WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

 

 

MTI 720x100

 

ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมเมืองตะกั่วป่า จังหวัดพังงา พ.ศ. ....

Gov 17

ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมเมืองตะกั่วป่า จังหวัดพังงา พ.ศ. ....

          คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ดังนี้ 

          1. เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมเมืองตะกั่วป่า จังหวัดพังงา พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ 

          2. ให้กระทรวงมหาดไทยรับความเห็นของกระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

          ข้อเท็จจริงและสาระสำคัญของร่างประกาศ 

          1. มท. โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองได้ดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองรวมเมืองตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 (ผังเดิมสิ้นสุดการใช้บังคับเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2552) โดยมีสาระสำคัญเพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาการดำรงเมืองและบริเวณที่เกี่ยวข้องหรือชนบทในด้านการใช้ประโยชน์ในที่ดิน การคมนาคมและการขนส่ง ฯลฯ เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 

          2. ในการประชุมคณะกรรมการผังเมือง ครั้งที่ 9/2561 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2561 ได้มีมติเห็นชอบผังเมืองรวมเมืองตะกั่วป่า จังหวัดพังงา และนำไปปิดประกาศเพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียแสดงข้อคิดเห็น ปรากฏว่ามีผู้มีส่วนได้เสียยื่นคำร้องจำนวน 13 เรื่อง และได้นำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการผังเมือง ครั้งที่ 10/2562 เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2562 เพื่อพิจารณาคำร้องดังกล่าว ซึ่งมีมติให้ตามคำร้องด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน จำนวน 2 เรื่อง ด้านข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน จำนวน 1 เรื่อง และให้ตามคำร้องบางส่วนด้านข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินจำนวน 1 เรื่อง

          3. ต่อมาได้มีการประกาศใช้บังคับพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 โดยมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ทั้งฉบับ ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดรูปแบบการประกาศใช้บังคับกฎหมายเกี่ยวกับผังเมืองรวมที่องค์กรส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จัดทำให้ประกาศเป็นข้อบัญญัติท้องถิ่น จากเดิมที่ต้องประกาศเป็นกฎกระทรวง และกรณีตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 มาตรา 1101 ที่ประชุมคณะกรรมการ ผังเมือง ครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2564 ได้มีมติให้ผังเมืองรวมที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้วางและจัดทำ ซึ่งคณะกรรมการผังเมือง (ตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518) ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว และอยู่ในขั้นตอนการยกร่างกฎหมาย ให้ดำเนินการออกเป็นประกาศกระทรวงมหาดไทยเพื่อใช้บังคับต่อไป

          4. มท. โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองจึงได้จัดทำร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมเมืองตะกั่วป่า จังหวัดพังงา พ.ศ. .... ตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในมาตรา 32 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 ที่บัญญัติว่า “เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 29 แล้ว ไม่มีผู้มีส่วนได้เสียผู้ใดยื่นคำร้องตามมาตรา 30 หรือมีแต่คณะกรรมการผังเมืองสั่งยกคำร้องดังกล่าวหรือเมื่อกรมโยธาธิการและผังเมืองไม่มีความเห็นเป็นอย่างอื่น ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองหรือ เจ้าพนักงานท้องถิ่น แล้วแต่กรณี โดยไม่ชักช้า ในการนี้ ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองนำประกาศกระทรวงมหาดไทยเสนอต่อคณะรัฐมนตรีโดยตรงเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน” ทั้งนี้ ในกระบวนการวางและจัดทำผังเมืองรวมก่อนที่จะได้จัดทำเป็นร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยนี้ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการผังเมือง ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านโครงสร้างพื้นฐานและด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยแล้ว 

          5. มท. โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองได้จัดทำร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมเมืองตะกั่วป่า จังหวัดพังงา พ.ศ. .... โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ 

              5.1 กำหนดให้ใช้บังคับผังเมืองรวม ให้ท้องที่ตำบลบางนาสี ตำบลตะกั่วป่า ตำบลโคกเคียน ตำบลบางม่วง ตำบลบางไทร และตำบลตำตัว อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาและการดำรงรักษาเมืองและบริเวณที่เกี่ยวข้องหรือชนบท ในด้านการใช้ประโยชน์ในที่ดิน การคมนาคมและการขนส่ง การสาธารณูปโภค บริการสาธารณะ และสภาพแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมีนโยบายและมาตรการเพื่อจัดระบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน โครงข่ายคมนาคมขนส่งและบริการสาธารณะให้มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับและสอดคล้องกับการขยายตัวของชุมชนในอนาคต รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจ ดังต่อไปนี้ 

                   5.1.1 อนุรักษ์เมืองตะกั่วป่าซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรม

