การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประเภทกิจการโรงแรม
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Saturday, 06 April 2024 19:12
- Hits: 8485
การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประเภทกิจการโรงแรม
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำประเภทกิจการโรงแรม ลงวันที่ 27 มีนาคม 2567 และประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2567 เป็นต้นไป
สาระสำคัญ
รง. รายงานว่า
1. เดิมคณะรัฐมนตรีมีมติ (26 ธันวาคม 2566) รับทราบประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 12) ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2566 เพื่อลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป โดยคณะกรรมการค่าจ้างได้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2567 จำแนกเป็น 17 อัตรา อัตราวันละ 330-370 บาท ในกรุงเทพมหานครและ 76 จังหวัด
2. ต่อมาคณะกรรมการค่าจ้าง1 มีแนวคิดเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประเภทกิจการโรงแรม2 เพื่อส่งเสริมการจ้างงานและคุ้มครองแรงงานภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว (กิจการการให้บริการโรงแรมและที่พัก)3 โดยเริ่มนำร่องในพื้นที่ที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวสูง 10 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดกระบี่ ชลบุรี เชียงใหม่ ประจวบคีรีขันธ์ พังงา ภูเก็ต ระยอง สงขลา และสุราษฎร์ธานี โดยในการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประเภทกิจการโรงแรม คณะกรรมการค่าจ้างได้ศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ประกอบกับข้อเท็จจริงอื่น โดยคำนึงถึงดัชนีค่าครองชีพอัตราเงินฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้าและบริการ ความสามารถของธุรกิจผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม [ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2560]
3. คณะกรรมการค่าจ้างได้กระจายอำนาจการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไปยังภูมิภาค โดยมอบหมายให้คณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกรุงเทพมหานครและคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด รวม 10 คณะ ซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคีเช่นเดียวกับคณะกรรมการค่าจ้าง ทำหน้าที่พิจารณาเสนออัตราค่าจ้างขั้นต่ำประเภทกิจการโรงแรมให้สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละพื้นที่ รวมทั้ง สำรวจค่าใช้จ่ายของลูกจ้างและต้นทุนของสถานประกอบกิจการในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว (การบริการโรงแรมและที่พัก) เพื่อศึกษาข้อมูลข้อเท็จจริงของสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบันและนำมาใช้ประกอบการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประเภทกิจการโรงแรมให้สอดคล้องกับกรอบแนวทางการประชุมพิจารณาเสนอแนะอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประเภทกิจการโรงแรมเสนอต่อคณะกรรมการค่าจ้าง
4. คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 (คณะกรรมการชุดปัจจุบัน) ในการประชุม ครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 มีมติเห็นชอบให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประเภทกิจการโรงแรม เพื่อใช้สำหรับนายจ้างและลูกจ้างที่ทำงานในสถานประกอบกิจการประเภทกิจการโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไป และมีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป ในพื้นที่ 10 จังหวัดนำร่อง ในเขตพื้นที่ที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวสูง โดยให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มเป็นอัตราวันละ 400 บาท (ปรับเพิ่มอัตราวันละ 30-55 บาท แล้วแต่เขตพื้นที่) และให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2567 ดังนี้
พื้นที่ 10 จังหวัดนำร่อง |
อัตราเดิม (บาทต่อวัน) (มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566) |
กรุงเทพมหานคร (เฉพาะเขตปทุมวัน วัฒนา) |
363 (เพิ่มขึ้น 37 บาท) |
กระบี่ (เฉพาะเขตองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง) |
347 (เพิ่มขึ้น 53 บาท) |
ชลบุรี (เฉพาะเขตเมืองพัทยา) |
361 (เพิ่มขึ้น 39 บาท) |
เชียงใหม่ (เฉพาะเขตเทศบาลนครเชียงใหม่) |
350 (เพิ่มขึ้น 50 บาท) |
ประจวบคีรีขันธ์ (เฉพาะเขตเทศบาลหัวหิน) |
345 (เพิ่มขึ้น 55 บาท) |
พังงา (เฉพาะเขตเทศบาลตำบลคึกคัก) |
345 (เพิ่มขึ้น 55 บาท) |
ภูเก็ต |
370 (เพิ่มขึ้น 30 บาท) |
ระยอง (เฉพาะเขตตำบลเพ) |
361 (เพิ่มขึ้น 39 บาท) |
สงขลา (เฉพาะเขตเทศบาลนครหาดใหญ่) |
345 (เพิ่มขึ้น 55 บาท) |
สุราษฎร์ธานี (เฉพาะเขตเทศบาลนครเกาะสมุย) |
345 (เพิ่มขึ้น 55 บาท) |
ทั้งนี้ การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประเภทกิจการโรงแรมมุ่งที่จะคุ้มครองแรงงานทั่วไปแรกเข้าทำงานที่เข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่ในปี 2567 รวมทั้งแรงงานที่ทำงานในสถานประกอบกิจการประเภทกิจการโรงแรมอยู่แล้ว ให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามสภาพเศรษฐกิจในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อรองรับการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวและภาคการผลิตที่เกี่ยวเนื่องในหลายสาขา นำไปสู่การสร้างงานและสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่มากขึ้น
_____________
1เป็นองค์กรไตรภาคีตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบด้วย ตัวแทนฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง และหน่วยงานภาครัฐ ฝ่ายละ 5 คนเท่ากัน
2คณะกรรมการค่าจ้างกำหนดให้กิจการโรงแรม หมายถึง โรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรมซึ่งประกอบกิจการ สถานที่พักที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในทางธุรกิจเพื่อให้บริการที่พักชั่วคราว สำหรับคนเดินทางหรือบุคคลอื่นใดโดยมีค่าตอบแทนและได้รับมาตรฐานที่พักเพื่อการท่องเที่ยวประเภทโรงแรมระดับการให้บริการ 4 ดาวขึ้นไป ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและมีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป
2โดยที่มาตรา 87 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงาน พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม บัญญัติให้การพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจะกำหนดให้ใช้เฉพาะกิจการ งานหรือสาขาอาชีพประเภทใด เพียงใด ในท้องถิ่นใดก็ได้
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 2 เมษายน 2567
4083