ร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 24 April 2024 02:36
- Hits: 13025
ร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (สำนักงาน กกต.) เสนอ
ข้อเท็จจริงและสาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
สำนักงาน กกต. เสนอว่า
1. โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 269 (4) บัญญัติให้อายุของวุฒิสภาตามมาตรานี้1 มีกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง และได้มีพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2562 อายุของวุฒิสภาจึงครบกำหนด 5 ปี และจะสิ้นสุดลงในวันที่ 10 พฤษภาคม 2567 แต่ยังอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีสมาชิกวุฒิสภาขึ้นใหม่2
2. ดังนั้น เมื่ออายุของวุฒิสภาสิ้นสุดลง ให้ดำเนินการเลือกสมาชิกวุฒิสภา โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 107 วรรคห้า ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งบัญญัติให้การเลือกสมาชิกวุฒิสภาให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และภายใน 5 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดวันเริ่มดำเนินการเพื่อเลือกไม่ช้ากว่า 30 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลใช้บังคับ
3. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 107 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 11 บัญญัติให้การเลือกสมาชิกวุฒิสภาตามข้อ 2. ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 200 คน ซึ่งมาจากการเลือกกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงานหรือเคยทำงานด้านต่างๆ ที่หลากหลายของสังคม โดยในการแบ่งกลุ่มต้องแบ่งในลักษณะที่ทำให้ประชาชนซึ่งมีสิทธิสมัครรับเลือกทุกคนสามารถอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ จำนวน 20 กลุ่ม (กลุ่มละ 10 คน) จากการเลือกระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศตามลำดับ3 ดังนี้
(1) กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง
(2) กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
(3) กลุ่มการศึกษา
(4) กลุ่มการสาธารณสุข
(5) กลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก
(6) กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง
(7) กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคลซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ผู้ใช้แรงงาน
(8) กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน
(9) กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
(10) กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจากกิจการตาม (9)
(11) กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว
(12) กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม
(13) กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม
(14) กลุ่มสตรี
(15) กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น
(16) กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา
(17) กลุ่มประชาสังคม กลุ่มองค์กรสาธารณประโยชน์
(18) กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม
(19) กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ
(20) กลุ่มอื่นๆ
4. ทั้งนี้ สมาชิกวุฒิสภาตามบททั่วไปต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 โดยมีอำนาจหน้าที่ เช่น
(1) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
(2) กลั่นกรองร่างพระราชบัญญัติ
(3) การอนุมัติพระราชกำหนด
(4) การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
(5) การให้ความเห็นชอบหนังสือสัญญา
(6) การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน (การตั้งกระทู้ถาม การตั้งกรรมาธิการ และการเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภาและในที่ประชุมรัฐสภา)
(7) การให้คำแนะนำหรือให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ (ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กกต. ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ)
(8) การพิจารณาให้บุคคลดำรงตำแหน่งตามกฎหมายอื่น (เช่น ประธานศาลปกครองสูงสุด อัยการสูงสุด และเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นต้น)
5. ในการนี้ เพื่อให้การเลือกสมาชิกวุฒิสภา เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 107 วรรคห้า และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 12 จึงได้จัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. .... ขึ้น โดยมีสาระสำคัญเป็นการให้ดำเนินการเลือกสมาชิกวุฒิสภา และจัดทำร่างแผนการจัดการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ทั้งนี้ ภายใน 5 วัน นับแต่วันที่มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภาใช้บังคับ กกต. จะกำหนดวันเริ่มดำเนินการเพื่อเลือกไม่ช้ากว่า 30 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลใช้บังคับ [กกต. คาดว่า (1) พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภาจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 (2) ประกาศกำหนดวันเลือกและวันรับสมัครในวันที่ 13 พฤษภาคม 2567 (3) กำหนดวันเลือกสมาชิกวุฒิสภาระดับอำเภอในวันที่ 9 มิถุนายน 2567 (4) กำหนดวันเลือกสมาชิกวุฒิสภาระดับจังหวัดในวันที่ 16 มิถุนายน 2567 (5) กำหนดวันเลือกสมาชิกวุฒิสภาระดับประเทศ ในวันที่ 26 มิถุนายน 2567 และ (6) กำหนดวันที่จะประกาศผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภาในวันที่ 2 กรกฎาคม 2567]
____________________________
1 วุฒิสภาชุดปัจจุบันเป็นไปตามบทเฉพาะกาล มาตรา 269 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 250 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถวายคำแนะนำ ประกอบด้วย (1) คสช. คัดเลือกผู้ได้รับเลือกจากบัญชีรายชื่อที่ได้รับจาก กกต. ซึ่งมาจากการเลือกกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ฯ จำนวน 50 คน (2) คสช. คัดเลือกบุคคลจากบัญชีรายชื่อที่ได้รับการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 194 คน และ (3) ผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จำนวน 6 คน
2 มาตรา 109 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้เมื่ออายุของวุฒิสภาสิ้นสุดลง ให้สมาชิกวุฒิสภาอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีสมาชิกวุฒิสภาขึ้นใหม่
3 มาตรา 42 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 23 เมษายน 2567
4715