                   5.1.2 ส่งเสริมและพัฒนาด้านการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และธรรมชาติ

                   5.1.3 ส่งเสริมและพัฒนาให้ชุมชนเมืองเป็นศูนย์กลางการบริหาร การปกครอง การศึกษา การคมนาคมและการขนส่งของอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา 

                   5.1.4 ส่งเสริมและพัฒนาด้านที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรมและการบริหารให้สัมพันธ์กับระบบเศรษฐกิจของชุมชน

                   5.1.5 ส่งเสริมและพัฒนาการบริการทางสังคม การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการให้เพียงพอและได้มาตรฐาน

                   5.1.6 อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

              5.2 กำหนดประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินออกเป็น 11 ประเภท ดังนี้ 

 

ประเภท

 

วัตถุประสงค์

1. ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (สีเหลือง)

 

- เป็นพื้นที่รอบนอกชุมชนเมืองต่อจากพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง และพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยเบาบาง กำหนดให้ก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยได้ เช่น บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ห้องแถว ตึกแถว บ้านแถว และให้สร้างอาคารอยู่อาศัยประเภทอาคารชุด โดยมีข้อจำกัดเรื่องขนาดของอาคารซึ่งต้องไม่ใช่อาคารขนาดใหญ่และกำหนดความสูงของอาคารไม่เกิน 15 เมตร

2. ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (สีส้ม)

 

- เป็นพื้นที่บริเวณชุมชนต่อเนื่องกับพื้นที่พาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมากมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลางในการรับรองการอยู่อาศัยในบริเวณพื้นที่ต่อเนื่องกับย่านพาณิชยกรรม โดยกำหนดให้สามารถสร้างอาคารเพื่อการอยู่อาศัยได้ทุกประเภท เช่น บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ห้องแถว โดยมีข้อจำกัดในเรื่องของขนาดอาคารซึ่งต้องไม่ใช่อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ

3. ที่ดินประเภทพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (สีแดง)

 

- เป็นพื้นที่ศูนย์กลางด้านพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัย มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางพาณิชย กรรมและการบริการชุมชนเพื่อรองรับการประกอบกิจกรรมทางธุรกิจ การค้า การบริการที่ให้บริการแก่ประชาชน เช่น ตลาด ร้านค้า โรงแรม รวมทั้งกำหนดให้เป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นมากเพื่อรองรับการประกอบกิจการดังกล่าวและการอยู่อาศัยในเขตชุมชน กำหนดไว้เป็น 2 ย่าน คือ ย่านรองรับการพัฒนาชุมชนโดยทั่วไป และย่านเมืองเก่าตะกั่วป่าที่คำนึงถึงมรดกทางวัฒนธรรม

4. ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว)

 

- เป็นพื้นที่กันชนระหว่างย่านที่อยู่อาศัยเพื่อรักษาสภาพแวดล้อมโดยทั่วไป และรองรับชุมชนในอนาคต มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นพื้นที่เพื่อเกษตรกรรม เช่น ทำไร่ ทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์

5. ที่ดินประเภทปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สีเขียวมีกรอบและเส้นทแยงสีน้ำตาล)

 

- เป็นพื้นที่ตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเท่านั้น ส่วนที่ดินของเอกชน กำหนดให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม การอยู่อาศัย หรือสาธารณประโยชน์เท่านั้น ซึ่งมีข้อจำกัดให้ดำเนินการหรือประกอบกิจการใดๆ ได้ในอาคารที่มีความสูงไม่เกิน 9 เมตร

6. ที่ดินประเภทอนุรักษ์สภาพแวดล้อมเพื่อการท่องเที่ยว (สีเขียวมีกรอบและเส้นทแยงสีขาว)

 

- เป็นพื้นที่กำหนดให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อ การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การอยู่อาศัย การท่องเที่ยวเฉพาะ การบริการด้านที่พักประเภทโรงแรมและบังกะโล เกษตรกรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นพื้นที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีข้อจำกัดและเงื่อนไขในการใช้ประโยชน์ที่ดินจากแนวชายฝั่งทะเลในระยะ 75 เมตร กำหนดให้ประกอบกิจการได้ในอาคารที่มีความสูงไม่เกิน 7 เมตร และในระยะเกิน 75 เมตร จากแนวชายฝั่งทะเลกำหนดให้ประกอบกิจการได้ในอาคารที่มีความสูงไม่เกิน 12 เมตร รวมทั้งการอยู่อาศัยและการท่องเที่ยวเฉพาะการบริการด้านที่พักประเภทโรงแรมและบังกะโล ในระยะ 225 เมตรจากแนวชายฝั่งทะเล ให้มีที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละหกสิบของแปลงที่ดินที่ยื่นขออนุญาต และในระยะเกิน 225 เมตร จากแนวชายฝั่งทะเล ให้มีที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละสี่สิบของแปลงที่ดินที่ยื่นขออนุญาต

