ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 24 July 2024 17:56
- Hits: 9420
ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและรับทราบตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม การทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) เสนอดังนี้
1. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการให้ ความคุ้มครองและช่วยเหลือแก่ผู้ให้ถ้อยคำ แจ้งข้อมูลหรือเบาะแส หรือแสดงความคิดเห็นแก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือพนักงานเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในกรณีที่บุคคลถูกร้องทุกข์ ถูกกล่าวโทษ ถูกฟ้องคดี หรือถูกดำเนินการทางวินัยจากการให้ถ้อยคำดังกล่าว
2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว
ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. เสนอว่า
1. ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....ที่ สคก. ตรวจพิจารณาแล้ว ยืนยันให้ดำเนินการร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวต่อไป ซึ่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 โดยบัญญัติเพิ่มเติมหลักการในการจัดให้มีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างเข้มงวด รวมทั้งกลไกส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ ให้ความรู้ ต่อต้าน หรือชี้เบาะแส โดยได้รับความคุ้มครองจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ พร้อมทั้งกำหนดกลไกในการให้ความคุ้มครองและช่วยเหลือแก่ผู้ให้ถ้อยคำ แจ้งข้อมูล หรือเบาะแส หรือแสดงความคิดเห็นแก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือพนักงานเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในกรณีที่ประชาชนถูกร้องทุกข์ ถูกกล่าวโทษ ถูกฟ้องคดี หรือ ถูกดำเนินการทางวินัยจากการให้ถ้อยคำดังกล่าว
2. ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ดำเนินการตามแนวทางการจัดทำและการเสนอร่างกฎหมายตามบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว โดยมีการรับฟังความคิดเห็นก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี และในชั้นการตรวจพิจารณาของ สคก. ได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมทางเว็บไซต์ของ สคก. (www.krisdika.go.th) รวมทั้งจัดทำหนังสือเพื่อขอความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย ตามแนวทางมติคณะรัฐมนตรี (19 พฤศจิกายน 2562) เรื่อง การดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 และได้เผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็นพร้อมการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายผ่านทางเว็บไซต์เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบแล้ว
3. สำนักงาน ป.ป.ช. ได้เสนอแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ จำนวน 1 ฉบับ โดยออกเป็นร่างอนุบัญญัติที่ต้องออกตามมาตรา 132/2 เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการให้ ความช่วยเหลือ การขอรับความช่วยเหลือ และการยกเลิกการให้ความช่วยเหลือ
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและ ปราบปราม การทุจริต พ.ศ. 2561 โดยบัญญัติเพิ่มเติมหลักการในการจัดให้มีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างเข้มงวด รวมทั้งกลไกส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วมใน การรณรงค์ ให้ความรู้ ต่อต้าน หรือชี้เบาะแส โดยได้รับความคุ้มครองจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ พร้อมทั้งกำหนดกลไกในการให้ความคุ้มครองและช่วยเหลือแก่ผู้ให้ถ้อยคำ แจ้งข้อมูลหรือเบาะแส หรือแสดงความคิดเห็นแก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือพนักงานเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในกรณีที่บุคคลดังกล่าวถูกร้องทุกข์ ถูกกล่าวโทษ ถูกฟ้องคดี หรือถูกดำเนินการทางวินัยจากการดำเนินการดังกล่าว รายละเอียดดังนี้
1. แก้ไขเพิ่มเติมบทยกเว้นความรับผิดของผู้ให้ถ้อยคำ แจ้งข้อมูลหรือเบาะแส หรือแสดง ความคิดเห็น แก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ เกี่ยวกับการกระทำความผิดที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ได้รับความคุ้มครองไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย เฉพาะส่วน ความรับผิดที่เกิดจากการให้ถ้อยคำ แจ้งข้อมูลหรือเบาะแส หรือแสดงความคิดเห็นดังกล่าว
2. กำหนดกระบวนการและขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการให้ ความช่วยเหลือแก่บุคคลซึ่งได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 132
3. กำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือของสำนักงาน ป.ป.ช. โดยให้กระทำได้ตามความจำเป็น ซึ่งรวมถึงการให้ความช่วยเหลือโดยการส่งข้อมูลและมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองบุคคลที่ถูกร้องทุกข์ ถูกกล่าวโทษ ถูกฟ้องคดี หรือ ถูกดำเนินการทางวินัย ไปให้พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ ศาล หรือผู้บังคับบัญชา แล้วแต่กรณี เพื่อแจ้งว่าบุคคลดังกล่าวได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 132 การให้ความช่วยเหลือทางคดีและสนับสนุนค่าใช้จ่ายในระหว่างการดำเนินคดีทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญา และการให้ความช่วยเหลือในการปล่อยชั่วคราวในคดีอาญา
4. กำหนดหลักเกณฑ์การปล่อยชั่วคราวบุคคลซึ่งได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 132 โดยให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. สามารถให้ความช่วยเหลือในการปล่อยชั่วคราวไม่ว่าจะเป็นกรณีที่บุคคลดังกล่าวถูกควบคุมอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาล แล้วแต่กรณี
5. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 162 (2) โดยเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ของกองทุนป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเพื่อให้ครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายในการให้ความช่วยเหลือบุคคลซึ่งได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 132
6. กำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อรองรับบทบัญญัติมาตรา 132/1 มาตรา 132/2 และมาตรา 132/3 ให้สามารถนำมาใช้ในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ให้ถ้อยคำ แจ้งข้อมูลหรือเบาะแส หรือแสดงความคิดเห็นแก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับด้วย
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 23 กรกฎาคม 2567
7723