ผลการดำเนินงานของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยในปีงบประมาณ 2566 นโยบายของคณะกรรมการ โครงการและแผนงานของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยในอนาคต
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Saturday, 06 April 2024 19:24
- Hits: 8629
ผลการดำเนินงานของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยในปีงบประมาณ 2566 นโยบายของคณะกรรมการ โครงการและแผนงานของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยในอนาคต
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการดำเนินงานของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 นโยบายของคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (คณะกรรมการ รฟม.) โครงการและแผนงานของ รฟม. ในอนาคต ตามมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ
สาระสำคัญ
1. รฟม. ได้รายงานผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (ณ วันที่ 30 กันยายน 2566) โดยมีตัวอย่างการดำเนินการ ดังนี้
1.1 ด้านพัฒนาบริการและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนทุกกลุ่มเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตในการเดินทาง
1.1.1 อัตราการเติบโตของผู้โดยสารในแต่ละเส้นทางที่เพิ่มขึ้น
(1) สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) มีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยสะสม 375,658 คน-เที่ยว/วัน เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ร้อยละ 65.62 (เป้าหมายต้องเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2.5 จากปีก่อน)
(2) สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) มีจำนวนผู้โดยสาร เฉลี่ยสะสม 56,405 คน-เที่ยว/วัน เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ร้อยละ 45.37 (เป้าหมายต้องเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2.5 จากปีก่อน)
นอกจากนี้ รฟม. มีแผนพัฒนาบริการด้านต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการและความพึงพอใจของผู้ใช้บริการและเพื่อช่วยเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า ทั้งนี้ผลสำรวจความพึงพอใจของผู้ใช้บริการต่อการให้บริการรถไฟฟ้ามหานครและบริการเสริมอื่นๆ สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ร้อยละ 89.52 (เป้าหมายร้อยละ 87) และสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ร้อยละ 89.62 (เป้าหมายร้อยละ 88)
1.1.2 การรักษาความปลอดภัยและกู้ภัย มีการเกิดอาชญากรรมในรถไฟฟ้ามหานคร ดังนี้
(1) สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) เกิดเหตุอาชญากรรม จำนวน 15 ครั้ง1 (เป้าหมายไม่เกิน 16 ครั้ง) โดยมีอัตราส่วนแก้ไขปัญหาอาชญากรรมร้อยละ 100 (เป้าหมายต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90)
(2) สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) เกิดเหตุอาชญากรรม จำนวน 5 ครั้ง2 (เป้าหมายไม่เกิน 6 ครั้ง โดยมีอัตราส่วนการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมร้อยละ 100 (เป้าหมายต้องไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 90)
โดยได้ดำเนินโครงการรักษาความปลอดภัยและกู้ภัย สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) มีความก้าวหน้า ร้อยละ 100 ตามแผน และโครงการรักษาความปลอดภัยและกู้ภัยฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) มีความก้าวหน้า ร้อยละ 100 ตามแผน (มีตัวอย่างโครงการ เช่น การฝึกอบรมพนักงานรักษาความปลอดภัยด้วยสถานการณ์จำลองเพื่อเตรียมการรับมือกับภัยพิบัติหรือเหตุอาชญากรรมต่างๆ และการตรวจสอบระบบเตือนภัย เช่น ระบบเตือนอัคคีภัย/วัตถุระเบิด)
1.1.3 ภาพรวมการเบิกจ่ายที่เกิดขึ้นจริงในช่วงปี ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 โดยสามารถเบิกจ่ายงบลงทุนได้ทั้งหมดจำนวน 17,889.71 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 100 ของวงเงินเบิกจ่ายที่ได้รับอนุมัติ
1.2 ด้านสร้างสรรค์ระบบโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่มีผลิตภาพสูงและล้ำสมัย
1.2.1 โครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง จำนวน 4 โครงการ ได้แก่