7. ที่ดินประเภทที่โล่งเพื่อนันทนาการและการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สีเขียวอ่อน)

 

- เป็นที่ดินพื้นที่โล่งซึ่งเป็นที่ดินของรัฐมีวัตถุประสงค์เพื่อสงวนไว้เป็นที่โล่งสำหรับนันทนาการ การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสาธารณประโยชน์ กรณีที่ดินของเอกชน กำหนดให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อนันทนาการหรือเกี่ยวข้องกับนันทนาการ การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การอยู่อาศัย เกษตรกรรม โดยมีข้อจำกัดเรื่องความสูงและขนาดของอาคารซึ่งต้องไม่ใช่อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่

8. ที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้ (สีเขียวอ่อนมีเส้นทแยงสีขาว)

 

- มีวัตถุประสงค์ให้ใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อการสงวนและคุ้มครองดูแลรักษา หรือบำรุงป่าไม้ สัตว์ป่า ต้นน้ำ ลำธาร และทรัพยากรธรรมชาติ อื่นๆ ตามมติคณะรัฐมนตรี และกฎหมายเกี่ยวกับการป่าไม้ การสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สำหรับที่ดินซึ่งเอกชนเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายกำหนดให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม การอยู่อาศัย ประเภทบ้านเดี่ยว หรือสาธารณประโยชน์เท่านั้น

9. ที่ดินประเภทสถาบันการศึกษา (สีเขียวมะกอก)

 

- มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดพื้นที่ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาตามการใช้ประโยชน์ที่ดินในปัจจุบัน เช่น โรงเรียนเทศบาลบ้านย่านยาว โรงเรียนบ้านบางม่วง

10. ที่ดินประเภทสถาบันศาสนา (สีเทาอ่อน)

 

- มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดพื้นที่สถาบันศาสนาตามการใช้ประโยชน์ที่ดินปัจจุบัน เช่น วัดย่านยาว วัดคงคาภิมุข

11. ที่ดินประเภทสถาบันราชการ

การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ (สีน้ำเงิน)

 

- มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสถาบันราชการ การดำเนินกิจการของรัฐที่เกี่ยวกับสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ หรือสาธารณประโยชน์ เช่น เรือนจำอำเภอตะกั่วป่า ศาลจังหวัดตะกั่วป่า

 

              5.3 กำหนดประเภทหรือชนิดของโรงงานที่ให้ดำเนินการได้ในที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (สีเหลือง) ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (สีส้ม) ที่ดินประเภทพาณิชย กรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (สีแดง) และที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) ตามบัญชีท้ายประกาศกระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์การใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละประเภท

              5.4 กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินในบริเวณแนวถนนสาย ก 1 ถนนสาย ก 2 ถนนสาย ก 3 ถนนสาย ก 4 ถนนสาย ก 5 ถนนสาย ก 6 ถนนสาย ก 7 ถนนสาย ก 8 ถนนสาย ก 9 ถนนสาย ก 10 ถนนสาย ก 11 ถนนสาย ก 12 ถนนสาย ก 13 ถนนสาย ก 14 ถนนสาย ก 15 ถนนสาย ก 16 ถนนสาย ข 1 ถนนสาย ข 2 ถนนสาย ข 3 ถนนสาย ข 4 ตามแผนผังแสดงโครงการคมนาคมและขนส่งท้ายประกาศกระทรวงมหาดไทย โดยให้ใช้ประโยชน์เพื่อกิจการตามที่กำหนด ดังต่อไปนี้ 

                   5.4.1 การสร้างถนนหรือเกี่ยวข้องกับถนน และการสาธารณูปโภคและ สาธารณูปการ

                   5.4.2 การสร้างรั้วหรือกำแพง 

                   5.4.3 เกษตรกรรมที่มีความสูงของอาคารไม่เกิน 9 เมตร หรือไม่ใช่อาคารใหญ่ 

_________________________________

1มาตรา 110 บัญญัติว่า บรรดาผังเมืองรวมหรือผังเมืองเฉพาะที่อยู่ระหว่างดำเนินการวางและจัดทำตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติมในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ การดำเนินการต่อไปสำหรับการนั้นให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการผังเมืองกำหนดโดยไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 9 กรกฎาคม 2567

 

 

7313

Click Donate Support Web 

SME720x100 2024

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

EXIM One 720x90 C JMTL 720x100

QIC 720x100

TOA 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

kbank 720x100 66

ธกส 720x100PTG 720x100

ใจฟู720x100px

AXA 720 x100 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!