การกำหนดให้การไหว้เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ ประเภทการทักทายและการแสดงความเคารพแบบไทย
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 12 June 2024 17:23
- Hits: 8428
การกำหนดให้การไหว้เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ ประเภทการทักทายและการแสดงความเคารพแบบไทย
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการกำหนดให้การไหว้เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ ประเภทการทักทายและการแสดงความเคารพแบบไทย ตามมติคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ (กอช.) เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2567 ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
สปน. รายงานว่า
1. ในการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาเอกลักษณ์ของชาติในมิติต่างๆ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 มีมติเห็นชอบให้เสนอการไหว้เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ โดยให้กำหนดว่าเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติประเภทใด และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการ (สปน.) เพิ่มเติมรายละเอียดในประเด็นสำคัญ ความหมาย ความหลากหลายและความลุ่มลึกของการไหว้ไทย1 ให้มีความสมบูรณ์ ก่อนนำเสนอ กอช. พิจารณา
2. จากการศึกษาพบว่า
2.1 การไหว้ เป็นท่าทางการพนมมือเพื่อแสดงความเคารพหรือแสดงความรู้สึกของคนไทยที่ปฏิบัติกันทั่วไปในสังคม จนกลายเป็นลักษณะนิสัยเฉพาะประการหนึ่งของคนไทย ซึ่งต่างจากกิริยาหรือการแสดงออกที่คล้ายคลึงกันในสังคมอื่นๆ กิริยาการไหว้สันนิษฐานว่ามีมาแต่โบราณ ซึ่งอาจเริ่มต้นจากความเชื่อของมนุษย์ในเรื่องการมีอยู่ก่อนจิตวิญญาณหรืออำนาจเหนือธรรมชาติที่ทำให้มนุษย์เกรงกลัวและกระทำการบูชาด้วยวิธีต่างๆ ผ่านการแสดงออกทางร่างกาย ได้แก่ ศีรษะ ลำตัว แขน มือ และเท้า ในชั้นต้น การไหว้อาจเน้นไปที่ปัจเจกบุคคลทำความเคารพต่อผู้ที่อาวุโสหรือมีศักดิ์มากกว่า การแสดงอากัปกิริยาดังกล่าวนี้ ในอารยธรรมอินเดียโบราณ เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “มุทรา” แปลว่าเครื่องหมายหรือตราประทับและยังอาจแปลว่าท่าทางการแสดงมือด้วยก็ได้ ซึ่งเป็นการแสดงกิริยาที่สัมพันธ์กับคติทางศาสนา สำหรับการแสดงมือเป็นลักษณะท่าไหว้ที่มีปรากฏในศิลปะอินเดีย จัดเป็นมุทราลักษณะหนึ่งเรียกว่า “อัญชลีมุทรา” นิยมใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงความเคารพหรือทักทายกัน พร้อมกับกล่าวคำว่า “นมัสเต” ทั้งนี้ นอกจากอัญชลีมุทราจะมีการปฏิบัติกันแพร่หลายในอินเดียแล้ว ยังมีการปฏิบัติกันในภูมิภาคเอเชียและที่อื่นๆ ที่ได้รับอิทธิพลอารยธรรมอินเดียด้วย เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวทักทายด้วยการประนมมือพร้อมกล่าวคำว่า “สะบายดี” ราชอาณาจักร กัมพูชาทักทายด้วยการประนมมือ โค้งเล็กน้อย พร้อมกับกล่าวคำว่า “ซัวสเด” และราชอาณาจักรไทยกล่าวทักทายว่า “สวัสดี” ประกอบการไหว้2
2.2 การไหว้ของไทย สันนิษฐานว่าได้รับเข้ามาพร้อมกับการเข้ามาของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาพุทธในดินแดนไทย การไหว้เป็นกิริยาทั้งแสดงความเคารพ แสดงการทักทายหรือแสดงความรู้สึกตามแต่โอกาสและบริบท ในมิติด้านศาสนาปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงให้เห็นว่าการไหว้เป็นกิริยาแสดงความเคารพบูชาต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตั้งแต่ยุคแรกที่ศาสนาพุทธเข้ามาในไทย เช่น ภาพสลักพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม (ปฐมเทศนา) ศิลปะสมัยทวารทวารวดี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 13 พบที่วัดไทร จังหวัดนครปฐม แสดงรูปพระพุทธเจ้าโปรดเหล่าปัญจวัคคีย์ ซึ่งเหล่าปัญจวัคคีย์ล้วนแสดงกิริยาเคารพด้วยการไหว้ อย่างไรก็ตาม แต่เดิมการไหว้ของไทยไม่ปรากฏแบบแผนท่วงท่าชัดเจน สามารถไหว้ได้ในหลายอิริยาบถไม่ว่าจะนั่งหรือยืน ดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้ทรงอธิบายถึงลักษณะการไหว้ของคนไทยว่ามีหลายลักษณะไว้ในหนังสือ “สาส์นสมเด็จ” เช่น (1) ไหว้มือเดียวไม่ว่าท่าใดๆ แล้วแต่กรณี อย่างที่เรียกว่า “เอางาน” (2) ไหว้สองมือ ไม่ว่าท่าใดๆ แล้วแต่กรณี (3) ยืนไหว้ อย่างวันทาพระสถูปและอุปัชฌาย์ (4) นั่งหย่องไหว้ (5) นั่งคุกเข่าไหว้ (6) นั่งพับเพียบไหว้ (7) คุกเข่ากราบ (8) พับเพียบกราบ