(1) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง มีความก้าวหน้าร้อยละ 100 โดยให้ผู้รับสัมปทานเริ่มให้บริการเดินรถไฟฟ้าตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2566
(2) โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี มีความก้าวหน้าร้อยละ 98.97 ทั้งนี้ จะเปิดทดลองเดินรถในเดือนพฤศจิกายน 2566 และคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการตลอดเส้นทางได้ภายในดือนธันวาคม 2566 (ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว)
(3) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีความก้าวหน้ารวมร้อยละ 84.51 โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนตุลาคม 2569
(4) โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) มีความก้าวหน้ารวมร้อยละ 43.86 โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนมิถุนายน 2571
ทั้งนี้ ประชาชนร้อยละ 86.06 มีความพึงพอใจต่อมาตรการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและจราจรจากการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายทางต่างๆ (ค่าเป้าหมายร้อยละ 90)
1.2.2 โครงการที่อยู่ระหว่างการประกวดราคา จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย มีความก้าวหน้าร้อยละ 32.14 โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนมีนาคม 2572
1.2.3 โครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ จำนวน 5 โครงการ
(1) โครงการรถไฟฟ้าจังหวัดภูเก็ต มีความก้าวหน้าร้อยละ 24 โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนธันวาคม 2574
(2) โครงการรถไฟฟ้าจังหวัดเชียงใหม่ มีความก้าวหน้าร้อยละ 13.25 โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนพฤษภาคม 2573
(3) โครงการรถไฟฟ้าจังหวัดนครราชสีมา มีความก้าวหน้าร้อยละ 13.25 โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนพฤษภาคม 2573
(4) โครงการรถไฟฟ้าจังหวัดพิษณุโลก มีความก้าวหน้าร้อยละ 3.37 โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนมกราคม 2575
(5) โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย - ลำสาลี (บึงกุ่ม) มีความก้าวหน้ารวมร้อยละ 13.53 โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนตุลาคม 2571
2. นโยบายของคณะกรรมการฯ รฟม. มีตัวอย่างนโยบาย เช่น
2.1 ให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนด้วยความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ตรงเวลา ราคาสมเหตุสมผล และนำเทคโนโลยีมาพัฒนาปรับปรุงการให้บริการ รวมถึงพัฒนาและนำระบบตั๋วร่วมและอัตราค่าโดยสารร่วมมาใช้ โดยคำนึงถึงความพึงพอใจของผู้ใช้บริการทุกกลุ่ม
2.2 ให้เร่งรัดดำเนินโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายต่างๆ ตามที่ได้รับมอบหมายให้แล้วเสร็จ เปิดบริการได้ตามแผนงาน และในการศึกษาระบบรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายและในเมืองหลักอื่น ให้คำนึงถึงความคุ้มค่าในการลงทุน ภาระงบประมาณ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และความพึงพอใจของประชาชนในพื้นที่เป็นหลักด้วย
2.3 ให้ศึกษาและพัฒนาระบบเชื่อมต่อ (Feeders) และอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการเชื่อมการเดินทางจากระบบรถไฟฟ้าฯ ไปยังจุดหมายต่างๆ รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวโดยรอบ โดยอาจผนวกการดำเนินการเข้าในแผนลงทุนของ รฟม.
2.4 ให้บริหารสินทรัพย์ ดำเนินธุรกิจต่อเนื่อง ให้บริการเสริมต่างๆ ศึกษาโอกาสและริเริ่มพัฒนาธุรกิจใหม่ เพื่อเพิ่มรายได้และลดภาระการสนับสนุนจากภาครัฐ รวมทั้งแก้ไขข้อปัญหาการใช้พื้นที่เชิงพาณิชย์
2.5 ให้ความสำคัญต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินงานและนำข้อคิดเห็นของประชาชนมาพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินงานขององค์กรให้ดีขึ้นและเติบโตอย่างยั่งยืน
