มาตรการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Saturday, 06 April 2024 18:41
- Hits: 8289
มาตรการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณใช้จ่ายงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับสถานการณ์ และสามารถดำเนินการก่อหนี้ผูกพันได้ทันทีเมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ประกาศใช้บังคับ ตามที่สำนักงบประมาณ (สงป.) เสนอ
สาระสำคัญ
1. โดยที่พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ประกาศใช้บังคับไม่ทันวันที่ 1 ตุลาคม 2566 และ สงป. โดยการอนุมัติของนายกรัฐมนตรีได้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน (คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 รับทราบหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังกล่าว) เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณจ่ายเงินหรือก่อหนี้ผูกพันตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังกล่าวได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป ซึ่งคาดว่าร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จะผ่านการพิจารณาของรัฐสภาภายในเดือนมีนาคม 2567 โดยผลการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน ในช่วงเดือนตุลาคม 2566 - กุมภาพันธ์ 2567 มีการเบิกจ่ายงบประมาณ จำนวน 1,302,250.58 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และ พ.ศ. 2566 ที่มีผลการเบิกจ่ายงบประมาณ จำนวน 1,317,579.58 ล้านบาท (มากกว่า 15,329 ล้านบาท) และจำนวน 1,443,701.73 ล้านบาท (มากกว่า 141,451.15 ล้านบาท) ตามลำดับ1
2. สงป. จึงเห็นควรกำหนดมาตรการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณของทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐสามารถเป็นกลไกสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมาะสมกับสถานการณ์ และเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายรัฐบาล และแผนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
2.1 กำหนดเป้าหมายการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในภาพรวมของประเทศ เพื่อเป็นแนวทางให้หน่วยรับงบประมาณจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (แผนการใช้จ่ายงบประมาณ ปี 2567) ให้สอดคล้องกับเป้าหมายในภาพรวมของประเทศ ดังนี้
แผนการใช้จ่ายงบประมาณ ปี 2567 |
ไตรมาสที่ 1 |
ไตรมาสที่ 2 |
ไตรมาสที่ 3 |
ไตรมาสที่ 4 |
ภาพรวม |
ร้อยละ 28 |
ร้อยละ 47 |
ร้อยละ 82 |
ร้อยละ 100 |
รายจ่ายประจำ |
ร้อยละ 33 |
ร้อยละ 53 |
ร้อยละ 82 |
ร้อยละ 100 |
รายจ่ายลงทุน |
ร้อยละ 11 |
ร้อยละ 24 |
ร้อยละ 80 |
ร้อยละ 100 |
ทั้งนี้ เมื่อรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 แล้ว สงป. จะแจ้งแนวทางการจัดทำแผนการใช้จ่ายงบประมาณปี 2567 และการอนุมัติเงินจัดสรรงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ. 2562 เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณถือปฏิบัติต่อไป
2.2 ให้หน่วยรับงบประมาณดำเนินการ ดังนี้
2.2.1 งบประมาณรายจ่ายที่ต้องดำเนินการหรือเบิกจ่ายโดยสำนักงานในส่วนภูมิภาคให้หน่วยรับงบประมาณเร่งดำเนินการส่งเงินจัดสรรต่อไปยังสำนักงานในส่วนภูมิภาคภายในห้าวันนับแต่วันที่ได้รับอนุมัติเงินจัดสรร
2.2.2 รายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณที่เป็นรายจ่ายลงทุนรายการใหม่ ให้หน่วยรับงบประมาณจัดส่งรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะแบบรูปรายการสิ่งก่อสร้าง ราคากลาง และรายละเอียดประกอบที่เกี่ยวข้องให้ สงป. พิจารณาความเหมาะสมของราคาควบคู่ไปกับการดำเนินกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง และเมื่อได้ผลการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว หากไม่เกินวงเงินที่ สงป. ให้ความเห็นชอบ ให้แจ้ง สงป. ทราบและดำเนินการทำสัญญาก่อหนี้ผูกพันต่อไปได้
2.3 ให้หน่วยรับงบประมาณพิจารณากำหนดระยะเวลาการส่งมอบงานให้รวดเร็วขึ้น เพื่อให้ทันการเบิกจ่ายภายในเดือนกันยายน 2567 โดยเฉพาะรายการปีเดียวสำหรับรายการผูกพันใหม่ ควรดำเนินการก่อหนี้ผูกพันให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2567
ทั้งนี้ หากคาดว่ามีรายการงบประมาณที่จะไม่สามารถก่อหนี้ได้ทันภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ให้หน่วยรับงบประมาณแจ้ง สงป. เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขเป็นรายกรณีในโอกาสแรกเพื่อให้การบริหารงบประมาณมีประสิทธิภาพสูงสุด และป้องกันมิให้เงินพับตกไปเมื่อสิ้นปีงบประมาณ
___________________
1 ข้อมูล ณ วันที่ 1 มีนาคม 2567
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 2 เมษายน 2567
4078