ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตพิเศษเฉพาะคราวเพื่อส่งออกวัตถุออกฤทธิ์ที่ห้ามนำเข้า พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 24 April 2024 02:57
- Hits: 13167
ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตพิเศษเฉพาะคราวเพื่อส่งออกวัตถุออกฤทธิ์ที่ห้ามนำเข้า พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตพิเศษเฉพาะคราวเพื่อส่งออกวัตถุออกฤทธิ์ที่ห้ามนำเข้า พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอและให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุดไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงสาธารณสุขรับความเห็นของสำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงานอัยการสูงสุดไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ สธ. เสนอว่า
1. ปัจจุบันได้มีกฎกระทรวงฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2520) ออกตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการขอรับใบอนุญาตพิเศษเฉพาะคราวและการออกใบอนุญาตพิเศษเฉพาะคราวเพื่อส่งออกวัตถุออกฤทธิ์ที่ห้ามนำเข้า (เป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ค.ศ. 1971 ที่ประเทศไทยเป็นภาคี โดยที่ผ่านมายังไม่เคยมีการออกใบอนุญาตลักษณะนี้) แต่เนื่องจากพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ได้บัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 เมื่อประมวลกฎหมายยาเสพติดมีผลใช้บังคับแล้ว (มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564) โดยให้บรรดากฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับประมวลกฎหมายยาเสพติด
2. โดยที่มาตรา 37 และมาตรา 44 แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติดได้บัญญัติให้เมื่อกระทรวงสาธารณสุขได้รับแจ้งการห้ามนำเข้าซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภทหนึ่งประเภทใดที่ต่างประเทศได้แจ้งผ่านเลขาธิการสหประชาชาติระบุห้ามนำเข้าไปยังประเทศใด ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดการห้ามนำเข้าประเทศนั้น และห้ามผู้ใดส่งออกซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ไปยังประเทศที่ระบุห้ามนำเข้า เว้นแต่ได้รับอนุญาตพิเศษเฉพาะคราวจากประเทศนั้นและใบอนุญาตพิเศษเฉพาะคราวจากเลขาธิการคณะกรมการอาหารและยา ทั้งนี้ การขอรับใบอนุญาตพิเศษเฉพาะคราวและการออกใบอนุญาตพิเศษเฉพาะคราว และการให้ผู้รับอนุญาตดำเนินการเพื่อประโยชน์ในการควบคุมกำกับดูแล ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนดในกฎกระทรวง ดังนั้น เพื่อเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตและการอนุญาตพิเศษเฉพาะคราวเพื่อส่งออกวัตถุออกฤทธิ์ที่ห้ามนำเข้าเพื่อให้การขออนุญาตและการอนุญาตสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ สธ. จึงมีความจำเป็นต้องยกร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายยาเสพติดดังกล่าวแต่เนื่องจากร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้เป็นการออกกฎหมายลำดับรองซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายยาเสพติดที่มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 ภายหลังพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับซึ่งจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 8 ธันวาคม 2566 อย่างไรก็ตาม สธ. ได้เสนอขอขยายระยะเวลาการดำเนินการออกกฎกระทรวงในเรื่องนี้ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการจัดทำกฎหมายลำดับรองซึ่งออกตามความในประมวลกฎหมายยาเสพติดออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2566 ตามที่ สธ. เสนอ และในคราวประชุมคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดแห่งชาติ ครั้งที่ 22-8/2566 เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงดังกล่าวแล้ว
3. สธ. ได้ดำเนินการตามกฎกระทรวงกำหนดร่างกฎที่ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบ พ.ศ. 2565 และแนวทางการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 แล้ว โดยได้นำร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตพิเศษเฉพาะคราวเพื่อส่งออกวัตถุออกฤทธิ์ที่ห้ามนำเข้า พ.ศ. .... รับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมายระหว่างวันที่ 2 - 17 ตุลาคม 2566 รวมทั้งได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย และได้เผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็นพร้อมรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาและเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยกับร่างกฎกระทรวงดังกล่าว
ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตพิเศษเฉพาะคราวเพื่อส่งออกวัตถุออกฤทธิ์ที่ห้ามนำเข้า พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ สรุปได้ ดังนี้
