ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สี่ของปี 2566 ทั้งปี 2566 และแนวโน้มปี 2567
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 12 June 2024 01:23
- Hits: 8699
ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สี่ของปี 2566 ทั้งปี 2566 และแนวโน้มปี 2567
คณะรัฐมนตรีรับทราบภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สี่ของปี 2566 ทั้งปี 2566 และแนวโน้มปี 2567 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ
สาระสำคัญ
สศช. ได้เสนอรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สี่ของปี 2566 ทั้งปี 2566 และแนวโน้มปี 2567 โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
%YoY1 |
ปี 2565 |
ปี 2566 |
ปี 2567 |
||||
ทั้งปี |
ทั้งปี |
ไตรมาส 1 |
ไตรมาส 2 |
ไตรมาส 3 |
ไตรมาส 4 |
ทั้งปี (ประมาณการ) |
|
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) |
2.5 |
1.9 |
2.6 |
1.8 |
1.4 |
1.7 |
2.2-3.2 |
การลงทุนรวม2 |
2.3 |
1.2 |
3.1 |
0.4 |
1.5 |
-0.4 |
2.5 |
- ภาคเอกชน |
4.7 |
3.2 |
2.8 |
1.4 |
3.5 |
5.0 |
3.5 |
- ภาครัฐ |
-3.9 |
-4.6 |
4.2 |
-2.1 |
-3.4 |
-20.1 |
-1.8 |
การบริโภคภาคเอกชน |
6.2 |
7.1 |
5.9 |
7.3 |
7.9 |
7.4 |
3.0 |
การอุปโภคภาครัฐบาล |
0.1 |
-4.6 |
-6.0 |
-4.3 |
-5.0 |
-3.0 |
1.5 |
- มูลค่าการส่งออกสินค้า |
5.4 |
-1.7 |
-3.8 |
-5.0 |
-2.0 |
4.6 |
2.9 |
- ปริมาณการส่งออกสินค้า |
1.2 |
-2.9 |
-5.7 |
-5.3 |
-3.1 |
3.2 |
2.4 |
- มูลค่าการนำเข้าสินค้า |
14.0 |
-3.1 |
0.5 |
-6.6 |
-10.7 |
6.1 |
4.4 |
- ปริมาณการนำเข้าสินค้า |
1.2 |
-3.6 |
-3.5 |
-4.8 |
-10.4 |
5.3 |
3.2 |
ดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP (%) |
-3.2 |
1.3 |
2.7 |
-0.8 |
2.1 |
1.2 |
1.4 |
เงินเฟ้อ |
6.1 |
1.2 |
3.9 |
1.1 |
0.5 |
-0.5 |
0.9-1.9 |
1. ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 4 ของปี 2566
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2566 มูลค่า GDP ขยายตัวร้อยละ 1.7 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.4 ในไตรมาสที่สาม โดยแบ่งเป็น
1.1 ด้านการใช้จ่าย การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่องตามการขยายตัวของการใช้จ่ายในทุกหมวด เช่น หมวดบริการ (เช่น กลุ่มโรงแรมและภัตตาคาร) ซึ่งสอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากการจ้างงานและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น สำหรับการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเพิ่มขึ้นตามการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและเครื่องมือที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาลและการลงทุนภาครัฐลดลง
1.2 ด้านภาคต่างประเทศ การส่งออกสินค้ากลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส ร้อยละ 4.6 (สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น ข้าว ยางพารา คอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม) สำหรับการนำเข้าสินค้าขยายตัวครั้งแรกในรอบ 3 ไตรมาส ร้อยละ 6.1 สอดคล้องกับการกลับมาขยายตัวของการส่งออกสินค้า
1.3 ด้านการผลิต สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารสาขาการขายส่งและขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่วนสาขาขนส่งและสถานที่เก็บสินค้ามีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่สาขาการผลิต สินค้าอุตสาหกรรม สาขาเกษตรกรรม และสาขาก่อสร้างปรับตัวลดลง
1.4 เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 0.81 ซึ่งต่ำสุดในรอบ 32 ไตรมาส และต่ำกว่าร้อยละ 0.99 ในไตรมาสก่อนหน้าและต่ำกว่าร้อยละ 1.15 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงร้อยละ 0.5 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.6 ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 53.9 พันล้านบาท) เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2566 อยู่ที่ 2.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2566 มีมูลค่าทั้งสิ้น 11,084,577.1 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 61.3 ของ GDP
2. เศรษฐกิจไทยปี 2566
เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 1.9 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 2.5 ในปี 2565 ด้านการใช้จ่าย การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 7.1 เร่งขึ้นจากร้อยละ 6.2 ในปี 2565 ส่วนการลงทุนภาคเอกชนและการส่งออกบริการ ขยายตัวร้อยละ 3.2 และร้อยละ 38.3 ชะลอลงจากร้อยละ 4.7 และร้อยละ 59.9 ในปี 2565ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกสินค้าลดลงร้อยละ 1.7 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 5.4 ในปี 2565 และการลงทุนภาครัฐลดลงร้อยละ 4.6 เทียบกับการลดลงร้อยละ 3.9 ในปี 2565 ด้านการผลิต สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารสาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมง สาขาการขายส่งและการขายปลีก และสาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า ขยายตัวร้อยละ 18.0 ร้อยละ 1.9 ร้อยละ 3.8 และร้อยละ 8.4 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 34.5 ร้อยละ 2.5 ร้อยละ 3.7 และร้อยละ 8.0 ในปี 2565 ขณะที่สาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 3.2 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 0.7 ในปี 2565 และสาขาก่อสร้างลดลงร้อยละ 0.6 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 2.4 ในปี 2565 รวมทั้งปี 2566 GDP อยู่ที่ 17.9ล้านล้านบาท (5.13 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นจาก 17.4 ล้านล้านบาท (4.95 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2565 และ GDP ต่อหัวของคนไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 255,867.7 บาทต่อคนต่อปี (7,331.