ขอความเห็นชอบรายละเอียดความร่วมมือ: เพื่อนําไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจและวาระการดําเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-ออสเตรเลีย (เซก้า)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 30 July 2024 23:21
- Hits: 9632
ขอความเห็นชอบรายละเอียดความร่วมมือ: เพื่อนําไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจและวาระการดําเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-ออสเตรเลีย (เซก้า)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบรายละเอียดความร่วมมือ: เพื่อนําไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ (รายละเอียดความร่วมมือฯ) และวาระการดําเนินงาน ภายใต้ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-ออสเตรเลีย (เซก้า) (วาระการดําเนินงานฯ) โดยหากมีความจําเป็นต้องเพิ่มเติม ปรับปรุง และแก้ไขเอกสารดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสําคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ขอให้กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ดําเนินการได้ โดยไม่ต้องนําเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก รวมทั้งมอบหมาย พณ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดําเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อนําวาระการดําเนินงานฯ ไปปฏิบัติและติดตามความคืบหน้าต่อไปตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงพาณิชย์เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ (1) รายละเอียดความร่วมมือ: เพื่อนําไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ (รายละเอียดความร่วมมือฯ) และ (2) วาระการดําเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-ออสเตรเลีย (เซก้า) (วาระการดําเนินงานฯ) และมอบหมายกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดําเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อนําวาระการดําเนินงานฯ ไปปฏิบัติและติดตามความคืบหน้าต่อไป ซึ่งร่างเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่จัดทําขึ้นตามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลออสเตรเลียว่าด้วยยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ1 (Strategic Economic Cooperation Arrangement: SECA) ที่กําหนดให้ทั้งสองฝ่ายร่วมกันจัดทํารายละเอียดของสาขาความร่วมมือที่จะพัฒนาร่วมกัน โดยรายละเอียดความร่วมมือฯ เป็นเอกสารที่ระบุสาขาความร่วมมือที่ทั้งสองฝ่ายเห็นร่วมกันที่จะมีการหารือ พัฒนา/แลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ และแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างกันในสาขาต่างๆ 8 สาขา2 ส่วนวาระการดําเนินงานฯ เป็นเอกสารที่ระบุกิจกรรมความร่วมมือตามสาขาที่ได้มีการระบุไว้ในรายละเอียดความร่วมมือฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของแต่ละฝ่าย เช่น สาขาเกษตร มีการกําหนดกิจกรรมในการแลกเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับระบบอาหารการเกษตรยั่งยืน ส่งเสริมเกษตรอัจฉริยะและแลกเปลี่ยนเงื่อนไขด้านการนําเข้า โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบของฝ่ายไทย เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สํานักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เป็นต้น สาขาการท่องเที่ยว อาทิ แลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับออสเตรเลียด้านการพัฒนามาตรฐานการท่องเที่ยวเพื่อชุมชน/ผจญภัย/ยั่งยืน และการส่งเสริมความร่วมมือด้าน การท่องเที่ยวอื่นๆ โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบของฝ่ายไทย ได้แก่ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สาขาบริการสุขภาพ อาทิ นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับการให้บริการทางการแพทย์ (Digital Health) แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับโทรเวช (Telemedicine) สร้างเครือข่ายและเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการใช้ห้องปฏิบัติการสำหรับการกักเก็บให้มีความปลอดภัยและการวินิจฉัยและวิจัยเกี่ยวกับโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน และร่วมมือด้านวิชาการเกี่ยวกับกฎระเบียบด้านผลิตภัณฑ์การบำบัดโรค (therapeutic products) โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบของฝ่ายไทย เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เป็นต้น สาขาการศึกษา อาทิ สนับสนุนโมเดลด้านนวัตกรรมเพื่อช่วยการรับรองความสามารถและความเป็นหุ้นส่วนด้านสถาบันและการวิจัย การเสริมสร้างความร่วมมือด้านอาชีวศึกษา โดยเน้นย้ำในเรื่องการพัฒนาทักษะครู พัฒนาหลักสูตรข้ามพรมแดน และสนับสนุนนักวิจัยจากไทยเพื่อเข้าถึงการฝึกงานในออสเตรเลีย โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบของฝ่ายไทย เช่น อว. สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นต้น สาขาการค้าดิจิทัลและเศรษฐกิจดิจิทัล อาทิ แลกเปลี่ยนความเห็นต่อกฎระเบียบด้านการค้าดิจิทัล ส่งเสริมเครือข่าย Digital Start up แลกเปลี่ยน ข้อมูลแพลตฟอร์มออนไลน์ธุรกิจด้านอาหารและของอุปโภคบริโภค ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ของแพลตฟอร์มออนไลน์ในการพัฒนาความรู้และทักษะสำหรับเตรียมความพร้อมแรงงานเข้าสู่อาชีพอิสระระหว่างไทยและออสเตรเลียโดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบของฝ่ายไทย เช่น พณ. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กระทรวงแรงแรงงาน เป็นต้น สาขาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อาทิ สร้างเครือข่ายอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยเฉพาะในสาขาภาพยนตร์และเนื้อหาด้านดิจิทัล (Digital content) รวมถึงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านมรดกทางวัฒนธรรม โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบของฝ่ายไทย เช่น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) เป็นต้น สาขาการลงทุนระหว่างกันมีการกําหนดกิจกรรมในการสร้างเครือข่ายภาคธุรกิจด้านการลงทุน แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการยอมรับทักษะแรงงานระหว่างกัน โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบของฝ่ายไทย เช่น สํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สํานักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก สํานักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เป็นต้น
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน กระทรวงวัฒนธรรม สํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกพิจารณาแล้วเห็นชอบ/ไม่ขัดข้องตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ประกอบกับกระทรวงการต่างประเทศ (กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย) และสํานักงาน คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่าร่างเอกสารทั้ง 2 ฉบับไม่มีถ้อยคําหรือบริบทใด ที่มุ่งจะเกิดผลผูกพันตามกฎหมายระหว่างกันตามกฎหมายระหว่างประเทศ จึงไม่เป็น สนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
_________________________________
1คณะรัฐมนตรีมีมติ (8 พฤศจิกายน 2565) เห็นชอบบันทึกความเข้าใจดังกล่าว
2ได้แก่ (1) เกษตร เทคโนโลยี และระบบอาหารที่ยั่งยืน (2) การท่องเที่ยว (3) บริการสุขภาพ (4) การศึกษา (5) การค้าดิจิทัลและเศรษฐกิจดิจิทัล (6) เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (7) การลงทุนระหว่างกัน และ (8) พลังงาน เศรษฐกิจสีเขียว และการลดการปล่อยคาร์บอน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 30 กรกฎาคม 2567
7871