มาตรการภาษีในการสนับสนุนคนไทยที่มีศักยภาพที่ทำงานในต่างประเทศให้กลับเข้ามาทำงานในประเทศ
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 30 July 2024 23:41
- Hits: 9687
มาตรการภาษีในการสนับสนุนคนไทยที่มีศักยภาพที่ทำงานในต่างประเทศให้กลับเข้ามาทำงานในประเทศ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบมาตรการภาษีในการสนับสนุนคนไทยที่มีศักยภาพที่ทำงานในต่างประเทศให้กลับเข้ามาทำงานในประเทศ
2. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป
ข้อเท็จจริงและสาระสำคัญของมาตรการและร่างกฎหมายในเรื่องนี้
กค. เสนอว่า
1. จากการเผยแพร่รายงานของธนาคารโลกในปี 2021 พบว่า ประเทศไทยยังคงประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะระดับสูง โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวและอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน รัฐบาลจึงจำเป็นต้องส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับศักยภาพของประเทศ นอกจากนี้ ปัจจุบันสถานการณ์การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะเฉพาะด้านและแรงงานที่มีศักยภาพสูงในประเทศไทยมีแนวโน้มที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยอาจส่งผลให้ประเทศไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ประกอบกับประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศ
2. กค. พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อเป็นการดึงดูดคนไทยที่มีศักยภาพสูงและมีความเชี่ยวชาญในสาขาตามความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมายให้กลับเข้ามาทำงานในประเทศ ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งตอบสนองความต้องการทรัพยากรบุคคลและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในภาพรวม จึงเห็นควรเสนอมาตรการภาษีในการสนับสนุนคนไทยที่มีศักยภาพที่ทำงานในต่างประเทศให้กลับเข้ามาทำงานในประเทศ โดยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรแก่บุคคลธรรมดา (ลูกจ้าง) สำหรับคนไทยที่เคยทำงานอยู่ในต่างประเทศและจะกลับเข้ามาทำงานในประเทศในสาขาความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (นายจ้าง) ที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายซึ่งได้จ่ายเงินเดือนให้แก่บุคคลธรรมดาที่เดินทางกลับเข้ามาทำงานในประเทศ โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
ประเด็น |
รายละเอียด |
|||||||||||
1. วัตถุประสงค์ |
● เพื่อดึงดูดคนไทยที่มีศักยภาพสูงและมีความเชี่ยวชาญในสาขาตามความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมายให้กลับเข้ามาทำงานในประเทศไทยในอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศตามกฎหมาย ดังต่อไปนี้. 1) พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 2) พระราชบัญญัติการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ. 2560 3) พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 (อย่างไรก็ตาม ในการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ออกตามพระราชบัญญัติดังกล่าวข้างต้นก็ได้มีการออกประกาศสำนักงาน/คณะกรรมการ โดยอาศัยอำนาจตามพะราชบัญญัติดังกล่าวทั้ง 3 ฉบับ |
|||||||||||
2. กลุ่มเป้าหมาย |
● คนไทยซึ่งมีประสบการณ์ทำงานในต่างประเทศอย่างน้อย 2 ปี และวุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี |
|||||||||||
3. สิทธิประโยชน์ทางภาษี |
3.1 กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ลูกจ้าง) 1) ลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในการหักภาษี ณ ที่จ่ายเหลืออัตราร้อยละ 17 ของเงินได้สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับเนื่องจากการจ้างแรงงานของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันฯ กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนหรือกฎหมายว่าด้วยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เมื่อคำนวณภาษีตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีในอัตราที่กำหนดในบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงกว่าร้อยละ 17 ของเงินได้ ทั้งนี้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2572 ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด ในกรณีที่คำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากรแล้วอยู่ในบังคับต้องเสียเท่ากับหรือน้อยกว่าร้อยละ 17 ของเงินได้ ให้ผู้มีเงินได้มีสิทธิได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้พึงประเมินดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เมื่อผู้มีเงินได้ยอมให้ผู้จ่ายเงินได้หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 