(ร่าง) ข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีก (ไก่งวง) ในประเทศไทย
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 24 July 2024 17:18
- Hits: 9160
(ร่าง) ข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีก (ไก่งวง) ในประเทศไทย
คณะรัฐมนตรีรับทราบ (ร่าง) ข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีก (ไก่งวง) ในประเทศไทย ตามที่สภาเกษตรกรแห่งชาติ (สภช.) เสนอ และมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องดังกล่าวไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยให้รับความเห็นของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
สภช. รายงานว่า
1. ได้รับเรื่องร้องทุกข์จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนไก่งวงราชบุรีและเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่งวง1 จำนวน 450 ฟาร์มทั่วประเทศว่าได้รับคำสั่งซื้อจากตลาดต่างประเทศในช่วงเดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์ 2566 จำนวน 40 ตัน มูลค่า 16 ล้านบาท แต่ไม่สามารถส่งออกได้ เนื่องจากยังไม่มีข้อกฎหมาย ระเบียบ มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสัตว์ปีก (ไก่งวง) แบบโรงเรือนยกพื้น จึงมีการชะลอการสั่งซื้อสินค้าออกไปจนกว่าจะดำเนินการแก้ไขประเด็นดังกล่าวให้แล้วเสร็จ
2. สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ (สกช.) ได้ดำเนินการศึกษาข้อมูลจัดประชุมรับฟังปัญหาอุปสรรค ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกร และองค์กรเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่งวง ซึ่งพบว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่งวงประสบปัญหาการส่งออก ดังนี้
2.1 โรงฆ่าสัตว์ไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่งวง
เนื่องจากฟาร์มไก่งวงได้รับคำสั่งซื้อจากตลาดต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งโรงฆ่าสัตว์ปีกที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการฆ่าสัตว์ปีกทั่วประเทศ มีจำนวน 520 แห่ง แต่มีเพียง 1 แห่งที่ได้รับอนุญาตฆ่าสัตว์ปีก ประเภทไก่งวง คือ บริษัท วินไทยฟู้ด จำกัด ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดสระแก้ว ทำให้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่งวง อีกทั้งเกษตรกรที่อยู่ในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคใต้ ต้องมีค่าใช้จ่ายในการขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้นประกอบกับระยะทางขนส่งที่ค่อนข้างไกล อาจส่งผลให้ไก่งวงตายระหว่างการขนส่งได้
2.2 ประเทศไทยยังไม่มีข้อกฎหมาย ระเบียบ มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสัตว์ปีก (ไก่งวง) แบบโรงเรือนยกพื้น
ในปัจจุบันประเทศไทยมีการเลี้ยงไก่งวง 2 รูปแบบ ได้แก่ (1) รูปแบบการเลี้ยงปล่อยอิสระ ซึ่งได้รับมาตรฐาน GAP2 เรียบร้อยแล้ว แต่มีข้อเสีย คือ ใช้พื้นที่ในการเลี้ยงค่อนข้างมาก และ (2) การเลี้ยงแบบโรงเรือนยกพื้น ซึ่งยังไม่ได้รับรองมาตรฐาน GAP เหมาะสำหรับการเลี้ยงในพื้นที่ที่จำกัด สามารถเลี้ยงไก่งวงได้ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น มีต้นทุนที่ลดลงและจะทำให้เนื้อไก่งวงมีคุณภาพดี เนื้อแน่น ไม่มีกลิ่นสาบ
เนื่องจากไม่มีข้อกฎหมาย ระเบียบ มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสัตว์ปีก ประเภทไก่งวง แบบโรงเรือนยกพื้น ที่ได้มาตรฐานเพื่อการส่งออก จึงไม่สามารถส่งออกและจำหน่ายเนื้อไก่งวงให้กับโรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิต แปรรูปเพื่อการส่งออกได้ ประกอบกับมีไก่งวงแช่แข็งที่ค้างในสต็อกรอจัดจำหน่าย จำนวน 150 ตันหรือ 33,500 ตัว โดยมีมูลค่ากว่า 60 ล้านบาท รวมทั้งมีไก่งวงที่รอการเข้าโรงฆ่า จำนวน 3,000 ตัว โดยมีมูลค่าประมาณ 5.4 ล้านบาท
3. ในคราวประชุมสภาเกษตรกรแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 6 - 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ (ร่าง) ข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีก (ไก่งวง) ในประเทศไทย สรุปรายละเอียดได้ ดังนี้
ลำดับ |
ข้อเสนอ |
มอบหมาย |
|
1 |
ขอให้ภาครัฐเร่งอนุญาตให้โรงฆ่าสัตว์ปีก เพิ่มชนิดสัตว์ปีกประเภทไก่งวง ตามกฎกระทรวงกำหนดชนิดของสัตว์ที่ต้องอยู่ในการกำกับดูแลการประกอบกิจการฆ่าสัตว์ พ.ศ. 2564 ข้อ 2 (1) เพื่อจำหน่ายในประเทศและเพื่อการส่งออก เนื่องจากปัจจุบันมีโรงฆ่าสัตว์ปีกที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการฆ่าสัตว์ปีก ประเภทไก่งวง เพียง 1 แห่ง ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่งวง และเกษตรกรที่อยู่ภาคอื่นๆ ที่ไม่มีโรงฆ่าสัตว์ปีกประเภทไก่งวง ต้องมีค่าใช้จ่ายในการขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งระยะทางขนส่งที่ค่อนข้างไกล อาจส่งผลให้ไก่งวงตายได้ |
กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) |
|
2 |
สนับสนุนให้มีโรงฆ่าสัตว์ปีก (ไก่งวง) ขนาดเล็กที่ได้รับมาตรฐานการส่งออกสำหรับเกษตรกรรายย่อยของหน่วยงานภาครัฐเพื่อรองรับอัตราการผลิตที่มีการขยายตัวในอนาคตและสามารถแข่งขันกับตลาดต่างประเทศได้ |
กรมปศุสัตว์ กษ./ องค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) |
|
3 |
กำหนดมาตรฐานสำหรับฟาร์มสัตว์ปีก (ไก่งวง) แบบโรงเรือนยกพื้น (มาตรฐาน GAP) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิต และยกระดับมาตรฐานเพื่อการส่งออก ปัจจุบันมาตรฐานสำหรับฟาร์มสัตว์ปีก (ไก่งวง) มีเพียงแบบปล่อยเลี้ยงแบบอิสระที่ได้รับมาตรฐาน GAP แต่การเลี้ยงไก่งวงแบบยกพื้นยังไม่มีมาตรฐาน GAP รับรอง เมื่อไม่ได้รับรองมาตรฐาน GAP จะไม่สามารถนำไก่งวงเข้าโรงฆ่ามาตรฐานเพื่อการส่งออกได้ รูปแบบการเลี้ยงไก่งวงแบบยกพื้นจะทำให้มีพื้นที่เลี้ยงไก่งวงได้ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น มีต้นทุนที่ลดลง อีกทั้งข้อดีของการเลี้ยงไก่งวงแบบโรงเรือนยกพื้น จะทำให้เนื้อไก่งวงมีคุณภาพดี เนื้อแน่นไม่มีกลิ่นสาบ ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ |
สำนักงานมาตรฐานสินค้า เกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กษ. |
|
4 |
ภาครัฐสนับสนุนการจัดทำพิธีสารว่าด้วยการส่งออกไก่งวง เพื่อเร่งการเปิดเสรีการค้าสินค้าไก่งวงและอำนวยความสะดวกต่อการเคลื่อนย้ายสินค้าระหว่างอาณาเขตของคู่ภาคี และเสริมสร้างกระชับความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ |
กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) |
|
5 |
ขอให้ภาครัฐเร่งระบายไก่งวงที่ค้างสต็อกอย่างเร่งด่วน ปัจจุบันมีไก่งวงแช่แข็งค้างในสต็อก จำนวน 150 ตัน มูลค่า 60 ล้านบาท เนื่องจากไม่มีโรงฆ่าสัตว์ปีก (ไก่งวง) ที่ได้รับมาตรฐานเพื่อการส่งออกจึงไม่สามารถจำหน่ายเนื้อไก่ง่วงให้กับโรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตแปรรูป เพื่อการส่งออกได้ |
พณ./ กรมปศุสัตว์ กษ. |
4. ในอนาคตไก่งวงจะเป็นสัตว์ปีกทางเศรษฐกิจชนิดใหม่ที่เพิ่มมูลค่าการตลาดภาคการเกษตรให้กับเกษตรกรและประเทศไทย เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่งวงมีรายได้เพิ่มมากขึ้น กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรกรรม หากภาครัฐไม่เร่งแก้ไข ปรับปรุง ข้อจำกัดเรื่องกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมาตรฐานให้รองรับต่อการส่งออกสัตว์ปีก (ไก่งวง) จะส่งผลให้เกษตรกรและประเทศไทย สูญเสียโอกาสและรายได้จากการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่งวง (คาดการณ์ว่าในปี 2567 จะมีมูลค่าการสั่งซื้อไก่งวงประมาณ 64 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันได้มีการชะลอการสั่งซื้อจนกว่าจะได้รับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว)
_______________
1 ประเทศไทยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่งวง จำนวน 8,324 ราย มีฟาร์มไก่งวงทั้งสิ้น 450 ฟาร์มทั่วประเทศ เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่งวงได้รวมกลุ่มจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน จำนวน 15 กลุ่ม มีการดำเนินงานที่มีความเข้มแข็งและมีศักยภาพในการผลิต ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ไก่งวงได้รับความนิยมบริโภคเป็นอย่างมากในกลุ่มลูกค้าต่างประเทศ เช่น ประเทศลาว มาเลเซีย สิงคโปร์ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เป็นต้น ผลผลิตไก่งวงของประเทศไทย ร้อยละ 90 ถูกส่งออกไปจำหน่ายยังตลาดในต่างประเทศ และมีการจำหน่ายภายในประเทศเพียงร้อยละ 10
2 การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices : GAP) หมายถึง แนวทางในการทำการเกษตรเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีและปลอดภัยตามมาตรฐานที่กำหนด โดยกระบวนการผลิตจะต้องปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค ปราศจากการปนเปื้อนของสารเคมี ไม่ทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม มาตรฐาน GAP จะครอบคลุมการผลิตสินค้าเกษตรอย่างครบวงจร ซึ่งมาตรฐาน GAP สำหรับฟาร์มปศุสัตว์ จะมีการกำกับดูแลให้มีความปลอดภัยตลอดห่วงโซ่อาหาร เริ่มตั้งแต่ระดับฟาร์มเลี้ยง อาหารสัตว์ โรงงานผลิตอาหารสัตว์ จนถึงโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์เพื่อยกระดับการจัดการฟาร์มเลี้ยงสัตว์ให้ได้มาตรฐาน คุ้มครองผู้บริโภค และเพื่อประโยชน์ในทางการค้า
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 23 กรกฎาคม 2567
7714