2.3 ต่อมาในปี 2505 กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยกองวัฒนธรรมได้กำหนดให้การไหว้เป็นส่วนหนึ่งของมารยาทไทยอย่างเป็นทางการ โดยมีหม่อมหลวงปีย์ มาลากุล เป็นผู้ให้คำแนะนำ และได้มีการจัดพิมพ์หนังสือ “มารยาทไทย” ซึ่งหนังสือดังกล่าวได้กำหนดให้การไหว้เป็นส่วนหนึ่งในมารยาทเรื่องการแสดงความเคารพ ต่อมากระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้มีการจัดพิมพ์และเผยแพร่หนังสือ “มารยาทไทย มารยาทสังคม” มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
(1) การไหว้ประกอบด้วยกิริยา 2 ส่วนคือ 1) การประนมมือ (อัญชลี) เป็นการแสดงความเคารพ โดยการกระพุ่มมือเล็กน้อย ให้ปลายนิ้วทั้งสองข้างชิดกัน ฝ่ามือทั้งสองประกบเสมอกันแนบหว่างอก ปลายนิ้วเฉียงขึ้นพอประมาณ แขนแนบลำตัว ไม่กางศอกทั้งชายและหญิงปฏิบัติเหมือนกัน ใช้ในเวลาฟังพระสวดมนต์ ฟังพระธรรมเทศนา สนทนากับพระภิกษุ รับพรจากผู้ใหญ่ และรับความเคารพจากผู้ที่อายุน้อยกว่า และ 2) การไหว้ (วันทนาหรือวันทา) เป็นการแสดงความเคารพ โดยการประนมมือแล้วยกมือทั้งสองข้างขึ้นจรดใบหน้า ให้เห็นว่าเป็นการแสดงความเคารพอย่างสูง ยิ่งโน้มตัวลงต่ำเท่าใด ยิ่งแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตนหรือเคารพนบนอบเท่านั้น โดยปกติจะไหว้ผู้มีอาวุโสมากกว่า
(2) ระดับของการไหว้ แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่
(2.1) การไหว้ระดับที่ 1 การไหว้พระ ได้แก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รวมทั้งปูชนียสถาน ปูชนียวัตถุที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ในกรณีที่ไม่สามารถกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ได้ ให้ประนมมือ แล้วยกขึ้นพร้อมกับค้อมศีรษะลงให้หัวแม่มือจรดหว่างคิ้ว ปลายนิ้วชี้แนบส่วนของหน้าผาก
(2.2) การไหว้ระดับที่ 2 การไหว้ผู้มีพระคุณและผู้ที่มีอายุมาก ได้แก่ ปู่ ย่า ตา ยาย บิดา มารดา ครู อาจารย์ และผู้ที่เราเคารพนับถือ ให้ประนมมือแล้วยกขึ้นพร้อมค้อมศีรษะลง ให้หัวแม่มือจรดปลายจมูก ปลายนิ้วชี้แนบหว่างคิ้ว
(2.3) การไหว้ระดับที่ 3 การไหว้บุคคลทั่วไปที่เคารพนับถือหรือผู้ที่มีอายุมากกว่าเล็กน้อย ให้ประนมมือแล้วยกขึ้นพร้อมกับค้อมศีรษะลง ให้หัวแม่มือจรดปลายคาง ปลายนิ้วชี้แนบปลายจมูก สำหรับการไหว้ในระดับที่ 3 นี้ จะใช้แสดงความเคารพผู้ที่มีอายุเท่ากันหรือเพื่อนกันได้ด้วย โดยยืนตรงไหว้ไม่ต้องค้อมศีรษะลง
(3) การไหว้ในกาลเทศะต่างๆ ได้แก่ การไหว้พระรัตนตรัย เป็นการแสดงความเคารพต่อพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ การไหว้เพื่อแสดงความรู้สึกหรือแสดงความเคารพ เช่น ไหว้ทักทาย ไหว้ขอบคุณ ไหว้ขอโทษ การไหว้เจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ สถานที่ สิ่งของ เช่น ไหว้ศาลหลักเมือง วัด โบสถ์ ไหว้ศาลพระภูมิเจ้าที่ ไหว้ศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่ และการไหว้ในพิธีกรรม เช่น ไหว้ครู ไหว้เครื่องดนตรีไทย ไหว้พ่อแก่หัวโขนเศียรครู
