รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมประเทศ (ระหว่างวันที่ 4-9 มิถุนายน 2567)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 12 June 2024 17:00
- Hits: 8371
รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมประเทศ (ระหว่างวันที่ 4-9 มิถุนายน 2567)
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมประเทศ (ระหว่างวันที่ 4-9 มิถุนายน 2567) ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เสนอ
สาระสำคัญและข้อเท็จจริง
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้บูรณาการข้อมูลที่เกี่ยวข้องและขอสรุปสถานการณ์น้ำระหว่างวันที่ 4 – 9 มิถุนายน 2567 มีดังนี้
1. สภาพอากาศและการคาดการณ์ฝน
ปัจจุบันพบว่าปรากฏการณ์เอนโซ ได้เปลี่ยนเข้าสู่สภาวะเป็นกลางแล้วและจะคงสภาวะนี้ต่อไป โดยมีความน่าจะเป็นร้อยละ 69 ที่จะเปลี่ยนไปสู่สภาวะลานีญาในเดือนกรกฎาคม-กันยายน และจะต่อเนื่องไปจนถึงปลายปี 2567
ร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน และอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันตอนบน และประเทศไทยตอนบนมีกำลังปานกลาง ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง โดยภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก มีฝนตกหนักบางแห่ง
การคาดการณ์ฝน ในช่วงวันที่ 11 – 15 มิถุนายน 2567 ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือและประเทศลาวตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง
2. สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ และการคาดการณ์
(1) สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำภาพรวมประเทศ สถานการณ์แหล่งน้ำทั่วประเทศ
ปัจจุบัน (ข้อมูลวันที่ 9 มิถุนายน 2567) มีปริมาณน้ำ 40,496 ล้านลูกบาศก์เมตร (50%) น้อยกว่าปี 2566 จำนวน 1,723 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำใช้การ 16,326 ล้านลูกบาศก์เมตร (29%) มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ต้องเฝ้าระวังน้ำน้อย (ปริมาณน้ำต่ำกว่าเกณฑ์เก็บกักต่ำสุด (Lower Rule Curve)) 3 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำสิริกิติ์ อ่างเก็บน้ำจุฬาภรณ์ และอ่างเก็บน้ำปราณบุรี และเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีน้ำน้อยกว่า 30% ของความจุเก็บกัก จำนวน 91 แห่ง (จากทั้งหมด 369 แห่ง) ได้แก่ ภาคเหนือ 11 แห่ง (จาก 79 แห่ง) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 42 แห่ง (จาก 189 แห่ง) ภาคกลาง 6 แห่ง (จาก 11 แห่ง) ภาคตะวันออก 15 แห่ง (จาก 44 แห่ง) และภาคตะวันตก 15 แห่ง (จาก 24 แห่ง) และภาคใต้ 2 แห่ง (จาก 22 แห่ง)
(2) การคาดการณ์ปริมาณน้ำใช้การอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง
การคาดการณ์ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในช่วงต้นฤดูแล้ง ปี 2567/68 (วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567) จะมีปริมาณน้ำใช้การ 34,809 ล้าน ลบ.ม. (73%) เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566 ที่มีปริมาณน้ำใช้การ 32,848 ล้าน ลบ.ม. มากกว่า 1,961 ล้าน ลบ.ม.(4%)
3. การแจ้งเตือนของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
(1) สทนช. ได้จัดทำประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 6/2567 ลงวันที่ 2 มิถุนายน 2567 เพื่อเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และบริเวณชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำเนื่องจากระบายไม่ทัน ช่วงวันที่ 4 – 11 มิถุนายน 2567 โดยมีพื้นที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง พะเยา น่าน ตาก พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ ชัยภูมิ ขอนแก่น และอุดรธานี
ภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง จังหวัดจันทบุรี และตราด
ภาคตะวันตก ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี
(2) สทนช. แจ้งเตือนเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูง ช่วงวันที่ 6 - 12 มิถุนายน 2567 เนื่องจากอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนสูง และคาดว่าจะมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำ ท่าจีน และแม่น้ำบางปะกง ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม นนทบุรี กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ
4. สถานการณ์อุทกภัย
