WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

 

 

MTI 720x100

 

ผลการดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี

Gov ประเสริฐ จันทรรวงทอง

ผลการดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี

          คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ ดังนี้

          สาระสำคัญและข้อเท็จจริง

          กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้จัดประชุมโดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (นายประเสริฐ จันทรรวงทอง) เป็นประธานเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 และวันที่ 4 มิถุนายน 2567 กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) สมาคมธนาคารไทย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไหย ตลอดจนกระทรวงกลาโหม (กห.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) และกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เพื่อบูรณาการทำงานและขับเคลื่อนการแก้ปัญหาภัยออนไลน์

          สำหรับผลการดำเนินงานที่สำคัญในระยะ 30 วัน มีดังนี้

          1. การปราบปรามจับกุมอาชญากรรมออนไลน์

               สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ดำเนินการปราบปรามจับกุมอาชญากรรมออนไลน์และมีคดีที่สำคัญ รวมทั้งเร่งรัดจับกุมผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้อง ในช่วงวันที่ 1-31 พฤษภาคม 2567 เทียบกับการดำเนินงานช่วงที่ผ่านมา ดังนี้

               1) การจับกุมคดีอาชญากรรมออนไลน์รวมทุกประเภท ในเดือนพฤษภาคม 2567 มีจำนวน 2,295 คน ลดลงร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับการจับกุมเฉลี่ย 2,495 คนต่อเดือน ในช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม 2567

               2) การจับกุมคดีเว็บพนันออนไลน์ ในเดือนพฤษภาคม 2567 มีจำนวน 991 ราย ลดลงร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับการจับกุมเฉลี่ย 1,064 คนต่อเดือน ในช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม 2567

               3) การจับกุมคดีบัญชีม้า ชิมม้า ในเดือนพฤษภาคม 2567 มีจำนวน 199 ราย ลดลงร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับการจับกุมเฉลี่ย 240 คนต่อเดือน ในช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม 2567

               4) การจับกุมครั้งสำคัญของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในห้วงเดือนพฤษภาคม 2567 อาทิ (1) การจับกุมคดี พนันออนไลน์ เว็บไซต์ บ้านหวย. com โดยจับกุมผู้ต้องหาได้ 9 ราย เงินหมุนเวียนประมาณ 80 ล้านบาทต่อเดือน โดยสามารถยึดทรัพย์เพื่อตรวจสอบมูลค่าประมาณ 70 ล้านบาท (2) ปฏิบัติการ “HANG UP” บุกทลายเว็บพนันใหญ่ “หวานเจี๊ยบ” มีเงินหมุนเวียนหนึ่งพันล้านบาทต่อเดือน (3) ปฏิบัติการแก๊ง Call Center หลอกลวงข้ามชาติเมืองโอเสม็ด ประเทศกัมพูชา โดยได้ดำเนินการจับกุมผู้ต้องหาแล้ว 12 ราย โดยมีการกำหนดเป้าหมายว่า ในรอบ 1 สัปดาห์ต้องหลอกผู้เสียหายให้ได้ขั้นต่ำ 20 ล้านบาท รายได้หมุนเวียนต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 80 ล้านบาท และ (4) การจับกุมและขยายผลกระบวนการหลอกลงทุนคริปโต 530 ล้านบาท ซึ่งมีการเชื่อมโยงกับการพนันออนไลน์จำนวน 2 เครือข่าย ซึ่งมียอดเงินหมุนเวียนกว่า 13,000 ล้านบาท จับกุม 25 ราย โดยยึดทรัพย์สินกว่า 125 ล้านบาท 

               กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ดำเนินการจับกุมคดีที่สำคัญได้แก่ คดีเว็บพนันออนไลน์เครือข่าย (แม่มนต์) เมื่อวันพุธที่ 15 พฤษภาคม 2567 โดยมีวงเงินหมุนเวียนในบัญชีกว่า 150 ล้านบาท

          2. การปิดกั้นโซเซียลมีเดีย เว็บผิดกฎหมาย และเว็บพนัน

               กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้เร่งรัดปิดกั้นเว็บไซต์ผิดกฎหมาย ในช่วงวันที่ 1-31 พฤษภาคม 2567เทียบกับการดำเนินงานช่วงที่ผ่านมา สรุปผลได้ดังนี้

               1) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ดำเนินการปิดกั้นเว็บไซต์ผิดกฎหมายทุกประเภท ในเดือนพฤษภาคม 2567 จำนวน 15,758 รายการ เพิ่มขึ้น 9.3 เท่า จากเดือนพฤษภาคม 2566 ที่มีการปิดกั้นเว็บไซต์ผิดกฎหมายทุกประเภท จำนวน 1,687 รายการ

               2) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ดำเนินการปิดกั้นเว็บไซต์ประเภทพนันออนไลน์ในเดือนพฤษภาคม 2567 จำนวน 6,459 รายการ เพิ่มขึ้น 82.8 เท่า จากเดือนพฤษภาคม 2566 ที่มีการปิดกั้นเว็บไซต์ประเภทพนันออนไลน์ จำนวน 78 รายการ