1. กำหนดคุณสมบัติผู้ขอรับอนุญาต ดังนี้
1.1 เป็นผู้รับอนุญาตส่งออกวัตฤออกฤทธิ์ตามมาตรา 35 แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติดตามชนิดและประเภทของวัตถุออกฤทธิ์ที่จะส่งออกนั้น
1.2 เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด
2. กำหนดกระบวนการพิจารณาอนุญาต ดังนี้
2.1 การยื่นคำขอ หรือการติดต่อใดๆ และการออกเอกสารหลักฐานต่างๆ ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ เว้นแต่ไม่สามารถดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ให้ดำเนินการดังกล่าวที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข หรือสถานที่อื่นตามที่เลขาธิการ อย. กำหนด
2.2 ให้ผู้ขออนุญาตยื่นคำขออนุญาตต่อให้ผู้อนุญาต1 ตามแบบที่เลขาธิการ อย. กำหนด พร้อมด้วยข้อมูล เอกสารหรือหลักฐาน ได้แก่
(1) เลขที่ใบอนุญาตส่งออกวัตถุออกฤทธิ์
(2) หนังสือมอบอำนาจผู้แทนยื่นคำขอ
(3) หนังสือรับรองจากหน่วยงานของรัฐของประเทศปลายทางที่แสดงความจำนงขอให้ส่งออกไปยังประเทศนั้น หรือใบอนุญาตนำเข้าของประเทศปลายทางผู้รับวัตถุออกฤทธิ์นั้น
(4) เอกสารหรือหลักฐาน ซึ่งระบุชื่อ จำนวนหรือปริมาณ และคุณลักษณะของวัตถุออกฤทธิ์ตามที่กำหนดในแบบคำขอ รวมทั้งชื่อและที่ตั้งของสถานที่ทำการของผู้นำเข้าประเทศผู้รับตลอดจนวิธีการในการส่งออก
(5) ข้อมูล เอกสาร หรือหลักฐานอื่นตามที่กำหนดในแบบคำขอรับอนุญาต
2.3 เมื่อได้รับคำขอให้ผู้อนุญาตตรวจสอบคำขออนุญาต รวมทั้งข้อมูล เอกสาร และหลักฐานว่าถูกต้องและครบถ้วนหรือไม่ หากคำขอไม่ถูกต้องหรือยังขาดข้อมูล เอกสาร หรือหลักฐานใด ถ้าเป็นกรณีที่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้ในขณะนั้น ให้แจ้งให้ผู้ขออนุญาตดำเนินการแก้ไข ภายในระยะเวลาที่กำหนด ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตไม่แก้ไขเพิ่มเติมคำขออนุญาตหรือไม่จัดส่งข้อมูล เอกสารหรือหลักฐานให้ถูกต้องและครบถ้วนภายในระยะเวลาที่ผู้อนุญาตกำหนด ให้ถือว่าผู้ขออนุญาตไม่ประสงค์จะดำเนินการต่อไปและให้ผู้อนุญาตคืนคำขออนุญาต เอกสาร และหลักฐานให้แก่ผู้ขออนุญาต พร้อมทั้งแจ้งเป็นหนังสือถึงเหตุแห่งการคืนคำขอให้ทราบด้วยและให้ผู้อนุญาตจำหน่ายเรื่องออกจากสารบบ
2.4 เมื่อเห็นว่าคำขออนุญาต รวมทั้งข้อมูล เอกสาร และหลักฐานถูกต้องและครบถ้วนแล้วให้ผู้อนุญาตออกใบรับคำขอให้แก่ผู้ขออนุญาต และให้พิจารณาออกใบอนุญาตให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน
3. กำหนดให้ชื่อ ชนิด จำนวนหรือปริมาณของวัตถุออกฤทธิ์ที่อนุญาตให้ส่งออกเฉพาะคราวต้องเป็นไปตามที่ระบุไว้ในใบอนุญาตของประเทศผู้รับ และไม่เกินจำนวนหรือปริมาณที่ระบุไว้ในใบอนุญาตของประเทศผู้รับ
4. กำหนดให้ในการส่งออกให้ผู้รับอนุญาตปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
4.1 นำวัตถุออกฤทธิ์ที่ส่งออกไปให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ด่านตรวจสอบยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ พร้อมเอกสารหรือหลักฐานเพื่อทำการตรวจสอบ
4.2 ส่งออกวัตถุออกฤทธิ์ตามชนิดที่ระบุไว้ในใบอนุญาต และตามจำนวนและปริมาณที่ระบุไว้ในใบอนุญาตหรือหนังสือรับรองของประเทศที่จะนำเข้า ในกรณีที่ส่งออกได้น้อยกว่าจำนวนและปริมาณดังกล่าว ให้แจ้งต่อผู้อนุญาตเพื่อแก้ไขใบอนุญาตให้ถูกต้องตามปริมาณที่ส่งออกจริง
ทั้งนี้ เพื่อการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ผู้อนุญาตอาจพิจารณายกเว้นการปฏิบัติดังกล่าวทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก็ได้
5. กำหนดให้ผู้รับอนุญาตปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
5.1 เสนอรายงานเกี่ยวกับการดำเนินกิจการตามที่ได้รับอนุญาตไปยังสำนักงาน อย. ตามแบบและภายในระยะเวลาที่เลขาธิการ อย. กำหนด
5.2 จัดให้มีฉลากที่ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุวัตถุออกฤทธิ์ที่ส่งออก และอย่างน้อยต้องมีรายละเอียด เช่น ชื่อวัตถุออกฤทธิ์และปริมาณสารสำคัญตามที่ได้รับอนุญาต ข้อความว่า “วัตถุออกฤทธิ์” ด้วยตัวอักษรสีแดง เห็นได้ชัดเจน ขนาดบรรจุ เดือน ปี ที่ผลิต และครั้งที่ผลิต เป็นต้น
5.3 ส่งออกวัตถุออกฤทธิ์ตามที่ได้รับอนุญาต
ทั้งนี้ กรณีมีเหตุจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการในการป้องกัน ปราบปรามหรือแก้ไขปัญหายาเสพติด หรือปฏิบัติตามความร่วมมือระหว่างประเทศเกี่ยวกับวัตถุออกฤทธิ์ ผู้อนุญาตอาจพิจารณายกเว้นการปฏิบัติดังกล่าวทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก็ได้
_______________
1ม.15 แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติดได้กำหนดนิยามของคำว่า “ผู้อนุญาต” หมายความว่า เลขาธิการ อย. หรือผู้ซึ่งเลขาธิการ อย. มอบหมาย
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 23 เมษายน 2567
4721