การเสนอศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู) เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาราชินี จังหวัดสมุทรปราการ ขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน (ASEAN Heritage Park: AHP)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 12 June 2024 00:38
- Hits: 8583
การเสนอศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู) เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาราชินี จังหวัดสมุทรปราการ ขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน (ASEAN Heritage Park: AHP)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการเสนอศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู) เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาราชินี จังหวัดสมุทรปราการ ขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน (ASEAN Heritage Park: AHP) [ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู)ฯ] ตามที่กระทรวงกลาโหม (กห.) เสนอ
(ศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพมีกำหนดจะพิจารณาเอกสารการขึ้นทะเบียนและตรวจประเมินพื้นที่โดยผู้เชี่ยวชาญของอาเซียนภายในเดือนมิถุนายน 2567)
สาระสำคัญของเรื่อง
กห. รายงานว่า
1. ในการประชุมคณะกรรมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2567 ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธาน ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้เสนอศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู)ฯ เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน และมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) นำเสนอ (ร่าง) เอกสารการเสนอขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียนเสนอต่อศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (ASEAN Centre for Biodiversity: ACB) เพื่อดำเนินการตามกระบวนการของอาเซียน โดยขั้นตอนในการนำเสนอพื้นที่อุทยานมรดกแห่งอาเซียน สผ. (ในฐานะผู้ประสานงานคณะทำงานอาเซียนด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ) จะจัดส่งเอกสารนำเสนอพื้นที่อุทยานมรดกแห่งอาเซียนให้ศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (เลขานุการคณะกรรมการอุทยานมรดกแห่งอาเซียน) เพื่อส่งเอกสารนำเสนอให้แก่คณะผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบและประเมินพื้นที่ และเสนอคณะทำงานอาเซียนด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพพิจารณาก่อนนำเข้าที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม และที่ประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม (กำหนดการจัดประชุมภายในเดือนกันยายน - ตุลาคม 2567) เพื่อให้การรับรองการขึ้นทะเบียนอุทยานมรดกแห่งอาเซียนต่อไป
2. พื้นที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู)ฯ ตั้งอยู่ภายในบริเวณกองอำนวยการสถานพักผ่อน กรมพลาธิการทหารบก จังหวัดสมุทรปราการ มีพื้นที่ประมาณ 411 ไร่ จัดตั้งขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างกองทัพบกกับองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลสำนักงานประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบรอบ 72 พรรษา แห่งองค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในการอนุรักษ์ป่าดั้งเดิมและเพิ่มพื้นที่ป่า (ชายเลน) พื้นที่อ่าวไทยตอนใน ตลอดจนใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการศึกษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้แก่นักเรียนและผู้สนใจทั่วไป ซึ่งมีลักษณะโดดเด่นที่สมควรได้รับการยกย่องให้เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน โดยเป็นไปตามเกณฑ์การพิจารณาขึ้นทะเบียนอุทยานมรดกอาเซียน (เป็นไปตามหลักเกณฑ์การพิจารณาทั้งหมด 10 หลักเกณฑ์) สรุปได้ ดังนี้
หลักเกณฑ์ |
รายละเอียด |
|
หลักเกณฑ์ที่ 1 ความสมบูรณ์ทางระบบนิเวศ |
ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู)ฯ มีพื้นที่ประมาณ 411 ไร่ ประกอบด้วย ระบบนิเวศสำคัญ 3 แบบ ได้แก่ 1) พื้นที่ลุ่มน้ำเค็ม มีลักษณะเป็นพื้นที่โล่งได้รับอิทธิพลของการขึ้น – ลงของน้ำทะเล 2) หาดโคลน เป็นพื้นที่โล่งกว้าง จะมีนกอพยพมาหากินในฤดูกาลอพยพ เป็นดินโคลน ปากแม่น้ำเจ้าพระยา แหล่งอาศัยของสัตว์หน้าดินจำนวนมาก 3) ป่าชายเลน ครอบคลุมป่าชายเลนบริเวณชายฝั่ง และด้านหลังชายฝั่งระบบนิเวศที่มีความอุดมสมบูรณ์ ปกคลุมด้วยพืชพรรณไม้ที่โดดเด่นและมีการเติบโตหรือเกิดใหม่อย่างต่อเนื่อง มีความหลากหลายของระบบนิเวศ |
