ข้อเสนอแนะแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในการบริหารจัดการกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 12 June 2024 18:42
- Hits: 8422
ข้อเสนอแนะแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในการบริหารจัดการกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณาข้อเสนอแนะแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในการบริหารจัดการกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต (กองทุนฯ) (ข้อเสนอแนะฯ) ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ และแจ้งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบต่อไป
เรื่องเดิม
คณะรัฐมนตรีมีมติ (9 เมษายน 2567) รับทราบข้อเสนอแนะฯ ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) เสนอ และให้ ศธ. เป็นหน่วยงานหลัก รับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง (กค.) สำนักงบประมาณ (สงป.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้ข้อยุติ โดยให้ ศธ. สรุปผลการพิจารณา/ผลการดำเนินการ/ความเห็นในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้รับแจ้งจาก สลค. เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
ศธ. รายงานว่าได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กค. สงป. และ สตง. พิจารณาข้อเสนอแนะฯ ในภาพรวมแล้ว และได้เห็นชอบในหลักการตามข้อเสนอแนะฯ โดยมีสาระสำคัญ 3 ประเด็น ประกอบด้วย (1) ระบบการบริหารจัดการและการคัดเลือกนักเรียนทุน (2) ระบบการบริหารเงินกองทุนและการเบิกจ่ายเงินกองทุน และ (3) ระบบการติดตามและประเมินผลและการรายงานผลการดำเนินการเงินกองทุน ที่มุ่งเน้นการพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินการให้เกิดความโปร่งใสมีการเปิดเผย ตรวจสอบได้ในทุกกระบวนการ และเพื่อให้กองทุนฯ บรรลุวัตถุประสงค์และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป รวมทั้งได้มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการบริหารจัดการความเสี่ยงของการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาการศึกษาอื่นด้วย โดยสรุปผลการดำเนินการได้ ดังนี้
ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. |
สรุปผลการดำเนินการในภาพรวม |
|
1. ระบบการบริหารจัดการและการคัดเลือกนักเรียนทุน |
||
ให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ดำเนินการ ดังนี้ 1.1 กำหนดแนวทางหรือรูปแบบการประเมินความเสี่ยงต่อการทุจริตของกองทุนฯ ในแต่ละกระบวนงานและกำหนดแนวทางในการควบคุม 1.2 ดำเนินการตามข้อเสนอแนะการควบคุมการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานของรัฐในการปฏิบัติงานที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน [มติคณะรัฐมนตรี (25 กรกฎาคม 2566)] โดยเฉพาะข้อเสนอแนะที่ให้กำหนดหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจเกี่ยวกับการกำหนดทุนการศึกษา คุณสมบัติของผู้มีสิทธิรับทุน และเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกที่เป็นมาตรฐานเดียวกันในทุกพื้นที่เพื่อป้องกันการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวต้องทำหลักเกณฑ์หรือประกาศแนวทาง และคู่มือ เพื่อเป็นแนวทางในการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานของรัฐ/เจ้าหน้าที่ที่ชอบด้วยกฎหมาย โดยผู้ปฏิบัติจะต้องยึดเป็นหลักในการใช้ดุลพินิจและควรมีหลักฐานหรือเอกสารที่ยืนยันว่ามีการใช้ดุลพินิจในลักษณะใด 1.3 สร้างความโปร่งใส เปิดเผย ตรวจสอบได้ในการคัดเลือกผู้มีสิทธิ์ได้รับทุน โดยสถานศึกษาหรือหน่วยงานที่ได้รับการอนุมัติจัดสรรทุนต้องประกาศรายละเอียดที่เกี่ยวข้องเป็นข้อมูลสาธารณะอย่างชัดเจน เช่น ประเภททุน จำนวนทุนหลักเกณฑ์การคัดเลือก รูปแบบการคัดเลือก โดยหากกำหนดให้มีการสอบด้วยข้อเขียนและสัมภาษณ์ ต้องประกาศผลคะแนนตามลำดับผู้มีสิทธิได้รับทุน รวมถึงอาจเปิดโอกาสให้ภาคีภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดแนวทางการดำเนินการระเบียบ วิธี มาตรฐานการคัดเลือกและร่วมตรวจสอบคุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับทุน |
