รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมประเทศ (ระหว่างวันที่ 13 - 18 กรกฎาคม 2567)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 24 July 2024 16:31
- Hits: 9019
รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมประเทศ (ระหว่างวันที่ 13 - 18 กรกฎาคม 2567)
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมประเทศ (ระหว่างวันที่ 13 - 18 กรกฎาคม 2567) ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเสนอ
สาระสำคัญและข้อเท็จจริง
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้บูรณาการข้อมูลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และขอสรุปสถานการณ์น้ำระหว่างวันที่ 13 - 18 กรกฎาคม 2567 มีดังนี้
1. สภาพอากาศและการคาดการณ์ฝน
เนื่องจากอุณหภูมิของน้ำทะเลมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้สถานการณ์ลานีญาจากเดิมที่ จะเริ่มต้นในช่วงเดือนกรกฎาคม เปลี่ยนเป็นเดือนสิงหาคม และคาดการณ์ว่าจะมีสถานการณ์ต่อเนื่องจนถึงต้นปี 2568
วันที่ 18 กรกฎาคม 2567 ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ อ่าวไทย ภาคกลาง และภาคตะวันออก มีกำลังค่อนข้างแรง ทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักมากบางแห่งในบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก
ในช่วงวันที่ในช่วงวันที่ 20 - 23 กรกฎาคม 2567 ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง
2. สถานการณ์แหล่งน้ำทั่วประเทศ
ปัจจุบัน (ข้อมูลวันที่ 17 กรกฎาคม 2567) มีปริมาณน้ำ 39,886 ล้านลูกบาศก์เมตร (50%) น้อยกว่าปี 2566 จำนวน 606 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำใช้การ 15,723 ล้านลูกบาศก์เมตร (27%) สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ต้องเฝ้าระวังน้ำน้อย (ปริมาณน้ำต่ำกว่าเกณฑ์เก็บกักต่ำสุด (Lower Rule Curve) 4 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำภูมิพล อ่างเก็บน้ำสิริกิติ์ อ่างเก็บน้ำจุฬาภรณ์และอ่างเก็บน้ำปราณบุรี และเฝ้าระวัง อ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีน้ำน้อยกว่า 30% ของความจุเก็บกัก จำนวน 79 แห่ง (จากทั้งหมด 369 แห่ง) ได้แก่ ภาคเหนือ 8 แห่ง (จาก 79 แห่ง) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 31 แห่ง (จาก 189 แห่ง) ภาคกลาง 6 แห่ง (จาก 11 แห่ง) ภาคตะวันออก 13 แห่ง (จาก 44 แห่ง) และภาคตะวันตก 15 แห่ง (จาก 24 แห่ง) และภาคใต้ 6 แห่ง (จาก 22 แห่ง)
3. สถานการณ์อุทกภัย
ในช่วงวันที่ 13 - 18 กรกฎาคม 2567 มีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ชุมชนและพื้นที่การเกษตร 9 จังหวัด ได้แก่
(1) จังหวัดพะเยา เนื่องจากมีฝนตกหนักในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ ตำบลสระ อำเภอเชียงม่วน ปัจจุบันสถานการณ์เข้าสู่สภาวะปกติ
(2) จังหวัดแพร่ เนื่องจากมีฝนตกหนักในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำป่าไหล หลากเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร ตำบลเตาปูน อำเภอสอง ได้รับความเสียหาย 10 ไร่ ปัจจุบันสถานการณ์ เข้าสู่สภาวะปกติ
(3) จังหวัดเพชรบูรณ์ เนื่องจากมีฝนตกหนักในพื้นที่อย่างต่อเนื่องในช่วงกลางคืน วันที่ 17 กรกฎาคม 2567 เวลา 02.00 น. ส่งผลให้แม่น้ำป่าสักเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ตำบลตาดกลอย อำเภอหล่มเก่า ปัจจุบันสถานการณ์เข้าสู่สภาวะปกติ
(4) จังหวัดเลย เนื่องจากมีฝนตกหนักในพื้นที่อย่างต่อเนื่องในช่วงกลางคืนวันที่ 17 กรกฎาคม 2567 เวลา 04.00 น. ส่งผลทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมถนน 2 จุด ในบริเวณถนนบ้านนายางเหนือ-บ้านนายางใต้ และ ถนนผ่านฝายน้ำล้นหลังวัดศรีทัศน์ ตำบลศรีฐาน อำเภอภูกระดึง ปัจจุบันสถานการณ์เข้าสู่สภาวะปกติ