3. โครงการและแผนงานของ รฟม. ในอนาคต โดยคณะกรรมการ รฟม. ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2566 ได้มีมติเห็นชอบผลการทบทวน/ปรับปรุงแผนวิสาหกิจ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 - 2570 ฉบับปรับปรุงปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และแผนปฏิบัติการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และแผนระดับรอง รวมทั้งนโยบายคณะกรรมการ รฟม. ซึ่งในปีงบประมาณ 2567 รฟม. ได้มีแผนดำเนินโครงการรถไฟฟ้าต่อเนื่องจำนวน 9 เส้นทาง [ได้แก่ สายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช - เมืองทองธานี, สายสีส้มตะวันออก ช่วงสถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - มีนบุรี, สายสีม่วงใต้ ช่วงสถานีเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ, สายสีส้มตะวันตก ช่วงสถานีบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย, สายสีน้ำตาล ช่วงสถานีแคราย - ลำสาลี, โครงการรถไฟฟ้าจังหวัดเชียงใหม่, โครงการรถไฟฟ้าจังหวัดนครราชสีมา, โครงการรถไฟฟ้าจังหวัดภูเก็ต และโครงการรถไฟฟ้าจังหวัดพิษณุโลก)] และดำเนินโครงการอื่นๆ อีกจำนวน 28 โครงการ เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ขององค์กรในด้านการให้บริการ ด้านการเงินและด้านการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน โดยมีตัวอย่างโครงการที่สำคัญ ดังนี้
3.1 โครงการ MRTA TAXI EV by MRTA Parking Application (sPark EV Terminal App) เป็นโครงการพัฒนาระบบ Feeder เพื่อเพิ่มจำนวนการใช้บริการรถไฟฟ้าและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดำเนินการในปีงบประมาณ 2566 - 2568 โดยในปีงบประมาณ 2566 มีผลการดำเนินงานร้อยละ 100 ตามแผน และในปีงบประมาณ 2567 จะจัดหาผู้สนใจเข้าร่วมเป็นพันธมิตรในการให้บริการ TAXI EV เพื่อเปิดให้บริการในปีงบประมาณ 2568
3.2 โครงการความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกในการวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ดำเนินการปีงบประมาณ 2566 - 2570 โดยในปีงบประมาณ 2566 มีผลการดำเนินงานร้อยละ 100 ตามแผน และในปีงบประมาณ 2567 ที่ปรึกษาจัดส่งรายงานวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ฉบับสมบูรณ์ และลงนามในความร่วมมือกับสถาบันทางวิชาการรวมทั้งองค์กรด้านรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนหรือองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง3
3.3 โครงการพัฒนานวัตกร รฟม.4 (MRTA Academy and MRTA Innovator) ดำเนินการปีงบประมาณ 2566 - 2569 โดยในปีงบประมาณ 2566 มีผลการดำเนินงานร้อยละ 100 ตามแผน และ ในปีงบประมาณ 2567 จะดำเนินการคัดเลือกกลุ่มนวัตกรของ รฟม. พร้อมทั้งจัดเก็บองค์ความรู้ และติดตามประเมินผลการดำเนินงานกิจกรรม
ทั้งนี้ คณะกรรมการ รฟม. ได้เห็นชอบรายงานผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2566 นโยบายของคณะกรรมการฯ รฟม. โครงการและแผนงานในอนาคตแล้ว เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566
4. ความเห็นของ คค. การดำเนินการของ รฟม. ในปี 2566 เป็นอีกปีที่ รฟม. สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกมิติ โดยสามารถผลักดันให้การเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเมืองฟื้นตัวในลักษณะ V-Shape ที่มีปริมาณผู้โดยสารโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) และสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) กลับมาสูงกว่าช่วงการแพร่ระบาดของโควิด - 19 แล้ว นอกจากนี้ รฟม. ยังผลักดันให้มีรายได้เชิงพาณิชย์สูงกว่าเป้าหมาย เบิกจ่ายงบประมาณได้ร้อยละ 100 และได้รับการสำรวจความพึงพอใจจากการก่อสร้างในระดับสูง ดังนั้น รฟม. จึงเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศในช่วงการฟื้นฟูจากวิกฤตการณ์โควิด - 19 ส่วนข้อจำกัดสำคัญในปี 2566 ของ รฟม. คือ ปัจจัยข้อกฎหมายในส่วนของการดำเนินโครงการรถฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (ฝั่งตะวันตก) ที่ต้องรอผลการพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดก่อน จึงจะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไปได้ สำหรับทิศทางการดำเนินการในอนาคต คณะกรรมการ รฟม. ได้กำหนดนโยบายที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและนโยบายของ คค. แล้ว และเพื่อให้การดำเนินการของ รฟม. เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คค. ได้มอบหมายให้ รฟม. พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