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี) เพิ่มขึ้นจาก 248,788.6 บาทต่อคนต่อปี (7,094.1 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี) ในปี 2565 สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 0.98 อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.2 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 1.3 ของ GDP
3. แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2567
แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.2-3.2 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการกลับมาขยายตัวของการส่งออกสินค้าการขยายตัวในเกณฑ์ดีของการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนและการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ทั้งนี้ คาดว่าการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวร้อยละ 3.0 และร้อยละ 3.5ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐขยายตัวร้อยละ 2.9 ส่วนอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 0.9-1.9 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 1.4 ของ GDP
4. การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 2567
สศช. เห็นว่า ในปี 2567 รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ดังนี้
4.1 การติดตาม ตรวจสอบ และเฝ้าระวัง การทุ่มตลาด รวมทั้งการใช้มาตรการและวิธีการทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมจากประเทศผู้ส่งออกสำคัญ ควบคู่ไปกับการทบทวนมาตรการทางภาษีให้มีความเหมาะสมและการปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบคุณภาพสินค้านำเข้า
4.2 การยกระดับศักยภาพการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ผู้ประกอบการภายในประเทศ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้า รวมทั้งใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
4.3 การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าที่มีศักยภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดโลกเพิ่มขึ้น รวมทั้งเร่งรัดการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางในประเทศให้มีความพร้อมในการรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมเป้าหมาย และสามารถเชื่อมโยงสินค้าที่ผลิตได้ภายในประเทศกับห่วงโซ่การผลิตโลกได้มากขึ้น
4.4 การเร่งรัดผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2564-2566 มีการลงทุนจริงควบคู่ไปกับการเร่งอนุมัติโครงการที่ได้เสนอขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วงก่อนหน้า รวมทั้งการเร่งรัดให้ผู้ประกอบการโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานสามารถเริ่มประกอบกิจการให้เร็วขึ้น และมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาที่นักลงทุนและผู้ประกอบการต่างประเทศเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ ควบคู่ไปกับการพัฒนากำลังแรงงาน
4.5 การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยจัดทำปฏิทินการท่องเที่ยวตลอดทั้งปี และการสร้างการรับรู้ต่อมาตรการ Long - term resident visa (LTR) เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพและมีกำลังซื้อสูง รวมทั้งการเตรียมความพร้อมของปัจจัยแวดล้อมทางกายภาพที่สำคัญ
4.6 การดำเนินมาตรการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันแก่เกษตรกรผ่านการส่งเสริมรูปแบบและพัฒนาระบบประกันภัยพืชผลจากความเสี่ยงของสภาพภูมิอากาศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการเพิ่มส่วนแบ่งให้เกษตรกรมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตขั้นสุดท้ายมากขึ้น ควบคู่ไปกับส่งเสริมให้มีการปลูกพืชและใช้วิธีการผลิตที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และปรับเปลี่ยนไปสู่การผลิตที่มีมูลค่าสูง
4.7 การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐโดยให้ความสำคัญกับ (1) การเร่งรัดเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายเหลื่อมปีและงบลงทุนรัฐวิสาหกิจในช่วงที่พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ยังไม่มีผลบังคับใช้ (2) การเร่งรัดกระบวนการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ไม่ให้ล่าช้าไปกว่าแผนที่กำหนดไว้ ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมของโครงการให้มีความพร้อมสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างและการเบิกจ่ายได้โดยเร็วหลังจากพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีผลใช้บังคับ และ (3) การติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ
____________________
1YoY (Year on Year) เป็นการเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกัน เช่น เปรียบเทียบระหว่างไตรมาสแรกของปี 2565 กับปี 2566 หรือการเปรียบเทียบรายได้ทั้งปีระหว่างปี 2565 และปี 2566
2การลงทุนรวม หมายถึง การสะสมทุนถาวรเบื้องต้น
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 11 มิถุนายน 2567
6348