17 ของเงินได้นั้น 2) ให้ผู้มีเงินได้ซึ่งถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 17 ของเงินได้ ตาม 1) ไว้แล้วเมื่อถึงกำหนดยื่นแบบแสดงรายการภาษี ไม่ต้องนำเงินได้พึงประเมินนั้นไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เฉพาะกรณีไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้คืนหรือไม่ขอเครดิตคืนภาษีที่ถูกหักไว้ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ในกรณีที่มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) และ (8) แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 แห่งประมวลรัษฎากรไว้แล้วด้วยและมีสิทธิเลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้พึงประเมินดังกล่าวตามมาตรา 48 (3) และ (4) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้มีเงินได้จะใช้สิทธิได้ เมื่อไม่นำเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) และ (8) แห่งประมวลรัษฎากรนั้นไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้คืนและไม่ขอเครดิตภาษีที่ถูกหักไว้ ไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน 3.2 กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล (นายจ้าง) ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนส่วนนิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือกฎหมายว่าด้วยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหักรายจ่ายเงินเดือนตามสัญญาจ้างแรงงานของลูกจ้างซึ่งมีคุณสมบัติตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดที่จ่ายไประหว่างวันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2572 ได้ 1.5 เท่า (ปกติหักได้ 1 เท่า) ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด |
|||||||||||
4. หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข |
4.1 กรณีผู้มีเงินได้ (ลูกจ้าง) 1) ลูกจ้างจะต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้ 1.1) วุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี 1.2) ประสบการณ์ทำงานในต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 2 ปี โดยมีเอกสารรับรองการทำงานจากนายจ้างในต่างประเทศหรือเอกสารอื่นใดที่ยืนยันประสบการณ์ทำงานในต่างประเทศ เช่น สัญญาจ้างงาน หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายจากรายได้จากการทำงานในต่างประเทศหรือเอกสารอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกัน 1.3) ต้องเดินทางกลับเข้าประเทศไทยในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 1.4) เป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายตามกฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันฯ กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือกฎหมายว่าด้วยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยต้องเริ่มทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานในช่วงเวลาวันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 1.5) ต้องไม่เคยทำงานในประเทศไทยในปีภาษีที่มีการเริ่มใช้สิทธิประโยชน์ 1.6) กรณีที่ใช้สิทธิลดอัตราภาษีเงินได้ในปีภาษีใดเป็นครั้งแรก ต้องไม่ได้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยก่อนปีภาษีที่ใช้สิทธินั้นอย่างน้อย 2 ปี หรือถ้าเข้ามาอยู่ในประเทศไทยก่อนปีภาษีที่ใช้สิทธินั้นอย่างน้อย 2 ปี หรือถ้าเข้ามาอยู่ในประเทศไทยในช่วง 2 ปีก่อนหน้านั้น ต้องอยู่เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะเวลารวมทั้งหมดไม่ถึง 180 วันในปีภาษีนั้นๆ 1.7) ในปีภาษีที่ใช้สิทธิลดอัตราภาษีเงินได้ จะต้องอยู่ในประเทศไทยชัวระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะเวลารวมเวลาทั้งหมดไม่น้อยกว่า 180 วันในปีภาษีที่ใช้สิทธินั้น เว้นแต่ปีภาษีแรกและปีภาษีสุดท้ายที่ใช้สิทธิ จะอยู่ในประเทศไทยน้อยกว่า 180 วันก็ได้ 2) ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามที่กรมสรรพากรกำหนด 3) หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามมาตรการนี้ กรมสรรพากรสามารถกำหนดเพิ่มเติมได้ตามสมควร 4.2 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (นายจ้าง) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประสงค์จะใช้สิทธิตามข้อ 3.2 ต้องแจ้งชื่อผู้มีเงินได้ที่เป็นลูกจ้างซึ่งจะใช้สิทธิลดอัตราภาษีตามข้อ 3.1 ซึ่งมีข้อความและเอกสารประกอบอย่างน้อยตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดผ่านสรรพากรพื้นที่ที่สถานประกอบกิจการตั้งอยู่ภายในวันสุดท้ายท้ายของปีภาษีแรกที่ผู้มีเงินได้ใช้สิทธิลดอัตราภาษี และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องรับรองว่าข้อมูลและเอกสารที่แจ้งต่อกรมสรรพากรมีความถูกต้องและเป็นความจริง |
