การนำพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ในส่วนที่เกี่ยวกับวินัย และโทษผิดวินัยมาใช้บังคับกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ โดยอนุโลม
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 27 March 2024 03:45
- Hits: 10539
การนำพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ในส่วนที่เกี่ยวกับวินัย และโทษผิดวินัยมาใช้บังคับกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ โดยอนุโลม
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอให้กรมการปกครองในฐานะองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน นำพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ในส่วนที่เกี่ยวกับวินัย และโทษผิดวินัยมาใช้บังคับกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน โดยอนุโลม นับแต่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ โดยไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินการทางวินัย ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง ให้นำพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาใช้บังคับก่อนคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ
ทั้งนี้ เรื่องที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ เป็นการดำเนินการตามมาตรา 139 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ซึ่งบัญญัติให้ในกรณีที่กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการประเภทต่างๆ กำหนดให้นำกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้าราชการพลเรือนสามัญมาใช้บังคับหรือใช้บังคับโดยอนุโลม ให้ยังคงนำพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมมาใช้บังคับหรือใช้บังคับโดยอนุโลมต่อไป การให้นำพระราชบัญญัตินี้ไปใช้บังคับกับข้าราชการประเภทดังกล่าวทั้งหมดหรือบางส่วน ให้กระทำได้โดยมติขององค์กรกลางบริหารงานบุคคลหรือองค์กรที่ทำหน้าที่องค์กรกลางบริหารงานบุคคลของข้าราชการประเภทนั้นๆ โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ซึ่งปัจจุบันในส่วนที่เกี่ยวกับวินัยและโทษผิดวินัยของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ยังคงนำพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมมาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ได้มีการปรับปรุงในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยและโทษผิดวินัยไว้แตกต่างจากพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 โดยเฉพาะกรณีการดำเนินการทางวินัยผู้ซึ่งออกจากราชการ โดยมาตรา 106 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ต้องมีการกล่าวหาไว้ก่อนเท่านั้นและไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการดำเนินการทางวินัยภายหลังจากพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว แต่มาตรา 100 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 สามารถกล่าวหาภายหลังออกจากตำแหน่งได้ แต่ต้องสั่งลงโทษภายใน 3 ปี นับแต่วันที่ผู้นั้นออกจากราชการ ทั้ง 2 กรณี ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการทางวินัยกรณีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เป็นมาตรฐานเดียวกับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทต่างๆ กรมการปกครองซึ่งทำหน้าที่องค์กรกลางบริหารงานบุคคลของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน จึงเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบให้นำพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ในส่วนที่เกี่ยวกับวินัยและโทษผิดวินัย [หมวด 6 วินัยและการรักษาวินัย มาตรา 80 ถึงมาตรา 89 หมวด 7 การดำเนินการทางวินัย มาตรา 90 ถึงมาตรา 106 และหมวด 8 การออกจากราชการ เฉพาะมาตรา 107 (5)] มาใช้บังคับกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน โดยอนุโลม นับแต่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ โดยไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินการทางวินัยที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงให้นำพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาใช้บังคับก่อนคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นขอบ
สาระสำคัญของเรื่อง
กำหนดให้กรมการปกครองในฐานะองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน นำพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ในส่วนที่เกี่ยวกับวินัยและโทษผิดวินัย [หมวด 6 วินัยและการรักษาวินัย มาตรา 80 ถึงมาตรา 89 หมวด 7 การดำเนินการทางวินัย มาตรา 90 ถึงมาตรา 106 และหมวด 8 การออกจากราชการ เฉพาะมาตรา 107 (5)] มาใช้บังคับกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน โดยอนุโลม นับแต่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ โดยไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินการทางวินัยที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง ให้นำพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาใช้บังคับก่อนคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ (กรณีที่พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 กำหนดเกี่ยวกับเรื่องการดำเนินการทางวินัยไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องนำพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาใช้บังคับโดยอนุโลม เช่น การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ ซึ่งเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้ที่มีอำนาจสั่งลงโทษกรณีพบว่ามีการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0310.2/6212 ลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2555)
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 26 มีนาคม 2567
31001