(5) จังหวัดชัยภูมิ เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากร่องมรสุม ทำให้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง 2 วัน ตั้งแต่วันที่ 15 - 17 กรกฎาคม 2567 ทำให้เกิดน้ำหลากในพื้นที่ชุมชนและการเกษตร บริเวณพื้นที่อำเภอหนองบัวระเหว จำนวน 1 ตำบล (ตำบลวังตะเฆ่) และอำเภอแก้งคร้อ จำนวน 3 ตำบล (ตำบลหนองไผ่ ตำบลหนองสังข์ และตำบลช่องสามหมอ) ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่อำเภอแก้งคร้อ
(6) จังหวัดขอนแก่น เนื่องจากมีฝนตกหนักในพื้นที่อย่างต่อเนื่องเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 เวลา 09.30 น. ส่งผลทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนโนนสว่าง และชุมชนหมู่ 1 พัฒนา อำเภอบ้านไผ่ ปัจจุบันสถานการณ์เข้าสู่สภาวะปกติ
(7) จังหวัดมหาสารคาม เนื่องจากมีฝนตกหนักในพื้นที่อย่างต่อเนื่องเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 เวลา 17.00 น. ทำให้ปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำห้วยเชียงคำ จำนวนมากจนเกิน ความจุ ส่งผลให้ทำนบดินชั่วคราวขาด และมวลน้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและที่อยู่อาศัยของประชาชน จำนวน 22,927 ไร่ โดยมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอวาปีปทุม 6 ตำบล (ตำบลหนองแสง ตำบลโพธิ์ชัย ตำบลบ้านหวาย ตำบลนาข่า ตำบลแคน และตำบลหัวเรือ) และอำเภอบรบือ 5 ตำบล (ตำบลโนนราษี ตำบลกำพี้ ตำบลดอนงัว ตำบลบัวมาศ และ ตำบลหนองม่วง) ปัจจุบันสถานการณ์ระดับน้ำท่วมลดลง เนื่องจากเป็นน้ำไหลหลากผ่าน และไม่มีฝนตกเพิ่มเติมในพื้นที่
(8) จังหวัดอุบลราชธานี เนื่องจากมีฝนตกหนักในพื้นที่อย่างต่อเนื่องเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2567 ส่งผลทำให้เกิดน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตร อำเภอเดชอุดม จำนวน 700 ไร่
(9) จังหวัดเพชรบุรี เนื่องจากมีฝนตกหนักในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยแม่ประจันต์ บริเวณอำเภอหนองหญ้าปล้อง ส่งผลทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำมีน้ำขังไม่สามารถระบายน้ำลงสู่ลำห้วยแม่ประจันต์ได้ ทำให้เกิดน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตรของราษฎร ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตร จำนวน 70 ไร่ ระดับน้ำสูง 1.00 - 1.25 ม. โดยหากไม่มีฝนตกในพื้นที่เพิ่มเติม สถานการณ์จะกลับสู่สภาวะปกติ ประมาณ 7 วัน
4. สถานการณ์อาคารชลศาสตร์เกิดการชำรุด
(1) จังหวัดชัยภูมิ
เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากร่องมรสุม ทำให้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง 2 วัน ตั้งแต่ วันที่ 15 - 16 กรกฎาคม 2567 ทำให้เกิดน้ำหลากในพื้นที่ประกอบกับปริมาณน้ำสะสมในลำน้ำและ จากเทือกเขาพังเหยไหลลงมาลำเชียงทา ส่งผลทำให้เกิดน้ำกัดเซาะผนังฝายน้ำล้นบ้านโนนม่วงขาด มีการพังทลายของหน้าดินอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง สะพานคอนกรีตบริเวณฝายขาดชำรุดพัง ทำให้ประชาชนในพื้นที่ไม่สามารถใช้เส้นทางสัญจรระหว่างหมู่บ้านได้ ปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าให้การช่วยเหลือและดำเนินการซ่อมแซมปรับปรุง โดยนำถุงบิ๊กแบ็คปิดกั้นน้ำไว้ชั่วคราว พร้อมจัดเตรียมเครื่องจักรกลสาธารณภัย และเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชม. โดยหากไม่มีฝนตกในพื้นที่ คาดการณ์ว่าสถานการณ์คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติภายในสิ้นเดือนกรกฎาคม และพื้นที่อำเภอแก้งคร้อ เกิดน้ำป่าไหลหลากลงจากเทือกเขาภูผาแดง ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำในพื้นที่ ตำบลบ้านแก้ง มวลน้ำไหลซัดพนังกันน้ำของฝายใหม่บ้านโนนส้มกบขาด จนทำให้มวลน้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรของชาวบ้าน จำนวน 1,000 ไร่ ครอบคลุมตำบลหนองไผ่ ตำบลหนองสังข์ และตำบลช่องสามหมอ ปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ และเร่งแก้ไขปัญหา พร้อมมอบหมายเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
