ขอความเห็นชอบต่อร่างบันทึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศญี่ปุ่นว่าด้วยความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 02 July 2024 22:24
- Hits: 10104
ขอความเห็นชอบต่อร่างบันทึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศญี่ปุ่นว่าด้วยความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างบันทึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศญี่ปุ่นว่าด้วยความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม (ร่างบันทึกความร่วมมือฯ) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำในร่างบันทึกความร่วมมือฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ขอให้ ทส. สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง รวมทั้งอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความร่วมมือฯ ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
(จะมีพิธีลงนามในร่างบันทึกความร่วมมือฯ ระหว่างรัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายในห้วงการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสไทย - ญี่ปุ่น ครั้งที่ 4 ในช่วงเช้าของวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 ณ กรุงเทพมหานครประเทศไทย)
สาระสำคัญของเรื่อง
1. เดิมคณะรัฐมนตรีมีมติ (8 พฤษภาคม 2561) เห็นชอบร่างบันทึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศญี่ปุ่น ว่าด้วยความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม (บันทึกความร่วมมือฉบับเดิม) และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามในบันทึกความร่วมมือฉบับเดิมในโอกาสเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 16 - 18 พฤษภาคม 2561 โดยบันทึกความร่วมมือฉบับเดิม มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างอำนวยความสะดวกและพัฒนาความร่วมมือซึ่งกันและกันในสาขาสิ่งแวดล้อม ตามที่ ทส. เสนอ
2. เนื่องจากบันทึกความร่วมมือฉบับเดิมได้สิ้นสุดผลใช้บังคับลง เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2566 ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการดำเนินแผนงาน/โครงการภายใต้บันทึกความร่วมมือฉบับเดิม ครอบคลุมประเด็นต่างๆ เช่น กลไกเครดิตร่วม (Joint Crediting Mechanism: JCM)1 โครงการขยะทะเลและการกัดเซาะชายฝั่ง โครงการจัดการมลพิษทางอากาศ โครงการจัดการขยะและของเสีย และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น ดังนั้น ทส. (ไทย) และกระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งญี่ปุ่นจึงเห็นชอบร่วมกันที่จะจัดทำร่างบันทึกความร่วมมือฯ ฉบับใหม่ โดยปรับปรุงประเด็นความร่วมมือให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและจะขยายระยะเวลาความร่วมมือต่อเนื่องทุก 5 ปี
3. ร่างบันทึกความร่วมมือฯ ฉบับใหม่ มีสาระสำคัญใกล้เคียงกับบันทึกความร่วมมือฉบับเดิม โดยสิ่งที่เปลี่ยนแปลง ได้แก่ (1) การเพิ่มขึ้นของสาขาความร่วมมือ (2) หน่วยประสานงานกลางของญี่ปุ่น และ (3) การระบุให้ร่างบันทึกความร่วมมือฯ ฉบับใหม่ สามารถขยายระยะเวลาสิ้นสุดของผลใช้บังคับได้โดยอัตโนมัติทุก 5 ปี นอกจากนี้ร่างบันทึกความร่วมมือฯ ฉบับใหม่ จะให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติอันจะนำไปสู่การบรรลุตามความตกลงปารีส2 กรอบงานคุนหมิง – มอนทรีออล3 ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลกและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติ
4. ร่างบันทึกความร่วมมือฯ ฉบับใหม่ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างอำนวยความสะดวกและพัฒนาความร่วมมือซึ่งกันและกันในสาขาสิ่งแวดล้อมและบันทึกความร่วมมือฯ ฉบับนี้ ไม่ใช่สนธิสัญญาและไม่ก่อให้เกิดสิทธิหรือข้อผูกมัดใดๆ ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ
__________________
1JCM เป็นกลไกแบบทวิภาคีที่ประเทศญี่ปุ่นได้ริเริ่มขึ้นเพื่อช่วยให้ประเทศที่มีความร่วมมือสามารถใช้เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำในการทำ โครงการลดก๊าซเรือนกระจกโดยการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลญี่ปุ่น 2ความตกลงปารีส (Paris Agreement) เป็นความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) เพื่อกำหนดมาตรการลดการปล่อยก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 และควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับก่อน การปฏิวัติอุตสาหกรรม 3กรอบงานคุนหมิง - มอนทรีออล (Kunming - Montreal Global Biodiversity Framework) เป็นกรอบงานตามอนุสัญญาว่าด้วย ความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity: CBD) ซึ่งกำหนดเป้าหมายการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความ หลากหลายทางชีวภาพที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ค.ศ. 2030 และการดำเนินงานภายใต้ความตกลงพหุภาคี ด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย 4 ด้าน ในปี ค.ศ. 2050 ได้แก่ (1) การปกป้องและฟื้นฟู (ลดอัตราการสูญพันธุ์ ของสายพันธุ์ที่ถูกคุกคามจากมนุษย์ลง 10 เท่า) (2) การพัฒนาไปกับธรรมชาติ (พื้นฟูระบบนิเวศที่กำลังเสื่อมถอยด้วยการพัฒนาที่ ยั่งยืนเพื่อประโยชน์ของคนรุ่นปัจจุบันและอนาคต) (3) การแบ่งปันผลประโยชน์การใช้ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างเป็นธรรม และ (4) การลงทุนและการร่วมมือ (สมาชิกภาคีสามารถเข้าถึงความรู้ทางเทคนิค/วิทยาศาสตร์ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อดำเนินการ ตามกรอบงานได้อย่างเต็มที่และเท่าเทียม รวมถึงพยายามลดช่องว่างทางการเงินของสมาชิกภาคี)
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 2 กรกฎาคม 2567
7075