ร่างกฎกระทรวง กำหนดภาพ เครื่องหมาย หรือข้อความที่ภาชนะบรรจุหรือหีบห่อบรรจุสารระเหย ที่ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าสารระเหยต้องจัดทำก่อนนำออกจำหน่าย พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 24 April 2024 02:47
- Hits: 13174
ร่างกฎกระทรวง กำหนดภาพ เครื่องหมาย หรือข้อความที่ภาชนะบรรจุหรือหีบห่อบรรจุสารระเหย ที่ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าสารระเหยต้องจัดทำก่อนนำออกจำหน่าย พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง กำหนดภาพ เครื่องหมาย หรือข้อความที่ภาชนะบรรจุหรือหีบห่อบรรจุสารระเหย ที่ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าสารระเหยต้องจัดทำก่อนนำออกจำหน่าย พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและสำนักงานอัยการสูงสุด ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
ข้อเท็จจริงและสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
สธ. เสนอว่า
1. ปัจจุบันได้มีกฎกระทรวง (พ.ศ. 2534) ออกตามความในพระราชกำหนดป้องกันการใช้สารระเหย พ.ศ. 2533 ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าสารระเหยต้องจัดให้มีภาพ เครื่องหมาย หรือข้อความที่ภาชนะบรรจุหรือหีบห่อที่บรรจุสารระเหย เพื่อเป็นการเตือนให้ระวังการใช้สารระเหยดังกล่าว แต่เนื่องจากพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ได้บัญญัติให้ยกเลิกพระราชกำหนดป้องกันการใช้สารระเหย พ.ศ. 2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เมื่อประมวลกฎหมายยาเสพติดมีผลใช้บังคับแล้ว (ใช้บังคับเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564) โดยให้บรรดากฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ออกตามพระราชกำหนดป้องกันการใช้สารระเหย พ.ศ. 2533 ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับประมวลกฎหมายยาเสพติด
2. โดยที่ประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 97 กำหนดให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าสารระเหยต้องจัดให้มีภาพ เครื่องหมาย หรือข้อความที่ภาชนะบรรจุหรือหีบห่อที่บรรจุสารระเหย เพื่อเป็นการเตือนให้ระวังการใช้สารระเหยดังกล่าว ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และปริมาณที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดในกฎกระทรวง สธ. จึงมีความจำเป็นต้องยกร่างกฎกระทรวง กำหนดภาพ เครื่องหมาย หรือข้อความที่ภาชนะบรรจุ หรือหีบห่อบรรจุสารระเหยที่ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าสารระเหยต้องจัดทำก่อนนำออกจำหน่าย พ.ศ. .... เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดทำฉลากที่ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าสารระเหยจะได้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งร่างกฎกระทรวงดังกล่าวมีสาระสำคัญ ดังนี้
2.1 กำหนดวันใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
2.2 กำหนดให้ยกเลิกกฎกระทรวง (พ.ศ. 2534) ออกตามความในพระราชกำหนดป้องกันการใช้สารระเหย พ.ศ. 2533
2.3 กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำฉลาก ที่ผู้ผลิตสารระเหยหรือผู้นำเข้าสารระเหยก่อนนำออกจำหน่าย ต้องจัดให้มีภาพ เครื่องหมาย หรือข้อความที่ภาชนะบรรจุหรือหีบห่อที่บรรจุเป็นภาษาไทย ดังต่อไปนี้
(1) คำว่า “สารระเหย”
(2) ชื่อและสถานที่ตั้งของผู้ผลิต หรือผู้นำเข้า แล้วแต่กรณี
(3) ปริมาณที่บรรจุระบบเมตริก
(4) ชื่อทางเคมีและอัตราส่วนของสารผสมทั้งหมดในสารระเหย
(5) วิธีการใช้ และวิธีเก็บรักษา
(6) คำว่า “คำเตือน ห้ามสูดดม เป็นอัตรายต่อชีวิต”
(7) ภาพและข้อความตามท้ายกฎกระทรวงนี้
ซึ่งข้อความดังกล่าวต้องใช้สีที่เห็นได้ชัดเจน ตัดกับสีของภาชนะบรรจุ หรือหีบห่อที่บรรจุ สำหรับคำว่า “สารระเหย” และคำว่า “คำเตือน ห้ามสูดดม เป็นอันตรายต่อชีวิต” ให้ใช้ตัวอักษรสีแดงบนพื้นขาว รวมถึงภาพและข้อความต้องมีขนาดเหมาะสมและเห็นได้ชัดเจน
2.4 กำหนดปริมาณของภาชนะที่ต้องจัดให้มีฉลากต้องมี ขนาดบรรจุสารระเหยเกิน 550 มิลลิลิตร หรือ 550 กรัม
3. ในคราวประชุมคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ครั้งที่ 18 - 4/2566 เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงดังกล่าว และ สธ. ได้ดำเนินการตามกฎกระทรวงกำหนดร่างกฎที่ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบ พ.ศ. 2565 และแนวทางการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 แล้ว โดยจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องผ่านทางเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมายและเว็บไซต์กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ระหว่างวันที่ 15 - 30 พฤษภาคม 2566 และวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์แก่ประชาชนผ่านเว็บไซต์ดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยกับร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้
4. ร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้เป็นการออกกฎหมายลำดับรองซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายยาเสพติดที่มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 ภายหลังพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับ ซึ่งจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ซึ่ง สธ. ได้เสนอขอขยายระยะเวลาการดำเนินการออกกฎกระทรวงในเรื่องนี้ และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการจัดทำกฎหมายลำดับรองซึ่งออกตามความในประมวลกฎหมายยาเสพติด ออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2566 ตามที่ สธ. เสนอ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 23 เมษายน 2567
4718