การนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม ‘สงขลา และชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา’ เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 10 April 2024 11:10
- Hits: 9206
การนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม ‘สงขลา และชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา’ เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเอกสารนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม “สงขลาและชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา” (แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมสงขลาฯ) ภายใต้ชื่อ Songkhla and its Associated Lagoon Settlements (เอกสารนำเสนอฯ) เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก รวมทั้งเห็นชอบให้ประธานกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกลงนามในเอกสารนำเสนอฯ ต่อศูนย์มรดกโลก ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส (ฝรั่งเศส) และมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในฐานะหน่วยประสานงานกลางอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาตินำเสนอเอกสารนำเสนอฯ เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นของศูนย์มรดกโลกต่อศูนย์มรดกโลก ณ กรุงปารีส ฝรั่งเศส ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
(ทั้งนี้ ทส. จะต้องดำเนินการจัดส่งเอกสารนำเสนอฯ ให้ศูนย์มรดกโลก ภายในวันที่ 15 เมษายน 2567 เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลก1 เพื่อให้การรับรองในการประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 - 31 กรกฎาคม 2567 ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย เพื่อให้สามารถจัดส่งเอกสารการนำเสนอเพื่อขอรับการพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกได้ในปี 2568)
สาระสำคัญของเรื่อง
1. อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ2 (อนุสัญญาฯ) กำหนดให้รัฐภาคีสมาชิกที่ต้องการนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมหรือทางธรรมชาติจัดส่งเอกสารนำเสนอแหล่งมรดกดังกล่าวต่อศูนย์มรดกโลกในฐานะสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการมรดกโลกเพื่อบรรจุในบัญชีรายชื่อเบื้องต้นของศูนย์มรดกโลก อย่างน้อย 1 ปี ก่อนการขอรับการพิจารณาขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกเป็นมรดกโลก
2. คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกในการประชุมครั้งที่ 1/2567เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567 [รองนายกรัฐมนตรี (พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ) เป็นประธาน] มีมติเห็นชอบ (ร่าง) เอกสารนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมสงขลาฯ ภายใต้ชื่อ Songkhla and its Associated Lagoon Settlements เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น ของศูนย์มรดกโลก และมอบหมายให้ สผ. นำเสนอเอกสารนำเสนอฯ ต่อคณะรัฐมนตรี
3. เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ ทส. ขอเสนอเอกสารนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมสงขลาฯ เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นของศูนย์มรดกโลก เพื่อขอรับการพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกในปี 2568 ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม จำนวน 4 แหล่ง ดังนี้ (1) เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร (2) นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและเมืองบริวาร (3) แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงและ (4) เมืองโบราณศรีเทพและโบราณสถานสมัยทวารวดีที่เกี่ยวข้องและมีแหล่งที่อยู่ระหว่างกระบวนการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรม จำนวน 2 แหล่ง ดังนี้ (1) อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท และ (2) แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมสงขลาฯ (ข้อเสนอในครั้งนี้)
______________________________
1คณะกรรมการมรดกโลก เป็นองค์กรระหว่างประเทศ โดยมีหน้าที่ เช่น พิจารณาการขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกในแหล่งบัญชีมรดกโลกและตรวจสอบสถานภาพการอนุรักษ์ของแหล่งมรดกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในบัญชีแหล่งมรดกโลก
2ได้รับการรับรองในการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 17 ขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ณ กรุงปารีส่ ฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2515 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในระดับนานาชาติในการปกป้อง คุ้มครอง และป้องกันแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม และมรดกทางธรรมชาติ เพื่อส่งต่อให้กับคนรุ่นต่อไปในอนาคต
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 9 เมษายน 2567
4354