ร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ จำนวน 2 ฉบับ
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 27 March 2024 02:58
- Hits: 10334
ร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ จำนวน 2 ฉบับ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ดังนี้
1. เห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ ..) และร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตกรณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 จำนวน 2 ฉบับ ที่คณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
2. ให้กระทรวงแรงงานรับความเห็นของกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ ร่างประกาศ จำนวน 2 ฉบับ ที่กระทรวงแรงงานเสนอคณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติเห็นชอบในหลักการเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 และคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณาแล้วเป็นการปรับปรุงมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ เพื่อกำหนดให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดพิเศษตามที่มีมติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการเป็นกรณีพิเศษตามความเหมาะสมและความจำเป็นของกิจการ โดยให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดดังกล่าวด้วยและกำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิลาคลอดบุตรโดยได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นจากเดิมไม่เกิน 90 วัน เป็นไม่เกิน 98 วัน เพื่อให้สอดคล้องกับแรงงานภาคเอกชนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 รวมทั้งปรับปรุงหลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (เฉพาะผู้ป่วยระดับสีเหลืองและสีแดง) เพื่อให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐนตรีเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565 ซึ่งคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ได้เห็นชอบในหลักการของร่างประกาศ จำนวน 2 ฉบับ ดังกล่าวด้วยแล้ว
สาระสำคัญของร่างประกาศ
1. ร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ ..) มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ในเรื่องดังต่อไปนี้
ประกาศเดิม |
ร่างประกาศในเรื่องนี้ |
|
1. วันหยุดพิเศษตามมติคณะรัฐมนตรี |
||
● “วันหยุด” หมายความว่า วันที่กำหนดให้ลูกจ้างหยุดประจำสัปดาห์ หยุดตามประเพณี หรือหยุดพักผ่อนประจำปี ● ในกรณีที่วันหยุดตามประเพณีวันใดตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ของลูกจ้าง ให้ลูกจ้างได้หยุดชดเชยในวันทำงานถัดไป |
● “วันหยุด” หมายความว่า วันที่กำหนดให้ลูกจ้างหยุดประจำสัปดาห์ หยุดตามประเพณี หรือหยุดพักผ่อนประจำปี หรือหยุดพิเศษตามที่มีมติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการเป็นกรณีพิเศษและนายจ้างกำหนดให้เป็นวันหยุด ● ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดพิเศษตามที่มีมติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการเป็นกรณีพิเศษ ตามความเหมาะสมและความจำเป็นของกิจการ ● ในกรณีที่วันหยุดตามประเพณี หรือวันหยุดพิเศษวัดใดตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ของลูกจ้าง ให้ลูกจ้างได้หยุดชดเชยวันหยุดตามประเพณีและวันหยุดพิเศษในวันทำงานถัดไป |
|
2. วันลาเพื่อคลอดบุตร |
||
● ลูกจ้างมีสิทธิลาคลอดบุตรโดยได้รับค่าจ้างเท่าเวลาที่ลาตามอัตราที่ได้รับอยู่ แต่ไม่เกิน 90 วัน |
● ลูกจ้างมีสิทธิลาคลอดบุตรโดยได้รับค่าจ้างเท่าเวลาที่ลาตามอัตราที่ได้รับอยู่ แต่ไม่เกิน 98 วัน |
2. ร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต (กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19) มีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ลงวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ในเรื่องดังต่อไปนี้
ประกาศเดิม |
ร่างประกาศในเรื่องนี้ |
|
1. บทนิยาม |
||
● “ผู้ป่วย” หมายความว่า ลูกจ้าง หรือคู่สมรสหรือบุตรของลูกจ้าง ผู้ซึ่งป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 2019 [Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)] |
● “ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต” หมายความว่า ลูกจ้าง หรือคู่สมรสหรือบุตรของลูกจ้าง ผู้ซึ่งป่วยฉุกเฉินวิกฤตตามกฎหมายว่าด้วยการแพทย์ฉุกเฉิน เฉพาะโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 [Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)] |
|
2. ค่าใช้จ่ายการตรวจทางห้องปฏิบัติการ |
||
● กรณีที่ลูกจ้าง หรือคู่สมรสหรือบุตรของลูกจ้างมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ หอบเหนื่อย หรือมีอาการของโรคปอดอักเสบ หากแพทย์เห็นว่ามีความจำเป็นต้องตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการนั้นสำหรับตนเอง หรือคู่สมรสหรือบุตรของตนเอง ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฯ |
● ยกเลิก |
|
3. ค่าใช้จ่ายจากการรักษาพยาบาล |
||
● กรณีที่ลูกจ้าง หรือคู่สมรสหรือบุตรของลูกจ้าง เป็นผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล หากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตราย กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายจากการรักษาพยาบาลสำหรับตนเอง หรือคู่สมรสหรือบุตรของตนเอง ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฯ |
● กรณีที่ลูกจ้าง หรือคู่สมรสหรือบุตรของลูกจ้าง เป็นผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล หากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายจากการรักษาพยาบาลสำหรับตนเอง หรือคู่สมรสหรือบุตรของตนเอง ตามที่ สธ. กำหนด |
|
4. บทเฉพาะกาลและวันที่มีผลใช้บังคับ |
||
● กำหนดให้ร่างประกาศในเรื่องนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป ● กำหนดให้การเข้ารับการรักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 16 มีนาคม 2565 และการรักษาพยาบาลยังไม่สิ้นสุดลง ให้ได้รับสิทธิตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ลงวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 (ประกาศเดิม) ต่อไปจนสิ้นสุดการรักษาพยาบาล |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 26 มีนาคม 2567
3944