          3. มาตรการแก้ไขปัญหาบัญชีม้า เร่งอายัดและตัดตอนการโอนเงิน

               1) ระงับบัญชีม้าแล้วกว่า 800,000 บัญชี แบ่งเป็นสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินปิด 344,079 บัญชี ธนาคารระงับ 300,000 บัญชี และศูนย์ปฏิบัติการแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ระงับ 171,794 บัญชี

               2) กำหนดมาตรการและเงื่อนไขการเปิดบัญชีใหม่ เพื่อป้องกันการนำไปกระทำความผิดโดยเพิ่มกระบวนการพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริง Customer Due Diligence หรือ CDD โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงธนาคารต้องตรวจสอบให้เคร่งครัดมากขึ้นก่อนอนุมัติ ปิดบัญชี โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการออกหนังสือเวียนแล้ว เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 

               3) กวาดล้างบัญชีม้าจากการใช้รายชื่อเจ้าของบัญชีม้า และรายชื่อผู้กระทำผิดกฎหมาย โดยใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ทำการปิดบัญชีธนาคารทุกธนาคารจากชื่อบุคคลดังกล่าว โดยตั้งเป้าระงับ/ปิดบัญชีม้ามากกว่า 12,000 คนต่อเดือน หรือ 100,000 บัญชีต่อเดือน

          4. มาตรการแก้ไขปัญหาซิมม้าและซิมที่ผูกกับโมบายแบงก์กิ้ง

               ผลการดำเนินงานสำคัญถึงวันที่ 26 พฤษภาคม 2567 ดังนี้

               1) การระงับเลขหมายโทรศัพท์ที่มีการโทรออกเกิน 100 ครั้งต่อวัน จำนวน 42,298 เลขหมาย มีผู้มายืนยันตัวตน 372 เลขหมาย และไม่มายืนยันตัวตน 41,926 เลขหมาย

               2) การกวาดล้างซิมม้าและซิมต้องสงสัย โดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และโทรคมนาคมแห่งชาติ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวตนและผลการดำเนินงาน ดังนี้

                   2.1) กลุ่มผู้ถือครองซิมการ์ดมากกว่า 100 ซิม โดยมีจำนวนเลขหมายที่เข้าข่ายจำนวน 5.0 ล้านเลขหมาย ซึ่งครบกำหนดการยืนยันตัวตนเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 มีผู้มายืนยันตัวตนแล้วจำนวน 2.6 ล้านเลขหมาย และไม่มีผู้มายืนยันตัวตน จำนวน 2.4 ล้านเลขหมาย โดยในกลุ่มที่ยังไม่มายืนยันตัวตน ถูกระงับซิมไปแล้วทั้งสิ้น 2.3 ล้านเลขหมาย

                  2.2) กลุ่มผู้ถือครองซิมการ์ดตั้งแต่ 6-100 เลขหมายต่อค่ายมือถือ จะต้องยืนยันตัวตนภายในวันที่ 13 กรกฎาคม 2567 ซึ่งมีเลขหมายที่เข้าข่าย 4.0 ล้านเลขหมาย มีผู้มายืนยันตัวตนแล้ว 1.0 ล้านเลขหมาย และยังไม่มายืนยันตัวตน จำนวน 3.0 ล้านเลขหมาย

               3) การตรวจสอบซิมที่ใช้กับโมบายแบงกิ้ง โดยกระบวนการตรวจสอบดังกล่าวคาดว่าจะแล้วเสร็จในระยะเวลา 120 วัน หรือประมาณเดือนตุลาคม 2567 โดยในระหว่างดำเนินการประชาชนยังสามารถใช้งานโมบายแบงก์กิ้งได้ตามปกติ ในส่วนของข้อยกเว้นต่างๆ ที่ปรากฏตามสื่อยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชน และจะมีการแจ้งรายละเอียดให้ประชาชนทราบโดยเร็ว

               4) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และโทรคมนาคมแห่งชาติ มีความเข้มงวดในการเปิดใช้ซิมใหม่ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การลงทะเบียนและยืนยันตัวตนของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และโทรคมนาคมแห่งชาติ เพื่อป้องกันการนำซิมไปใช้กระทำผิดกฎหมาย

          5. การดำเนินการเรื่องเสาโทรคมนาคม สายสัญญาณอินทอร์เน็ต และสายโทรศัพท์ที่ผิดกฎหมายตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน

          สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และโทรคมนาคมแห่งชาติ ได้มีหนังสือให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตตรวจสอบการให้บริการโทรคมนาคมบริเวณชายแดนที่มีความเสี่ยง และทำการรื้อถอน ปรับทิศทาง หรือลดกำลังส่งสายอากาศเพื่อให้มีพื้นที่การให้บริการครอบคลุมเฉพาะภายในประเทศ ในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก อ.แม่สาย อ.เชียงของ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี อ.เมือง จ.ระนอง โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 19 มิถุนายน 2567 