2.4 การไหว้ของไทยเป็นการแสดงออกทางสังคมหรือธรรมเนียมปฏิบัติที่ผูกพันกับวิถีชีวิตคนไทยที่เราต่างคุ้นเคยและประพฤติปฏิบัติอยู่เสมอในชีวิตประจำวันซึ่งได้มีการปรับและพัฒนามาจากในอดีตจนมีความหลากหลาย ความลุ่มลึก และความหมายในการแสดงออกที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัว โดยในปี 2554 วธ. โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้มีการขึ้นทะเบียนการแสดงความเคารพแบบไทย (เช่น ประนมมือ ไหว้ กราบ ถวายความเคารพ) เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในสาขาแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี และเทศกาล ซึ่งการขึ้นทะเบียนดังกล่าวถือเป็นความสอดคล้องและเชื่อมโยงกับการประกาศให้เรื่องการไหว้เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติของไทย เนื่องจากการไหว้ถือเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง ปัจจุบัน “การไหว้” ผู้กำหนดให้เป็นการแสดงความเคารพที่มีแบบแผนชัดเจนอันเป็นการช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ มิตรภาพ ความเข้าใจอันดีในสังคม และยังเป็นการแสดงความเคารพที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยจะเห็นได้จากในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) บรรดาผู้นำชาติต่างๆ หน่วยงานและองค์การระหว่างประเทศได้มีการแสดงความเคารพหรือให้คำแนะนำในการแสดงออกเรื่องการทักทายด้วยการไหว้ เพื่อเป็นการลดการสัมผัสระหว่างกัน
3. ในการประชุม กอช. เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2567 มีมติเห็นชอบการกำหนดให้การไหว้เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ ประเภทการทักทายและการแสดงความเคารพแบบไทย และให้ฝ่ายเลขานุการ (สปน.) นำเรื่องดังกล่าวเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อประกาศเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติในราชกิจจานุเบกษาต่อไป เนื่องจากเห็นว่าการไหว้เป็นการแสดงออกทางสังคมหรือธรรมเนียมปฏิบัติ ผูกพันกับวิถีชีวิตของคนไทย การเสนอให้การไหว้เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติจึงมีความเหมาะสมก่อให้เกิดการเรียนรู้ธรรมเนียมปฏิบัติอันงดงาม สะท้อนให้เห็นความหมายที่สื่อออกมาจากการปฏิบัติในเรื่องการไหว้ของไทย สร้างความภาคภูมิใจและเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของชาติ รวมทั้งยังเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่สำคัญทางวัฒนธรรมของไทยที่จะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยในระดับสากล ตลอดจนต่อยอดไปสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) หรือประเด็นอื่นได้
4. สปน. ได้ขอให้คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าว ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2567 มีมติเห็นชอบในหลักการกำหนดให้การไหว้เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติและมอบหมายให้ สปน. (สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ) นำเรื่องดังกล่าวเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
________________________________
1ความหลากหลายและความลุ่มลึกของการไหว้ไทยที่แตกต่างจากประเทศอื่น ความหลากหลาย เช่น การไหว้ผู้อาวุโสเพื่อแสดงการทักทาย การไหว้เพื่อแสดงการขอโทษ ความลุ่มลึก เช่น การไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งที่มองไม่เห็น บุคคลที่เสียชีวิตไปแล้ว
2คำทักทายว่า “สวัสดี” ประกอบการไหว้ พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) เป็นผู้ริเริ่มใช้คำว่า “สวัสดี” เป็นคำทักทายที่ใช้ในเวลาที่พบกัน โดยเริ่มใช้ในหมู่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นที่แรก เมื่อปี 2476 และนิยมกันแพร่หลาย ต่อมาในปี 2481 ขณะที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) ได้มีประกาศกำหนดให้ใช้คำว่า “สวัสดี” เป็นคำทักทายของคนไทย ด้วยเหตุนี้ ในเวลาทักทายกัน นอกจากการแสดงกิริยาไหว้แล้ว ยังตามด้วยคำว่า “สวัสดี” อีกด้วย นับจากนั้น การแสดงกิริยาไหว้พร้อมกล่าวคำว่า “สวัสดี” ได้กลายเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติที่เผยแพร่ไปสู่สังคมโลก
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 11 มิถุนายน 2567
6354