4.1 ด้านการให้บริการ เช่น
4.1.1 พัฒนาบริการและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนทุกกลุ่มเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตในการเดินทาง โดยเฉพาะเร่งดำเนินการพัฒนาระบบและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่จะช่วยให้ การเชื่อมต่อการเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้ากับระบบขนส่งมวลชนรูปแบบอื่น เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสะดวกสบาย
4.1.2 เร่งดำเนินการก่อสร้างโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างให้เป็นไปตามแผนงาน โดยให้ความสำคัญกับการบริหารผลกระทบต่อการจราจรในทุกมิติ และให้ควบคุมการก่อสร้างไม่ให้ส่งผลกระทบกับประชาชน ตามมาตรการที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด
4.2 ด้านการเงิน เช่น ให้พิจารณาแนวทางการหารายได้เชิงพาณิชย์เพิ่มเติมตามกรอบของกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดภาระทางงบประมาณของรัฐบาล
4.3 ด้านการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน เช่น ให้ความสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ รวมทั้ง พัฒนาและปรับปรุงระบบแรงจูงใจทั้งในรูปตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงินเพื่อสร้างความเป็นธรรม สร้างขวัญกำลังใจ และความรักและผูกพันต่อองค์กรให้แก่พนักงาน
4.4 ด้านการผลักดันนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดเส้นทาง
4.4.1 ให้รวบรวมสถิติทั้งมิติของปริมาณผู้โดยสารและผลประกอบการส่งให้ กรมการขนส่งทางรางเป็นประจำทุกวัน โดยให้ร่วมกับกรมการขนส่งทางรางในกระบวนการวิเคราะห์ ติดตาม และประเมินผล
4.4.2 บูรณาการร่วมกับกรมการขนส่งทางรางเพื่อกำหนดแนวทางการขยายผลนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดเส้นทาง โดยให้พิจารณาในทุกมิติที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ และเป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ มติคณะรัฐมนตรี และหลักธรรมาภิบาลที่เกี่ยวข้องต่อไป
__________________
1 ข้อมูลจาก รฟม. ในปี 2566 สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) เหตุอาชญากรรมที่เกิดขึ้นเป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ เช่น ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ จำนวน 5 ครั้ง ความผิดฐานอนาจาร จำนวน 9 ครั้ง และความผิดฐานทะเลาะวิวาท จำนวน 1 ครั้ง (รวมเหตุอาชญากรรมทั้งสิ้น จำนวน 15 ครั้ง)
2 ข้อมูลจาก รฟม. ในปี 2566 สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) เหตุอาชญากรรมที่เกิดขึ้นมีเฉพาะความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ เช่น ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ จำนวน 5 ครั้ง
3 มีความร่วมมือกับสถาบันทางวิชาการ เช่น (1) มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ในการทำวิจัยเรื่องแผนประทุษกรรมอาชญากรรมในเขตระบบรถไฟฟ้าของ รฟม. (2) มหาวิทยาลัยมหิดล (คณะวิศวกรรมศาสตร์) ในการพัฒนาองค์ความรู้เรื่องการศึกษาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการเกิดอุบัติเหตุภายในสถานีรถไฟฟ้า
4 รฟม. ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นที่ปรึกษาในโครงการพัฒนานวัตกร รฟม. ซึ่งในปีงบประมาณ 2566 สามารถพัฒนานวัตกรจำนวน 24 คน และสร้างนวัตกรรมจำนวน 5 โครงการ ประกอบด้วย (1) ระบบจองและบริหารจัดการสนามกีฬาของ รฟม. เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ (2) การนำเอาระบบ Artificial Intelligence (Al) มาช่วยในการค้นหาเอกสารและคัดกรองข้อมูล (3) การพัฒนา Application เพื่อนำมาช่วยในการถ่ายภาพและส่งรายงานสำหรับการลงพื้นที่ตรวจหน้างาน (4) การนำระบบ Automation มาใช้ในการปรับปรุงกระบวนการทำงานต่างๆ ให้ง่ายขึ้น โดยเลือกใช้โปรแกรม Power Automate มาสร้างหุ่นยนต์ (Bot) ในการจัดการงานประจำและ (5) ระบบบริหารจัดการเอกสารของโครงการศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้า เพื่อสร้างมาตรฐานกลางในการจัดเก็บข้อมูล ขั้นตอน และรูปแบบการจัดทำเอกสาร
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 2 เมษายน 2567
4085