|
หลักเกณฑ์ที่ 2 ความเป็นตัวแทนของภูมิภาค |
ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู)ฯ มีระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำในเมืองที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นพื้นที่เครือข่ายนกน้ำอพยพของประเทศที่อยู่ในเส้นทางการบินสายเอเชียตะวันออก – ออสเตรเลีย (East Asian –Australasian Flyway) และเป็นแนวกันชน (Buffer zone) ของระบบนิเวศที่ช่วยป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คลื่นลม และอิทธิพลของระดับน้ำทะเล รวมทั้งเป็นศูนย์ศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติผ่านกิจกรรมอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมความตระหนักในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ |
|
หลักเกณฑ์ที่ 3 ความเป็นธรรมชาติ |
คณะรัฐมนตรีมีมติ (3 พฤศจิกายน 2552 และ 20 กรกฎาคม 2553) ให้ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู)ฯ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ (ส่วนของอ่าวไทย) และเป็น 1 ใน 15 พื้นที่เครือข่ายนกน้ำอพยพของประเทศไทย |
|
หลักเกณฑ์ที่ 4 ความสำคัญต่อการอนุรักษ์อย่างสูง หลักเกณฑ์ที่ 10 ความสำคัญด้านความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตที่มีค่าและใกล้สูญพันธุ์ |
ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู)ฯ เป็นแหล่งอาศัยของสิ่งมีชีวิตที่มีค่าและใกล้สูญพันธุ์ 41 ชนิด เช่น นกนางนวล นกแก้วโม่ง นกกระสาแดง นกเปล้าอกสีม่วงน้ำตาล นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2567 มีการบันทึกการค้นพบสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังบนบกที่ระบุชนิดได้อย่างชัดเจนกว่า 300 ชนิด โดยส่วนใหญ่เป็นแมลง พบผีเสื้อถุงทองธรรมดา ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 |
|
หลักเกณฑ์ที่ 5 พื้นที่ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย |
ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู)ฯ เป็นพื้นที่ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย เช่น 1) ประกาศกองทัพบก เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู)ฯ 2) มติคณะรัฐมนตรี (3 พฤศจิกายน 2552) เรื่อง ทะเบียนรายนามพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ และระดับชาติของประเทศไทย และมาตรการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ กำหนดให้ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู)ฯ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ (ส่วนของอ่าวไทย) 3) มติคณะรัฐมนตรี (20 กรกฎาคม 2553) กำหนดให้ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู)ฯ เป็น 1 ใน 15 พื้นที่เครือข่ายนกน้ำอพยพของประเทศไทย |
|
หลักเกณฑ์ที่ 6 แผนการบริหารจัดการที่ได้รับความเห็นชอบ |
ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู)ฯ ได้จัดทำแผนบริหารจัดการด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติควบคู่ไปกับการเปิดโอกาสให้มีการใช้ประโยชน์ทรัพยากรได้ตามจุดประสงค์ของการจัดตั้ง โดยมีแผนการบริหารจัดการประกอบด้วย 11 แผนงานหลัก 10 แผนงานย่อย 53 โครงการ ซึ่งจะดำเนินการในห้วงระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2568 - 2572 เช่น 1) แผนงานการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ การคุ้มครองรักษาและการจัดการทรัพยากร 2) แผนงานการคุ้มครองรักษาและการจัดการทรัพยากรและมรดกทางวัฒนธรรม 3) แผนงานด้านการป้องกันพื้นที่ 4) แผนงานด้านการจัดการอุบัติภัยทางธรรมชาติ |
|
หลักเกณฑ์ที่ 7 ลักษณะการข้ามพรมแดน |
ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู)ฯ เป็นพื้นที่เครือข่ายนกน้ำอพยพ ของประเทศ (Flyway Network ซึ่งอยู่ในเส้นทางการบินของเอเชียตะวันออก - ออสเตรเลีย (East Asian - Australasian Flyway) ทำให้พื้นที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู)ฯ มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์และระบบนิเวศซึ่งเป็นแหล่งพักพิง ที่อยู่อาศัย และแหล่งอาหารของนกอพยพที่เชื่อมโยงกับพื้นที่อื่นๆ ของภูมิภาคอาเซียนและเอเชียตะวันออก - ออสเตรเลีย ซึ่งเป็น 1 ใน 9 เส้นทางนกอพยพของโลก รวมทั้งเป็นระบบนิเวศป่าชายเลนที่อยู่ในแนวเชื่อมต่อ (Ecotone) ระหว่างผืนแผ่นดินกับทะเลอ่าวไทยซึ่งอยู่ในภูมิภาคแนวเขตร้อนซึ่งมีความสมบูรณ์ของทรัพยากรน้ำ ดิน และแร่ธาตุต่างๆ จากบกและทะเล ทำให้พื้นที่ดังกล่าวมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ตลอดจนเป็นแหล่งกำเนิดห่วงโซ่อาหาร (food chain) โดยเฉพาะเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่สำคัญในป่าชายเลน |