(1) สป.ศธ. มีคู่มือและแนวทางการดำเนินงานของกองทุนฯ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2566) และได้ประกาศเผยแพร่ และประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานหรือผู้ที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน (2) มีการจัดทำประกาศ ศธ. เรื่อง ผลการคัดเลือกผู้ที่ได้รับทุนการศึกษาเสมาพัฒนาชีวิต และส่งให้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเพื่อแจ้งสถานศึกษาของผู้รับทุนทราบต่อไป (3) คณะกรรมการกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต(คณะกรรมการกองทุนฯ) มีมติเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567 เห็นชอบการปรับแก้ไขระเบียบ ศธ. ว่าด้วยกองทุนฯ พ.ศ. 2565 เพื่อเปิดโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในการจัดสรรทุนให้กับผู้เรียนและครอบคลุมการศึกษาทุกระดับชั้นและทุกสังกัดโดยปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์ของกองทุนประเภททุนการศึกษา ให้ครอบคลุมกลุ่มผู้เรียนที่ยากจนในทุกระดับชั้นและทุกสังกัดที่ไม่สามารถขอรับทุนการศึกษาจากแหล่งอื่นได้โดยให้พิจารณาเป็นอันดับแรก [เดิมเป็นการสนับสนุนทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนนักศึกษา ที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น/มัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ซึ่งพบว่ามีผู้เรียนบางส่วนยากจนแต่ไม่มีคุณสมบัติในระดับการศึกษาที่กำหนด ทำให้ขาดโอกาสในการสมัครขอรับทุน อีกทั้งผู้ได้รับทุนการศึกษาส่วนใหญ่มีการขอรับทุนจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) อีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งแตกต่างจากผู้เรียนบางส่วนที่ไม่ได้รับทุนจากกองทุนใดเลย] (4) มีการจัดทำรายงานการประเมินความเสี่ยงการควบคุมควบคุมภายใน และขั้นตอนการเบิกจ่ายเงินกองทุนฯ เพื่อป้องกันการทุจริต รวมทั้งมีการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานเป็นข้อมูลสาธารณะ |
|
2. ระบบการบริหารเงินกองทุนและการเบิกจ่ายเงินกองทุนฯ |
||
ให้ สป.ศธ. ดำเนินการ ดังนี้ 2.1 ซักซ้อมความเข้าใจให้กับเจ้าหน้าที่และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารเงินและเบิกจ่ายเงินกองทุนฯ เพื่อเน้นย้ำวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ แนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้องและสอดคล้องกับระเบียบวิธีปฏิบัติและบทลงโทษที่เกิดจากการทุจริต 2.2 จัดทำปฏิทินการดำเนินการและกรอบระยะเวลาการเบิกจ่าย/โอนเงินที่ชัดเจนและอาจนำข้อมูลหรือความรู้เกี่ยวกับการบริหารเงินกองทุนฯ และกระบวนการเบิกจ่ายเงินกองทุนฯ ได้แก่ การรับเงิน การเก็บรักษาเงิน การเบิกจ่ายเงิน และการรายงานผลการใช้จ่าย มาจัดทำเป็นข้อมูลสารสนเทศในลักษณะที่เข้าใจได้ง่าย เช่น จัดทำเป็นแผนผังหรือ Infographic เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าใจได้ง่ายและปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง |
(1) สป.ศธ. ได้แจ้งเวียนหลักเกณฑ์และแนวทางการบริหารเงินกองทุนฯ แก่เจ้าหน้าที่และผู้ที่เกี่ยวข้องตามคู่มือและแนวทางการดำเนินงานของกองทุนฯ ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2566 พร้อมทั้งจัดทำปฏิทินและระยะเวลาการเบิกจ่าย/โอนเงินที่ระบุผู้รับผิดชอบในแต่ละขั้นตอนโดยละเอียด (2) มีแผนจะจัดทำระบบข้อมูลสารสนเทศสำหรับจัดเก็บรายละเอียดสถานะของผู้รับทุนที่เป็นปัจจุบันเพื่อป้องกันการลาออกกลางคัน/ไม่สำเร็จการศึกษาและอาจมีการเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกับ กยศ. ในอนาคต ทั้งนี้ในปัจจุบันกองทุนฯ สามารถตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารหลักฐานการเบิกจ่าย/การโอนเงินผ่านระบบ Krungthai Corporate Online ซึ่งสามารถตรวจสอบผลการโอนเงินได้ทันที |