(2) จังหวัดมหาสารคาม
เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 เวลา 17.00 น. ทำนบดินชั่วคราวบริเวณอาคารระบายน้ำล้นของอ่างเก็บน้ำห้วยเชียงคำขาด ยาวประมาณ 50 เมตร เนื่องจากเกิดฝนตกหนักทำให้ ปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำจำนวนมากจนเกินความจุ ส่งผลให้มวลน้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร และที่อยู่อาศัยของประชาชนเป็นบริเวณกว้าง โดยมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอวาปีปทุม 6 ตำบล (ตำบลหนองแสง ตำบลโพธิ์ชัย ตำบลบ้านหวาย ตำบลนาข่า ตำบลแคน และตำบลหัวเรือ) และอำเภอบรบือ 5 ตำบล (ตำบลโนนราษี ตำบลกำพี้ ตำบลดอนงัว ตำบลบัวมาศ และ ตำบลหนองม่วง) เบื้องต้นได้มีการสำรวมความเสียหายแล้ว พบว่ามีบ้านเรือนได้รับผลกระทบ 6 หลังถนนถูกน้ำท่วม 3 สายทาง พื้นที่การเกษตรประมาณ 22,927 ไร่ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าดำเนินการให้ความช่วยเหลือในการขนย้ายสิ่งของการอพยพ และดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ประสบภัย และจัดทำป้ายเตือน ป้ายหลีกเลี่ยงเส้นทางที่ถูกน้ำท่วมขัง ปัจจุบันสถานการณ์ระดับน้ำลดลง เนื่องจากเป็นน้ำไหลหลากผ่าน และไม่มีฝนตกเพิ่มเติมในพื้นที่
5. การแจ้งเตือนของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
ในช่วงวันที่ 13 - 18 กรกฎาคม 25567 สทนช. ได้ออกประกาศ แจ้งเตือน 2 ฉบับ ได้แก่
(1) สทนช. แจ้งเตือนเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ช่วงวันที่ 9 – 17 กรกฎาคม 2567 ร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ต้องเฝ้าระวังบริเวณพื้นที่ลาดเชิงเขา พื้นที่ลุ่มต่ำ และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขัง ในบริเวณพื้นที่ 28 จังหวัด ดังนี้
ภาคเหนือ จำนวน 7 จังหวัด ได้แก่ จ.แม่ฮ่องสอน ตาก สุโขทัย น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 8 จังหวัด ได้แก่ จ.เลย อุดรธานี ขอนแก่นหนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม และอุบลราชธานี
ภาคตะวันออก จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ จ.ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ จำนวน 8 จังหวัด ได้แก่ จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล ยะลา และนราธิวาส
(2) ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 7/2567 ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2567 เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ช่วงวันที่ 15 - 20 กรกฎาคม 2567 ร่องมรสุมกำลังแรงจะพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ ต้องเฝ้าระวังบริเวณพื้นที่ลาดเชิงเขา พื้นที่ลุ่มต่ำ และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังระบายไม่ทัน ในบริเวณพื้นที่ 43 จังหวัด ดังนี้
ภาคเหนือ จำนวน 9 จังหวัด ได้แก่ จ.แม่ฮ่องสอน ตาก สุโขทัย พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 19 จังหวัด ได้แก่ จ.เลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น นครราชสีมา กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคตะวันออก จำนวน 7 จังหวัด ได้แก่ จ.นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ จ.ระนอง พังงา กระบี่ สุราษฎร์ธานี ตรัง สตูล ยะลา และนราธิวาส
