ขอความเห็นชอบกู้ยืมเงินเพื่อสำรองเผื่อสภาพคล่องขององค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Saturday, 06 April 2024 18:27
- Hits: 8419
ขอความเห็นชอบกู้ยืมเงินเพื่อสำรองเผื่อสภาพคล่องขององค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการกู้ยืมเงินเบิกเกินบัญชีเพื่อสำรองเผื่อสภาพคล่องทางการเงิน (การกู้ยืมเงินเบิกเกินบัญชีฯ) ขององค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) โดยให้กระทรวงการคลัง (กค.) ค้ำประกัน จำนวน 250 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2567 - 27 เมษายน 2570 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ
สาระสำคัญ
1. เดิมคณะรัฐมนตรีมีมติ (28 กุมภาพันธ์ 2566) เห็นชอบการกู้ยืมเงินเบิกเกินบัญชีฯ ของ อ.ส.ค. โดยให้ กค. ค้ำประกันเงินกู้เบิกเกินบัญชี จำนวน 250 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2566 อายุสัญญา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2566 - 27 เมษายน 25671
2. อ.ส.ค. ได้ลงนามสัญญาเงินกู้เบิกเกินบัญชีกับธนาคารออมสิน เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2566 โดยมีการเบิกเงินเกินบัญชี วงเงิน 250 ล้านบาท เพื่อใช้หมุนเวียนในการจ่ายค่าน้ำนมดิบให้แก่เกษตรกรในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม 2566 - กุมภาพันธ์ 2567 ดังนี้
เดือน |
จำนวน (ล้านบาท) |
มิถุนายน 2566 |
50 |
กรกฎาคม 2566 |
51 |
สิงหาคม 2566 |
50 |
กันยายน 2566 |
75 |
ตุลาคม 2566 |
40 |
พฤศจิกายน 2566 |
50 |
ธันวาคม 2566 |
120 |
มกราคม 2567 |
100 |
กุมภาพันธ์ 2567 |
135 |
รวม |
671 |
โดย ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 อ.ส.ค. ได้ใช้วงเงินกู้เบิกเกินบัญชีเพื่อหมุนเวียนในการจ่ายค่าน้ำนมดิบให้แก่เกษตรกร2 รวมทั้งสิ้นจำนวน 671 ล้านบาท และได้ชำระคืนแล้ว จำนวน 611 ล้านบาท ดังนั้น คงเหลือวงเงินที่ยังไม่ได้ชำระคืน จำนวน 60 ล้านบาท และคงเหลือวงเงินที่สามารถนำมาใช้หมุนเวียนได้จนถึงวันที่ 27 เมษายน 2567 จำนวน 190 ล้านบาท ตามที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี
3. เนื่องจากในเดือนตุลาคม 2566 ได้มีการประกาศปรับขึ้นราคาน้ำนมดิบให้เกษตรกร แต่ราคาผลิตภัณฑ์นมโรงเรียนยังคงเดิม จึงทำให้ อ.ส.ค. รับภาระผลขาดทุนจากการจำหน่ายนมโรงเรียนและการปรับราคาผลิตภัณฑ์นมพาณิชย์ ซึ่งส่งผลกระทบให้การจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมไม่ได้ตามเป้าหมายและทำให้เงินสำรองสำหรับค่าน้ำนมดิบให้กับเกษตรกรในแต่ละงวดไม่เพียงพอ อ.ส.ค. จึงต้องมีเงินสำรองเผื่อสภาพคล่องต่อเนื่องออกไปอีกจากที่กำหนดเวลาที่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 27 เมษายน 2567 ดังนั้น เพื่อให้ อ.ส.ค. มีแหล่งเงินเพียงพอรองรับการบริหารงานได้อย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดชะงักในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งที่ อ.ส.ค. มีเงินสดไม่พอต่อค่าใช้จ่ายที่ต้องชำระตามกำหนด และเพื่อลดความเสียงจากการขาดสภาพคล่องทางการเงินในระยะสั้น กษ. (อ.ส.ค.) จึงจำเป็นต้องขอกู้ยืมเงินเบิกเกิน บัญชีฯ ในวงเงิน 250 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567 - 2570 (ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2567 - 27 เมษายน 2570) โดยขอให้ กค. ค้ำประกันประกันการกู้เงินดังกล่าวเนื่องจาก อ.ส.ค. ไม่มีหลักทรัพย์ที่จะนำไปค้ำประกัน เพราะที่ดินเป็นที่ราชพัสดุและเครื่องจักรอุปกรณ์ส่วนใหญ่เป็นการเช่า ซึ่งคณะกรรมการ อ.ส.ค. ได้มีมติเห็นชอบการขอกู้ยืมเงินเบิกเกินบัญชีดังกล่าวแล้ว ในการประชุมครั้งที่ 13/2566 เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2566
______________________
1 การดำเนินงานในปีงบประมาณ 2566 อ.ส.ค. ประสบกับภาวะต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เนื่องจากราคาวัตถุดิบหลักและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการผลิตปรับราคาสูงขึ้น เช่น น้ำนมดิบ ค่าขนส่งน้ำนมดิบ ค่าวัสดุปรุงรส ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่ากระแสไฟฟ้าและอื่นๆ ส่งผลกระทบให้ผลประกอบการของ อ.ส.ค. ติดลบในปีงบประมาณ 2566 (เดือนตุลาคม 2565 - กันยายน 2566) จำนวน 274 ล้านบาท
2 กษ. แจ้งว่า คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นมได้ออกประกาศคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม เรื่อง ราคากลางรับซื้อน้ำนมโค ณ หน้าโรงงานแปรรูปและผลิตภัณฑ์นม พ.ศ. 2567 ลงวันที่ 8 มกราคม 2567 โดยปรับราคากลางรับซื้อน้ำนมโค ณ หน้าโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม จากเดิมกิโลกรัมละ 20.50 บาท เป็นกิโลกรัมละ 22.75 บาท และได้ออกประกาศคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม เรื่อง ราคากลางรับซื้อน้ำนมโค ณ ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ พ.ศ. 2567 ลงวันที่ 8 มกราคม 2567 โดยปรับราคากลางรับซื้อน้ำนมโค ณ ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ จากเดิมกิโลกรัมละ 19 บาท เป็นกิโลกรัมละ 21.25 บาท ตามมติคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นมในคราวประชุมครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2567
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 2 เมษายน 2567
4076