ขอความเห็นชอบดำเนินโครงการสินเชื่อ SME Green Productivity วงเงิน 15,000 ล้านบาท เป็นโครงการสินเชื่อธุรกรรมนโยบายรัฐ (Public Service Account : PSA)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 30 July 2024 23:44
- Hits: 9784
ขอความเห็นชอบดำเนินโครงการสินเชื่อ SME Green Productivity วงเงิน 15,000 ล้านบาท เป็นโครงการสินเชื่อธุรกรรมนโยบายรัฐ (Public Service Account : PSA)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ดำเนินโครงการสินเชื่อ SME Green Productivity (โครงการฯ) วงเงิน 15,000 ล้านบาท และให้ ธพว. แยกบัญชีการดำเนินโครงการฯ ออกจากการดำเนินการตามปกติเป็นโครงการธุรกรรมนโยบายรัฐ (Public Service Account : PSA) รวมทั้งสามารถนำส่วนต่างระหว่างค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจริงและค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่ได้รับชุดเชย เพื่อบวกกลับในการคำนวณโบนัสประจำปีของพนักงานได้ และเป็นส่วนหนึ่งในการปรับตัวชี้วัดทางการเงินที่เกี่ยวข้องตามบันทึกข้อตกลงประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจได้
2. อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณชดเชยเพื่อดำเนินโครงการฯ โดยขอรับงบประมาณชดเชยเป็นระยะเวลา 3 ปี ในกรอบวงเงินงบประมาณ 1,350 ล้านบาท
สำหรับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น เห็นควรให้ ธพว. จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามผลการดำเนินงานจริงตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
สาระสำคัญของเรื่อง
อก. รายงานว่า
1. เศรษฐกิจไทยขยายตัวในอัตราที่ต่ำมาเป็นเวลานานโดยในปี 2566 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.9 และในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.5 ซึ่งภายหลังจากที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด 19 ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SME) ต้องเผชิญกับความผันผวนของต้นทุนวัตถุดิบจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลกต่อเนื่อง จึงยังคงอยู่ในสภาวะเปราะบางและมีสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non Performing Loans : NPLs) อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการให้สินเชื่อ ผู้ประกอบการ SME จึงเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยาก ทำให้ที่ผ่านมาสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหดตัวต่อเนื่อง ภาครัฐจึงควรเพิ่มสภาพคล่องผ่านสถาบันเฉพาะกิจของรัฐ ต่อมาคณะกรรมการ ธพว. ในคราวประชุมครั้งที่ 9/2567 เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 มีมติเห็นชอบหลักการโครงการสินเชื่อ SME Green Productivity วงเงินโครงการ 15,000 ล้านบาท เป็นโครงการสินเชื่อธุรกรรมนโยบายรัฐ (Public Service Account : PSA) ผ่าน อก. เพื่อพิจารณานำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
2. อก. โดยการบูรณาการร่วมกับ ธพว. (มี 96 สาขา ครอบคลุมทุกจังหวัด) เพื่อเป็นกลไกของรัฐบาลในการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนแหล่งเงินทุนต้นทุนต่ำเพื่อให้ผู้ประกอบการ SME สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนตามศักยภาพ มีเงินทุนและสภาพคล่องเพียงพอที่จะสามารถฟื้นฟู ปรับปรุงกิจการ ขยายธุรกิจ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ รวมถึงเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียวและลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ อก. จึงขอเสนอโครงการสินเชื่อ SME Green Productivity โดยมีสาระสำคัญของหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการสรุปได้ ดังนี้
หลักเกณฑ์และเงื่อนไข |
รายละเอียด |
|
วัตถุประสงค์ |
สนับสนุนแหล่งเงินทุนให้แก่ผู้ประกอบการ SME เพื่อยกระดับและเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียว โดยมุ่งเน้นการเพิ่มผลิตภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ เพื่อให้ผู้ประกอบการ SME สามารถแข่งขันได้ และเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้บรรลุเป้าหมายด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม |
|
กลุ่มเป้าหมาย |
ผู้ประกอบการ SME ประเภทบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ดังนี้ (1) ผู้ประกอบการ SME ที่ต้องการติดตั้งระบบหรืออุปกรณ์ต่อเนื่อง เพื่อปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด (2) ผู้ประกอบการ SME ที่ต้องการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตหรือเครื่องจักร อุปกรณ์ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการบริหารจัดการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ หรือลดการใช้พลังงาน (3) ผู้ประกอบการ SME ที่มีกระบวนการผลิตหรือเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) (4) ผู้ประกอบการ SME ที่ผ่านการพัฒนาหรือยกระดับด้านผลิตภาพ (Productivity) จากหน่วยงานราชการหรือพันธมิตรที่ ธพว. กำหนด |
|
ระยะเวลากู้ยืม |
ระยะเวลากู้ 10 ปี ปลอดชำระหนี้เงินต้น (Grace Period) สูงสุด 1 ปี |
|
วงเงินสินเชื่อโครงการ |
15,000 ล้านบาท |
|
วงเงินสินเชื่อต่อราย |
ไม่เกินรายละ 10 ล้านบาท |
|
วัตถุประสงค์การกู้ |
เพื่อเป็นเงินลุงทน และ/หรือ เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน |
|
ระยะเวลายื่นขอสินเชื่อ |
ตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นขอบ โดยสิ้นสุดรับคำขอกู้ภายใน 30 ธันวาคม 2568 หรือจนกว่าวงเงินสินเชื่อรวมในโครงการจะหมด แล้วแต่ระยะเวลาใดจะถึงก่อน |
|
อัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อโครงการ |
คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่จากผู้รู้ร้อยละ 3 ต่อปี ใน 3 ปีแรก (จากร้อยละ 6 โดยรัฐบาลชดเชยอัตราดอกเบี้ยให้แก่ ธพว. ร้อยละ 3 ต่อปี ใน 3 ปีแรก) ตั้งแต่ปีที่ 4 เป็นต้นไป ให้เป็นไปตามอัตราดอกเบี้ยที่ ธพว. กำหนด |
|
หลักประกัน |
ใช้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ) ค้ำประกัน และ/หรือ หลักประกันตามที่ ธพว. กำหนด |
|
การขอรับงบประมาณชดเชยจากรัฐบาล |
รัฐบาลชดเชยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยให้กับ ธพว. ในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปี รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 1,350 ล้านบาท (วงเงิน 15,000 ล้านบาท x อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 x ระยะเวลา 3 ปี) โดย ธพว. จะทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ (สงป.) เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณเป็นรายปีต่อไป |
|
เงื่อนไขอื่นๆ |
(1) ธพว. แยกบัญชีโครงการเป็นบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐ (Public Service Account : PSA) (2) ธพว. สามารถนำส่วนต่างระหว่างค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจริงและค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่ได้รับชดเชย เพื่อบวกกลับในการคำนวณโบนัสประจำปีของพนักงานได้ และเป็นส่วนหนึ่งในการปรับตัวชี้วัดทางการเงินที่เกี่ยวข้องตามบันทึกข้อตกลงประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจได้ (3) ธพว. สามารถกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีปฏิบัติตามระเบียบคำสั่งของธนาคารได้ |
|
ประโยชน์ |
(1) ผู้ประกอบการ SME สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ประมาณ 1,500 ราย เพื่อยกระดับผลิตภาพและเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียว และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ เกิดความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก (2) สร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ประมาณ 68,700 ล้านบาท รักษาการจ้างงานได้ไม่น้อยกว่า 24,000 อัตรา สนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกในธุรกิจ SME ได้ประมาณ 345,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 30 กรกฎาคม 2567
7874