(3) สทนช. แจ้งเตือนเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูง ในช่วงวันที่ 20-27 กรกฎาคม 2567 เนื่องจากอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนสูง และคาดว่าจะมีฝนตกหนักในบางพื้นที่ ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำบางปะกง เสี่ยงน้ำท่วมบริเวณชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราว บริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม นนทบุรี กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ
6. การจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว)
สทนช. ได้ติดตามสภาพอากาศและการคาดการณ์ พบว่า ในช่วงวันที่ 12 - 16 กรกฎาคม 2567 อิทธิพลของร่องมรสุมกำลังแรงที่จะพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคตะวันออกมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ อาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำท่วมขังได้ สทนช. จึงจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำมูล ณ สำนักงานเทศบาลนครนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา และศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออกและลุ่มน้ำบางปะกง ณ องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง จังหวัดระยอง เพื่อร่วมบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ ในการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์อุทกภัย โดยจัดตั้งศูนย์ฯ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2567 และดำเนินการปฏิบัติงานจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่สภาวะปกติ โดยมีผลการดำเนินการดังนี้
ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออกและลุ่มน้ำบางปะกง มีมติให้ดำเนินงาน ดังนี้
(1) ขอให้ จังหวัดระยอง สั่งการให้หน่วยงานในจังหวัด รายงานการตรวจสอบเครื่องจักร เครื่องมือที่พร้อม/ไม่พร้อม เพื่อรับมือสถานการณ์และหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหา
(2) ขอให้ จังหวัดชลบุรี บูรณาการทำงานร่วมกับ จังหวัดระยอง สำหรับการระบายน้ำผ่านคลองวังจันทร์และปลวกแดง เพื่อแจ้งเตือนประชาชนให้ทราบล่วงหน้า
(3) ขอความอนุเคราะห์ กรมชลประทาน ส่งเครื่องสูบน้ำมาช่วยในพื้นที่ ประตูระบายน้ำคลองทับมา ร่วมกับ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ผลักดันเรื่องของบประมาณในการซ่อมแซมเครื่องสูบน้ำที่ใช้งานไม่ได้
(4) ขอให้ เทศบาลเมืองพัทยา ทบทวนงบประมาณการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการระบายน้ำ เมืองพัทยา เพื่อเสนอต่อรัฐบาลให้ขับเคลื่อนโครงการฯ
ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำมูล มีมติให้ดำเนินงานดังนี้
(1) ขอให้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมบูรณาการการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัย ตามมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567
(2) ขอให้ทุกจังหวัดสำรวจ และนำเครื่องจักรเครื่องมือไปประจำจุดเสี่ยง รวมถึงติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง ติดตาม ประเมิน และรวบรวมข้อมูลปริมาณฝนสะสมในพื้นที่เสี่ยงที่อยู่ในความรับผิดชอบที่จะส่งผลให้เกิดอุทกภัย เพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูลสำหรับการติดตามเฝ้าระวัง และแจ้งเตือนให้ถึงประชาชนให้ทันท่วงทีหรือโดยเร็วที่สุด
7. ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมและจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่ เสี่ยงภัยพิบัติ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ฤดูฝน ควบคุม ป้องกัน แจ้งเตือนประชาชน ซักซ้อมแผนก่อนเผชิญเหตุ เตรียมความพร้อมเพื่อรับมือจากเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่อาจจะเกิดขึ้น และลดผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน พร้อมเร่งฟื้นฟูให้กลับสู่สถานการณ์ปกติโดยเร็ว
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 23 กรกฎาคม 2567
7711