธ. โดยสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สำนักงานปลัด ศธ.) โอนจัดสรรให้กับสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาปีละ 1,000,000 บาท สรุปได้ ดังนี้
ปีงบประมาณ พ.ศ. |
รวม (บาท) |
|
2568 |
2569 |
|
1,000,000 |
1,000,000 |
2,000,000 |
3.2 งบเงินอุดหนุนเพื่อการพัฒนานวัตกรรมการศึกษา โดย สพฐ. โอนจัดสรรให้กับสถานศึกษานำร่องโดยตรง โรงเรียนปีละ 100,000 บาท สรุปได้ ดังนี้
ปีงบประมาณ พ.ศ. |
รวม (บาท) |
|
2568 |
2569 |
|
8,300,000 (83 โรงเรียน x 100,000 บาท) |
8,300,000 (83 โรงเรียน x 100,000 บาท) |
16,600,000 |
4. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
4.1 ผู้เรียนได้พัฒนาการเรียนรู้และนำไปสู่การเป็นคนไทยที่มีคุณภาพ มีความใฝ่รู้ มีความคิดสร้างสรรค์ มีความสามารถในการสื่อสาร สามารถอยู่และทำงานร่วมกับผู้อื่นซึ่งมีความแตกต่างและความหลากหลายได้ มีความรู้เท่าทันโลก และมีทักษะในการประกอบอาชีพตามความถนัดของผู้เรียนแต่ละคน
4.2 ผู้ปกครองเกิดความเชื่อมั่นต่อคุณภาพของสถานศึกษาใกล้บ้านและไม่จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อให้ลูกหลานได้รับการศึกษาที่ดี
4.3 ครูและผู้บริหารสถานศึกษามีอิสระในการจัดการเรียนการสอนและการบริหารจัดการสถานศึกษามากขึ้นเนื่องจากการลดภาระงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนและการบริหารจัดการสถานศึกษา ส่งผลให้ครูและบุคลากรทางการศึกษามีเวลาสำหรับการสอนและพัฒนาผู้เรียนให้เกิดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาอย่างเต็มที่
4.4 ศธ. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษาทั่วไปจะได้ข้อเสนอเชิงนโยบาย ตัวอย่างนวัตกรรม และแนวปฏิบัติที่ดีในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานรวมถึงการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปปรับใช้ให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารและการจัดการศึกษา
4.5 ผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เกิดความตระหนักถึงความร่วมมือในการจัดการศึกษาร่วมกันและผลักดันให้เกิดการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำในการศึกษาและจำนวนนักเรียนที่หลุดจากระบบการศึกษาลดลงและจะมีบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีความสามารถและพร้อมที่จะช่วยพัฒนาสั่งคมและเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้นในอนาคต
____________________
1 นวัตกรรมการศึกษา หมายถึง แนวคิด วิธีการ กระบวนการ สื่อการเรียนการสอน หรือการบริหารจัดการในรูปแบบใหม่ซึ่งได้มีการทดลองและพัฒนาจนเป็นที่น่าเชื่อถือว่าสามารถส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนและการจัดการศึกษา และหมายความรวมถึงการนำสิ่งดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
2 คณะผู้เสนอ หมายถึง กลุ่มบุคคลซึ่งยื่นขอจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ประกอบด้วย (1) องค์ประกอบหลัก ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหารสถานศึกษาอย่างน้อยหนึ่งในสามของจำนวนสถานศึกษาทั้งหมด ผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาหรือหน่วยงานอื่นที่ให้สนับสนุนทางวิชาการอย่างน้อย 1 คน และผู้แทนภาคเอกชนและภาคประชาสังคมที่ให้ความร่วมมือในการจัดการศึกษาอย่างน้อย 3 คน และ (2) องค์ประกอบอื่น โดยเลือก 2 จาก 4 องค์ประกอบ ได้แก่ ผู้บริหารหน่วยงานภายในจังหวัดอย่างน้อย 2 คน ผู้นำชุมชนอย่างน้อย 1 คน ผู้ทรงคุณวุฒิอย่างน้อย 3 คน และศึกษาธิการจังหวัด
3 ศธ. แจ้งว่า ในปี 2561 พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล ระยอง ศรีสะเกษ กาญจนบุรี เชียงใหม่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีสถานศึกษานำร่อง 266 แห่ง และในปี 2562 ได้มีการเพิ่มจำนวนสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาดังกล่าวเป็น 539 แห่ง โดยเพิ่มขึ้นจากเดิม 273 แห่ง
4 คณะอนุกรรมการด้านนโยบาย ยุทธศาสตร์ ติดตามและประเมินผล มีหน้าที่ในการพิจารณากลั่นกรองคำขอจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาพร้อมให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายฯ พิจารณา
5 เนื่องจากพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 จะมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 30 เมษายน 2569 คณะกรรมการนโยบายฯ จึงได้เสนอขอจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568-2569 เพื่อให้จังหวัดบุรีรัมย์ดำเนินการตามวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของการจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในระยะเวลาที่เหลืออยู่ไม่น้อยกว่า 2 ปีการศึกษา
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 26 มีนาคม 2567
3937