|
หลักเกณฑ์ที่ 8 ความมีลักษณะเอกลักษณ์ |
ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู)ฯ เป็นพื้นที่สำคัญเพื่อการอนุรักษ์นก (Important Bird & Biodiversity Area) ในพื้นที่อ่าวไทยตอนใน โดยอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อเสนอชื่อเป็น พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (Ramsar site) และพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการเข้าร่วมภาคีความร่วมมือเพื่อการอนุรักษ์นกน้ำอพยพ รวมทั้งเป็นพื้นที่ที่มีระบบนิเวศตามธรรมชาติหนึ่งเดียวที่อยู่ท่ามกลางเมืองที่กำลังเติบโตทางอุตสาหกรรม แต่พื้นที่นี้ยังสามารถมีการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติมาได้เป็นเวลาหลายสิบปีโดยไม่ถูกทำลาย และยังให้ประโยชน์เชิงสังคมและวัฒนธรรมควบคู่ไปด้วย ในส่วนของประเทศไทยนับเป็นโอกาสดีที่จะได้เป็นพื้นที่แรกของโลกที่ดูแลโดยหน่วยงานภายนอกที่ไม่ได้มีภารกิจในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติโดยตรง ที่จะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน (ASEAN Heritage Parks: AHP) ซึ่งสามารถเป็นแรงบันดาลใจและใช้เป็นแนวทางให้หน่วยงานอื่นๆ หรือชุมชนร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ของตนได้ |
|
หลักเกณฑ์ที่ 9 ความเชื่อมโยงที่สำคัญระหว่างวัฒนธรรม |
ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู)ฯ เป็นพื้นที่สำหรับประชาชนหรือคนในชุมชนได้มาจัดกิจกรรมสืบสานวัฒนธรรมที่สำคัญของประเทศ เช่น การทำบุญขึ้นปีใหม่ ประเพณีสงกรานต์ และวันสำคัญทางศาสนาต่างๆ |
3. ประโยชน์และผลกระทบ
การเสนอศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู)ฯ ขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียนเป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยให้มีความยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีระบบนิเวศตามธรรมชาติหนึ่งเดียวที่อยู่ท่ามกลางเมืองที่กำลังเติบโตทางอุตสาหกรรม ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวยังคงความสมบูรณ์ทางนิเวศ (Ecological Completeness) มีความหลากหลายทางชีวภาพ ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ตลอดจนสามารถให้ประโยชน์เชิงสังคมและวัฒนธรรม รวมถึงเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติป่าชายเลน ระบบพื้นที่ชุ่มน้ำในเมือง เครือข่ายนกน้ำอพยพและแนวกันชนที่ช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ คลื่นลมและอิทธิพลจากน้ำทะเลควบคู่ไปด้วย
ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ที่ได้รับการรับรองเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียนจำนวน 7 แห่ง ดังนี้
พื้นที่ |
ปีที่ได้รับการประกาศ |
หมายเหตุ |
1) อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ |
2527 |
การเสนอพื้นที่อุทยานมรดกแห่งอาเซียนทั้ง 4 แห่ง มิได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเนื่องจากเป็นการดำเนินการตั้งแต่ช่วงปี 2527 – 2546 ซึ่งในขณะนั้นเรื่องลักษณะนี้ไม่ได้มีข้อกฎหมายกำหนดให้ต้องนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี |
2) อุทยานแห่งชาติตะรุเตา |
2527 |
|
3) กลุ่มอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลัน และอ่าวพังงา |
2546 |
|
4) กลุ่มป่าแก่งกระจาน ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี |
2546 |
|
5) อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม – เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง |
2562 |
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2561 |
6) อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง |
2562 |
|
7) อุทยานแห่งชาติเขาสก |
2564 |
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 |
8) อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอน |
อยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียน |
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 |
9) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว – อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว |
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 |
|
10) อุทยานแห่งชาติภูกระดึง |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 11 มิถุนายน 2567
6343