รายงานสถานการณ์น้ำเค็มรุกล้ำและปัญหาคุณภาพน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 24 April 2024 02:08
- Hits: 12646
รายงานสถานการณ์น้ำเค็มรุกล้ำและปัญหาคุณภาพน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกง
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสถานการณ์น้ำเค็มรุกล้ำและปัญหาคุณภาพน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกง ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเสนอ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ดังนี้
สาระสำคัญและข้อเท็จจริง
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้บูรณาการข้อมูลที่เกี่ยวข้องและขอสรุปสถานการณ์น้ำเค็มรุกล้ำและปัญหาคุณภาพน้ำของลุ่มน้ำบางปะกง ดังนี้
1. การจัดตั้งหน่วยบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
ตามคำสั่งคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ที่ 4/2567 ลงวันที่ 13 เมษายน 2567 เพื่อดำเนินการ อำนวยการ บริหารจัดการ รวบรวมบูรณาการ ติดตาม วิเคราะห์แนวโน้ม ควบคุม กำกับ สั่งการ และประสานการปฏิบัติงานกับหน่วยงานดูแลสถานการณ์น้ำในภาวะน้ำท่วม น้ำแล้ง และคุณภาพน้ำในระดับเสี่ยงรุนแรง (ระดับ 1) เพื่อให้สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว
2. ผลการดำเนินงานของหน่วยบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
หน่วยบริหารจัดการน้ำทรัพยากรน้ำได้มีการประชุมจำนวน 2 ครั้ง ประกอบด้วย ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2567 และ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2567 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
(1) กรมชลประทานได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ข้อมูลสถานการณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะผลการดำเนินการแก้ไขจุดทำนบดินชั่วคราวที่เกิดความเสียหายให้มีความมั่นคงแข็งแรงเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อภาคประชาชน
(2) กรมควบคุมมลพิษดำเนินการตรวจวัดคุณภาพน้ำ พบว่าคุณภาพน้ำและค่าความเค็มยังสูงกว่ามาตรฐานและจะมีการตรวจวัดอย่างต่อเนื่องจนกว่าเหตุการณ์จะเข้าสู่สภาวะปกติ
(3) มอบหมายกรมชลประทานดำเนินการตามมาตรา 83 แห่ง พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นการรับผิดทางแพ่งในกรณีที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรน้ำสาธารณะ
(4) กรมชลประทานได้ทำแผนปฏิบัติการการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ โดยได้พิจารณาจัดลำดับความสำคัญของการส่งน้ำในระบบคลองต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาคลองที่ใช้ประโยชน์ในด้านประมงก่อนทั้งนี้ในการแก้ไขปัญหาให้คำนึงถึงคุณภาพน้ำเน่าเสียด้วยนอกเหนือจากการพิจารณาเฉพาะค่าความเค็ม และให้พิจารณาสูบน้ำเค็มออกจากในพื้นที่ให้ได้มากที่สุดก่อนนำน้ำคุณภาพดีเข้าในระบบคลอง เพื่อเป็นการลดการใช้น้ำและใช้น้ำให้คุ้มค่าที่สุด สำหรับปริมาณน้ำที่ต้องใช้ในการผลักดันและเจือจางความเค็ม ต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำน่าน และลุ่มน้ำป่าสัก ในกรณีการเพิ่มการระบายน้ำมาช่วยเหลือลดผลกระทบในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำบางปะกง
(5) สทนช.ดำเนินการจัดตั้งหน่วยบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ โดยตั้งที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์ไชยานุชิต เพื่อเป็นศูนย์ปฏิบัติการร่วมกันแบบบูรณาการ ทั้งนี้ ให้ดำเนินการประเมินผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาและการรับมือในเชิงพื้นที่ภายใน 3 วัน ก่อนการพิจารณายกระดับเป็นกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.)
(6) ให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลสำรวจการปรับปรุงบ่อน้ำบาดาลเดิมในพื้นที่ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการใช้น้ำบ่อบาดาล ในกรณีไม่สามารถใช้น้ำผิวดินได้
(7) ให้กรมประมง มอบหมายสำนักงานประมงจังหวัดฉะเชิงเทราและจังหวัดสมุทรปราการ ดำเนินการปฏิบัติงานเชิงรุก และเชิงป้องกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อสำรวจความเสียหายและแก้ไขปัญหาการใช้น้ำด้านประมงโดยเร่งด่วน
3. การตั้งหน่วยปฏิบัติการจัดการทรัพยากรน้ำชั่วคราวในภาวะวิกฤติ
สทนช.ได้ตั้งหน่วยปฏิบัติการจัดการทรัพยากรน้ำชั่วคราวในภาวะวิกฤติโดยมีที่ตั้ง ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์ไชยานุชิต เพื่อเป็นศูนย์ปฏิบัติการร่วมกันแบบบูรณาการ โดยมีรองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเป็นประธาน และรองอธิบดีกรมชลประทานเป็นรองประธาน และมีการประชุมครั้งแรกในวันที่ 18 เมษายน 2567
4. การประกาศเขตภัยพิบัติ
จังหวัดฉะเชิงเทราได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยน้ำเค็มปะปนกับน้ำจืดด้านในคลองเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2567 ประกอบด้วย
(1) พื้นที่หมู่ที่ 1 2 4 และ 6 ตำบลเทพราช พื้นที่หมู่ 4 ตำบลเกาะไร่ และพื้นที่หมู่ที่ 1-3 ตำบลคลองประเวศ อำเภอบ้านโพธิ์
(2) พื้นที่หมู่ 1-12 ตำบลคลองเปรง และหมู่ที่ 1-3 ตำบลหนามแดง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 23 เมษายน 2567
4711