          6. การแก้กฎหมายเร่งด่วน

               1) การแก้กฎหมายพิเศษแบบเร่งด่วนใน 3 ประเด็น ดังนี้ (1) เร่งรัดการคืนเงินให้ผู้เสียหาย (2) การเพิ่มโทษการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล และ (3) การป้องกันการโอนเงินแบบผิดกฎหมายของคนร้ายโดยการใช้สินทรัพย์ดิจิทัล

               2) มาตรการปรับปรุงกฎระเบียบ/แนวปฏิบัติเพื่อการป้องกันการโอนเงินแบบผิดกฎหมายของคนร้าย โดยการใช้สินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะที่เป็นแพลตฟอร์มซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลในต่างประเทศที่ผิดกฎหมาย ดังนี้

                   2.1) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ร่วมกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ผลักดันให้มีการยกระดับหลักเกณฑ์ด้านการฟอกเงินของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลด้านการฟอกเงินของ Financial Action Task Force (FATF)

                   2.2) สมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย (TDO) ได้จัดทำแนวทางปฎิบัติงาน เรื่องการพิจารณาบัญชีต้องสงสัยว่าถูกใช้ในการกระทำผิด เพื่อเป็นแนวปฏิบัติ (guideline) สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในการพิจารณาคัดกรองการเปิดบัญชีและการทำธุรกรรมที่ต้องสงสัยว่าถูกใช้ในการกระทำความผิด

               3) การแก้ไขปัญหาการซื้อขายสินค้าหรือบริการออนไลน์แบบใช้บริการเก็บเงินปลายทาง (COD) โดยเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้จัดรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทางเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. ….

          7. การเพิ่มบทบาท ความรับผิดชอบให้ผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ผู้ให้บริการโทรคมนาคม (Mobile Operator) และภาคธนาคาร (Banking)

          กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้หารือร่วมกับบริษัท ไลน์ประเทศไทยแพลตฟอร์ม Meta และ X เพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหาภัยออนไลน์เชิงรุก ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์และการปิดกั้น URL ที่ผิดกฎหมายแบบเชิงรุก

          8. การบูรณาการข้อมูลโดยศูนย์ AOC และการแก้ปัญหาข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล

          กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จับมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และโทรคมนาคมแห่งชาติ ลงนามบันทึกข้อตกลงเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 เห็นชอบให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center : AOC) หรือศูนย์ AOC 1441 เป็นระบบหรือกระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อบูรณาการข้อมูลแบบอัตโนมัติ (Automation) และใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ในการวิเคราะห์ข้อมูลระหว่างหน่วยงาน เพื่อรองรับการดำเนินการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีหรืออาจมีการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนให้ศูนย์ AOC 1441 เป็นศูนย์กลางของการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ที่มีความคล่องตัว รวดเร็ว แม่นยำ ทันต่อสถานการณ์ ในการแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และศูนย์ AOC 1441 ขณะนี้ได้ใช้ AI (Artificial Intelligence) เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ ตรวจสอบ ข้อมูลบัญชีม้า บัญชีต้องสงสัย เพิ่มความแม่นยำในการทำงานยิ่งขึ้น 

          นอกจากนี้ การแก้ปัญหาข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหลมีความคืบหน้าอย่างชัดเจนจากการตรวจสอบการเผยแพร่ข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชน โดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พบว่า ข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหลลดลงเหลือ 1.21% ในเดือนพฤษภาคม 2567 ลดลงมากกว่า 30% เมื่อเทียบกับการรั่วไหลที่ 31.4% ในเดือนพฤศจิกายน 2566 เป็นการลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากการเร่งเดินหน้าเชิงรุก ความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาครัฐและภาคเอกชนร่วมป้องกันและคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลครบทุกมิติ

          ในภาพรวมการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งรัดจับกุมคนร้ายกวาดล้างบัญชีม้า และซิมม้า เร่งการอายัดบัญชีธนาคาร ตัดเส้นทางการเงิน การปิดกั้นเว็บไซต์ผิดกฎหมายและเว็บพนันออนไลน์ ผลงานมีความชัดเจนต่อเนื่อง มูลค่าความเสียหายจากคดีออนไลน์ต้นเดือนมิถุนายน 2567 ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เหลือเฉลี่ยวันละ 76 ล้านบาท อีกทั้งการปรับปรุงการทำงานร่ามกัน เพื่อมุ่งลดข้อขัดข้องในด้านกฎระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประเมินได้ว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญให้จำนวนผู้เสียหายและมูลค่าความเสียหายจากคดีออนไลน์ลดลงในระยะต่อไป

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ (รองนายกรัฐมนตรี) 18 มิถุนายน 2567

 

 

6565

Click Donate Support Web 

SME720x100 2024

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

EXIM One 720x90 C JMTL 720x100

QIC 720x100

TOA 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

kbank 720x100 66

ธกส 720x100PTG 720x100

ใจฟู720x100px

AXA 720 x100 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!