|||||||||||
5. ระยะเวลาดำเนินการ |
● วันที่มาตรการมีผลใช้บังคับ : วันถัดจากวันที่กฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษา ● วันที่เริ่มต้นและวันที่สิ้นสุดในการเดินทางกลับเข้าประเทศของผู้เข้าร่วมมาตรการ : ตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 ● ระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้เข้าร่วมมาตรการ : ตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2572
|
|||||||||||
6. ช่องทางในการประชาสัมพันธ์ |
● มอบหมายให้กระทรวงต่างประเทศดำเนินการประชาสัมพันธ์มาตรการภาษีในการสนับสนุนคนไทยที่มีศักยภาพที่ทำงานในต่างประเทศให้กลับเข้ามาทำงานในประเทศผ่านสถานเอกอัครราชทูตไทยในต่างประเทศ ● มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ในการประชาสัมพันธ์ให้บริษัทที่ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมายรับทราบรายละเอียดของมาตรการนี้ |
ทั้งนี้ การดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวข้างต้นจะออกเป็นร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... จำนวน 1 ฉบับ ซึ่ง กค. จึงได้ดำเนินการยกร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมาด้วยแล้ว
3. กค. ได้จัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว
3.1 มาตรการภาษีดังกล่าวได้มีการจัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้ โดยคาดการณ์ว่า
1) กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คาดว่าจะมีผู้ใช้สิทธิตามมาตรการดังกล่าวจำนวนประมาณ 500 คน ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะไม่ก่อให้เกิดการสูญเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มที่ทำงานอยู่ในต่างประเทศและไม่เคยเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับประเทศไทย ดังนั้น การดำเนินมาตรการนี้อาจเป็นการเพิ่มการจัดเก็บรายได้ให้แก่รัฐบาล
2) กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล คาดว่าจะสูญเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณ 120 ล้านบาท จากการคาดการณ์ว่าจะมีคนไทยที่มีศักยภาพที่ทำงางานในต่างประเทศกลับเข้ามาทำงานในประเทศจำนวนประมาณ 500 คน
3.2 มาตรการภาษีดังกล่าวมีประโยชน์และผลกระทบที่คาดว่าจะได้รับ ดังนี้
1) เป็นการดึงดูดคนไทยที่มีศักยภาพให้กลับเข้ามาทำงานในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นการเพิ่มจำนวนบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570) ของ สกท. ที่มุ่งหมายการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ให้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายมากขึ้น เช่น อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน
2) เป็นการเพิ่มการจัดเก็บรายได้ให้แก่รัฐบาล เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มที่ทำงานอยู่ในต่างประเทศ และไม่เคยเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับประเทศไทย อย่างไรก็ดี คาดว่าจะมีการสูญเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ตามจำนวนผู้ใช้สิทธิตามมาตรการ
3) การดำเนินมาตรการดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำกับผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ซึ่งไม่เข้าเงื่อนไขในการรับสิทธิประโยชน์ดังกล่าว ตลอดจนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายอาจจ้างงานเฉพาะลูกจ้างคนไทยที่เข้าเงื่อนไขตามมาตรการนี้ เพื่อสิทธิประโยชน์ในการหักรายจ่ายได้เพิ่มเติม รวมถึงอาจทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานในกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายในระยะสั้น กรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในอุตสาหกรรมเป้าหมายมีการหมุนเวียนลูกจ้างของบริษัทในเครือกลับเข้ามา (Rotate) เพื่อใช้สิทธิประโยชน์และเมื่อได้รับสิทธิประโยชน์แล้วก็เดินทางกลับไปทำงานในต่างประเทศเช่นเดิม
4) ปัจจุบันบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมายได้รับสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพื่อส่งเสริมการลงทุนตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนฯ พระราชบัญญัติการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันฯ หรือพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออกฯ ซึ่งการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีดังกล่าวแล้ว อาจมีผลต่อการตัดสินใจของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมายในการเข้าร่วมมาตรการนี้
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 30 กรกฎาคม 2567
7873