แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (Thailand’s National Adaptation Plan : NAP)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Saturday, 06 April 2024 17:59
- Hits: 8683
แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (Thailand’s National Adaptation Plan : NAP)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (Thailand’s National Adaptation Plan : NAP) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขแผน NAP ที่มิใช่สาระสำคัญขอให้ ทส. โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมพิจารณาดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก รวมทั้งให้ ทส. โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมจัดส่งแผน NAP ต่อสำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (สำนักเลขาธิการฯ) ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ให้สัตยาบันต่อความร่วมมือระหว่างประเทศเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้แก่ กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ1 (กรอบอนุสัญญาฯ) (ให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2537) พิธีสารเกียวโต2 (ให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2545) และความตกลงปารีส3 (ให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2559) ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวได้กำหนดพันธกรณีที่ภาคีจะต้องปฏิบัติตาม โดยในส่วนของความตกลงปารีสได้กำหนดให้แต่ละภาคีต้องดำเนินการต่างๆ เช่น การจัดให้มีการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions : NDCs)4 การจัดทำและสื่อสารยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ (Long-term Low Greenhouse Gas Emission Development Strategies : LT-LEDS)5 (ยุทธศาสตร์ระยะยาวฯ) เป็นต้น (ซึ่งที่ผ่านมา ทส. ได้ดำเนินการจัดทำ NDCs และยุทธศาสตร์ระยะยาวฯ ดังกล่าวแล้ว)
2. นอกจากนี้ ข้อ 7.9 ของความตกลงปารีส กำหนดว่าแต่ละภาคีต้องจัดทำแผน NAP และนำไปปฏิบัติ รวมถึงการจัดทำและเสริมสร้างแผน นโยบายหรือการมีส่วนร่วมที่เกี่ยวข้องตามความเหมาะสม โดยในปัจจุบันมีประเทศที่จัดส่งแผน NAP ต่อสำนักเลขาธิการฯ แล้วจำนวน 51 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Counties : LDCs) และประเทศกำลังพัฒนา (Developing Countries) สำหรับประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่จัดส่งแผน NAP แล้วมี จำนวน 2 ประเทศ ได้แก่ ราชอาณาจักรกัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์ - เลสเต.,ทั้งนี้ แผน NAP จะช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถดำเนินการตามเป้าหมาย NDCs และยุทธศาสตร์ระยะยาวฯ
3. แผน NAP (ข้อเสนอของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในครั้งนี้) เป็นแนวทางการดำเนินงานของประเทศเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ระบุ NDCs ในส่วนของมาตรการการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมุ่งเน้นการกำหนดแนวทางการดำเนินงานเพื่อรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การรับมือกับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ การพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติ การพัฒนาระบบประกันสุขภาพที่ครอบคลุมความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การกำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติของแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น ทั้งนี้แผนดังกล่าวสอดคล้องกับแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาส พ.ศ. 2558 – 2593 [มติคณะรัฐมนตรี (14 กรกฎาคม 2558)]
4. ทส. แจ้งว่า แผน NAP จะเป็นโอกาสให้ประเทศไทยเข้าถึงการสนับสนุนทางการเงิน (เช่น กองทุนภูมิอากาศสีเขียว กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก กองทุนเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น) การพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี และเสริมสร้างขีดความสามารถในการดำเนินงานด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ และเป็นหนึ่งในกระบวนการสำคัญที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกตามกรอบอนุสัญญาฯ และความตกลงปารีส ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ [รองนายกรัฐมนตรี (พลตำรวจเอก พัชรวาทฯ) เป็นประธาน] ในการประชุมครั้งที่ 4/2566 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 มีมติเห็นขอบในหลักการต่อแผน NAP แล้ว และมอบหมาย ทส. (กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม) นำเสนอแผน NAP ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนนำส่งสำนักเลขาธิการฯ ต่อไป
_______________________________
1กรอบอนุสัญญาฯ ประกอบด้วยประเทศสมาชิก 198 ประเทศ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาความเข้มข้นของปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย และมีพันธกรณีให้ประเทศสมาชิกปฏิบัติตาม เช่น การจัดทำรายงานแห่งชาติ การจัดทำบัญชีรายการปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกการส่งเสริมความร่วมมือในการวิจัยและการแลกเปลี่ยนข้อมูล เป็นต้น
2 พิธีสารเกียวโต เป็นพิธีสารภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดพันธกรณีเพิ่มเติมแก่ประเทศที่พัฒนาแล้ว เนื่องจากเป็นประเทศที่มีส่วนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศสูงกว่าประเทศอื่นๆ
3ความตกลงปารีส เป็นความตกลงภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดความร่วมมือในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ ได้แก่ (1) การควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงเกินกว่า 1.5 - 2 องศาเซลเซียส (2) การเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ (3) การทำให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนสำหรับแนวทางตาม (1) และ (2)
4การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDCs) เป็นการดำเนินการภายใต้ความตกลงปารีส โดยเป็นการระบุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศภาคีในระยะสั้น และการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว
5ยุทธศาสตร์ระยะยาวฯ (LT-LEDS) เป็นการดำเนินการภายใต้ความตกลงปารีส โดยมีสาระสำคัญเป็นกำหนดเป้าหมายในระยะยาว และนโยบายสำหรับการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกและการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 2 เมษายน 2567
4074