ในช่วงวันที่ 4 – 9 มิถุนายน 2567 มีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ชุมชนโดยมีสถานการณ์เกิดขึ้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน (1 อ. 1 ต.) จ.ตาก (1 อ. 1 ต.) ปัจจุบันสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ และมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่การเกษตรที่ จ.สุพรรณบุรี (2 อ. 4 ต.) และนครปฐม (2 อ. 3 ต.) สถานการณ์น้ำมีแนวโน้มลดลง ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 671 ครัวเรือน 6,227 ไร่
5. พื้นที่เสี่ยงฝนทิ้งช่วงและอุทกภัย ช่วงเดือนมิถุนายน - สิงหาคม 2567
สทนช. บูรณาการข้อมูลร่วมกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงฝนทิ้งช่วงและอุทกภัย ดังนี้
(1) พื้นที่เสี่ยงฝนทิ้งช่วง ช่วงเดือนมิถุนายน - สิงหาคม 2567
เดือนมิถุนายน มีพื้นที่เสี่ยงฝนทิ้งช่วง 30 จังหวัด 137 อำเภอ 584 ตำบล ดังนี้
- ภาคเหนือ 10 จังหวัด 26 อำเภอ 93 ตำบล
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 14 จังหวัด 100 อำเภอ 456 ตำบล
- ภาคกลาง 1 จังหวัด 2 อำเภอ 3 ตำบล
- ภาคตะวันออก 1 จังหวัด 5 อำเภอ 23 ตำบล
- ภาคตะวันตก 1 จังหวัด 1 อำเภอ 2 ตำบล
- ภาคใต้ 3 จังหวัด 3 อำเภอ 7 ตำบล
เดือนกรกฎาคม มีพื้นที่เสี่ยงฝนทิ้งช่วง 19 จังหวัด 64 อำเภอ 244 ตำบล ดังนี้
- ภาคเหนือ 6 จังหวัด 11 อำเภอ 31 ตำบล
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 13 จังหวัด 53 อำเภอ 213 ตำบล
เดือนสิงหาคม มีพื้นที่เสี่ยงฝนทิ้งช่วง 19 จังหวัด 69 อำเภอ 232 ตำบล ดังนี้
- ภาคเหนือ 4 จังหวัด 14 อำเภอ 35 ตำบล
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 จังหวัด 48 อำเภอ 182 ตำบล
- ภาคตะวันออก 1 จังหวัด 3 อำเภอ 6 ตำบล
- ภาคตะวันตก 1 จังหวัด 2 อำเภอ 7 ตำบล
- ภาคใต้ 1 จังหวัด 2 อำเภอ 2 ตำบล
(2) พื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ช่วงเดือนมิถุนายน - สิงหาคม 2567
เดือนมิถุนายน มีพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย 14 จังหวัด 34 อำเภอ 55 ตำบล ดังนี้
- ภาคเหนือ 5 จังหวัด 14 อำเภอ 26 ตำบล
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 จังหวัด 4 อำเภอ 4 ตำบล
- ภาคใต้ 6 จังหวัด 16 อำเภอ 25 ตำบล
เดือนกรกฎาคม มีพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย 39 จังหวัด 159 อำเภอ 560 ตำบล ดังนี้
- ภาคเหนือ 11 จังหวัด 69 อำเภอ 266 ตำบล
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9 จังหวัด 34 อำเภอ 137 ตำบล
- ภาคกลาง 4 จังหวัด 9 อำเภอ 39 ตำบล
- ภาคตะวันออก 5 จังหวัด 8 อำเภอ 14 ตำบล
- ภาคตะวันตก 1 จังหวัด 1 อำเภอ 3 ตำบล
- ภาคใต้ 9 จังหวัด 38 อำเภอ 101 ตำบล
เดือนสิงหาคม มีพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย 63 จังหวัด 355 อำเภอ 1,568 ตำบล ดังนี้
- ภาคเหนือ 17 จังหวัด 139 อำเภอ 783 ตำบล
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 17 จังหวัด 118 อำเภอ 513 ตำบล
- ภาคกลาง 8 จังหวัด 23 อำเภอ 53 ตำบล
- ภาคตะวันออก 8 จังหวัด 26 อำเภอ 78 ตำบล
- ภาคตะวันตก 3 จังหวัด 6 อำเภอ 9 ตำบล
- ภาคใต้ 10 จังหวัด 43 อำเภอ 132 ตำบล
6. การลงพื้นที่ตรวจราชการ
นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจราชการในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อรับฟังและช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน วันที่ 7 – 9 มิถุนายน 2567 ณ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง
โดยได้ลงพื้นที่ตรวจติดตามโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ ตำบลบ้านกลาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ และตำบลน้ำดิบ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน โดยได้รับฟังปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค ปัญหาคุณภาพน้ำไม่เหมาะสมต่อการบริโภคในพื้นที่ ซึ่งหน่วยงานในพื้นที่ได้มีการขอรับงบประมาณเพื่อนำมาแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องน้ำ และสามารถจัดสรรงบประมาณตามที่เสนอมาได้ เพื่อต่อยอด พัฒนาโครงการ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งน้ำที่สะอาดและมีคุณภาพอย่างทั่วถึง แก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค สร้างความมั่นคงทางด้านแหล่งน้ำให้แก่ประชาชน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 11 มิถุนายน 2567
6351