|
3. ระบบการติดตามและประเมินผลและการรายงานผลการดำเนินการเงินกองทุนฯ |
||
ให้ สป.ศธ. ดำเนินการ ดังนี้ 3.1 เพิ่มความเข้มงวดในขั้นตอนการตรวจสอบติดตาม/ประเมินผลภายในหน่วยงาน เช่น ใช้กลไกของการตรวจสอบภายใน มีการสอบทานหน่วยงานเบิกจ่ายและหน่วยงานที่รับโอนเงิน เพิ่มบทบาทการตรวจสอบของคณะกรรมการกองทุนฯ และคณะกรรมการกองทุนฯจังหวัด ที่บริหารจัดการในระดับพื้นที่ รวมถึงให้ความสำคัญกับข้อสังเกตและคำแนะนำจากหน่วยงานภายนอก เช่น สตง. 3.2 จัดทำข้อมูล/ข้อเท็จจริง เช่น รายละเอียดกองทุนฯ รายงานผลการดำเนินการประจำปี รายงานการเงินคงเหลือปฏิทินการดำเนินการ การติดตามผลสัมฤทธิ์ของผู้ได้รับทุน การส่งต่อนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาและการประชาสัมพันธ์เชิงรุกผ่านช่องทางต่างๆ เช่น สื่อออนไลน์ เว็บไซต์ เพื่อให้ภาคประชาชนรับทราบการดำเนินงานของกองทุนฯ และสามารถมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลและเฝ้าระวังการทุจริต 3.3 เพิ่มช่องทางการรายงานผลการดำเนินงานกองทุนฯ ให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ เช่น ระบบออนไลน์ และไม่ต้องจัดทำข้อมูลรายงานในรูปแบบกระดาษ ซึ่งจะทำให้มีการรายงานผลการดำเนินโครงการต่อเนื่องและผู้ที่มีหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินโครงการรับทราบความเคลื่อนไหวของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ที่เป็นปัจจุบันมากขึ้น 3.4 เพิ่มระบบการแจ้งเตือนข้อมูล เกี่ยวกับการดำเนินงานของกองทุนฯ ให้แก่ผู้ได้รับทุนเช่น รายงานการดำเนินงานกองทุนฯ สถานะการคัดเลือก สถานะการโอนเงิน โดยเลือกใช้ช่องทางที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้ได้รับทุนเข้าถึงข้อมูลที่เป็นปัจจุบันได้ง่ายและเป็นการรักษาสิทธิ์ของการรับทุน 3.5 การกำหนดแนวทางและช่องทางให้ผู้มีส่วนได้เสียของกองทุนฯ สามารถร่วมประเมินผลประโยชน์ที่ได้รับ โดยสามารถประเมินผลด้านประสิทธิภาพ ความพึงพอใจรวมถึงการให้ข้อเสนอแนะอื่นๆ |
สป.ศธ. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการกองทุนฯ ซึ่งมีหน้าที่หนึ่งในการรายงานผลการดำเนินงานและประสานงานกับสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดผ่านแอปพลิเคชันไลน์และได้มอบหมายให้คณะกรรมการกองทุนฯ จังหวัดติดตามประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนฯ ระดับจังหวัด เพื่อรายงานผลการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการกองทุนฯ นอกจากนี้ ได้วางแผนการจัดทำระบบฐานข้อมูลต่างๆ เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับผู้รับทุน รายงานผลการดำเนินการประจำปี รายงานการเงิน ยอดเงินคงเหลือ ปฏิทินการดำเนินการ การติดตามผลสัมฤทธิ์ของผู้ได้รับทุน รวมทั้งเพิ่มช่องทางการติดตามและรายงานผลผ่านระบบออนไลน์อย่างน้อย 3 ช่องทาง เช่น เว็บไซต์ของ ศธ. เว็บไซต์ของ สป.ศธ. และเฟซบุ๊กของหน่วยงานภายใน ศธ. |
|
4. แหล่งที่มาของเงินทุน |
||
ให้ สป.ศธ. ตระหนักถึงความยั่งยืนของกองทุนฯ โดยคำนึงถึงประเด็นต่างๆ เช่น การพิจารณาขอรับการจัดสรรเงินทุนจากแหล่งเงินงบประมาณอื่นๆ นอกเหนือจากการใช้ทุนประเดิมจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในการบริหารจัดการกองทุน เพื่อการศึกษาทั้งระบบ ทั้งนี้ ศธ. ควรนำข้อเสนอแนะดังกล่าวไปใช้กับกองทุนเพื่อการศึกษาอื่นๆ ภายใต้สังกัดหน่วยงานอื่นด้วย |
สป.ศธ. มีการแจ้งเวียนข้อเสนอแนะฯ ตามมติคณะรัฐมนตรี (9 เมษายน 2567) เพื่อนำไปใช้ในการบริหารจัดการความเสี่ยงของการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาการศึกษาอื่นๆ ต่อไป |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 11 มิถุนายน 2567
6360