WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

รายงานผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน (กรณีระเบียบกระทรวงแรงงานกำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิเลือกตั้งกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม โดยไม่คำนึงถึงหลักการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย) คณะรัฐมนตรีร

Gov 48

รายงานผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน (กรณีระเบียบกระทรวงแรงงานกำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิเลือกตั้งกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม โดยไม่คำนึงถึงหลักการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย)

          คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน (กรณีระเบียบกระทรวงแรงงานกำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิเลือกตั้งกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคมโดยไม่คำนึงถึงหลักการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย) ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ และแจ้งให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทราบต่อไป 

          เรื่องเดิม

          1. กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติกรณีระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการ ในคณะกรรมการประกันสังคม พ.ศ. 2564 ข้อ 16 (1) กำหนดว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีสัญชาติไทย โดยผู้ร้องเห็นว่า ระเบียบกระทรวงแรงงานฯ ไม่สอดคล้องกับมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติมที่บัญญัติให้การเลือกตั้งกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคมต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตน ซึ่งผู้ประกันตนที่ชำระเงินสมทบในระบบประกันสังคม มีทั้งบุคคลสัญชาติไทยและบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย ระเบียบกระทรวงแรงงานฯ จึงเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ซึ่ง กสม. เห็นว่า ระเบียบกระทรวงแรงงานฯ เป็นบทบัญญัติที่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งเชื้อชาติ จึงเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน กสม. ได้มีข้อเสนอแนะไปยัง รง. เพื่อให้แก้ไขระเบียบกระทรวงแรงงานฯ และให้เร่งรัดจัดการเลือกตั้งเพื่อให้ได้ผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม

          2. ต่อมา รง. โดยสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้แจ้งผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ กสม. ว่า สปส. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางการใช้สิทธิเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคมของผู้ประกันตนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (เฉพาะกิจ) ในการศึกษาและวิเคราะห์การใช้สิทธิเลือกตั้งของบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยและหลักการทางสิทธิมนุษยชนแล้ว เห็นควรให้คงข้อ 16 (1) ของระเบียบกระทรวงแรงงานฯ ไว้ โดยไม่แก้ไขระเบียบกระทรวงแรงงานฯ เนื่องจากได้นำหลักการและเหตุผลหลายปัจจัยมาพิจารณาด้วยแล้ว

          3. กสม. เห็นว่า รง. ไม่ได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะดังกล่าว โดยไม่มีเหตุอันสมควรเนื่องจากกองทุนประกันสังคมได้จัดเก็บเงินสมทบในระบบประกันสังคมจากบุคคลสัญชาติไทยและบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย ระเบียบกระทรวงแรงงานฯ จึงไม่สอดคล้องกับมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งเชื้อชาติ จึงได้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการให้ รง. ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ กสม. ต่อไป

          4. คณะรัฐมนตรีมีมติ (24 ตุลาคม 2566) รับทราบข้อเสนอแนะของ กสม. ในเรื่องดังกล่าว ตามที่ กสม. เสนอ และมอบหมายให้ รง. เป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าว และให้ รง. สรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

          สาระสำคัญของเรื่อง

          รง. รายงานว่า ได้ประชุมหารือเพื่อพิจารณาข้อเสนอแนะของ กสม. ในเรื่องดังกล่าว ตามข้อ 4 ร่วมกับ พม. มท. สธ. สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สคก. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ผู้แทนเครือข่ายแรงงานนอกระบบ ผู้ทรงคุณวุฒิ และนักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2567 วันที่ 31 มกราคม 2567 และวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 รวม 3 ครั้ง ซึ่งมีผลการพิจารณา ดังนี้ 

          1. การพิจารณาว่าระเบียบกระทรวงแรงงานฯ ข้อ 16 (1) ที่กำหนดว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีสัญชาติไทย หรือไม่ นั้น มีหลักในการพิจารณาที่สำคัญ 2 ประการ คือ หลักการห้ามเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง และสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันมีสิทธิได้รับ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

              1.1 ประการที่ 1 หลักการห้ามเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

                   1.1.1 หลักการห้ามเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยมาตรา 27 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 45/2546 วางแนวทางการวินิจฉัย เรื่อง การห้ามเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลไว้สรุปได้ว่า การที่พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พุทธศักราช 2482 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 20 กำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลที่มีสัญชาติไทยแต่บิดาเป็นคนต่างด้าวต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย ซึ่งเป็นการกำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลต้องมีคุณสมบัติทางการศึกษาอันเป็นเงื่อนไขที่เพิ่มขึ้น ตามเชื้อชาติของบุคคล ทำให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีสัญชาติไทยแต่บิดาเป็นคนต่างด้าวต้องมีคุณสมบัติแตกต่างกับผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีสัญชาติไทยโดยการเกิด ทั้งที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งดังกล่าวไม่มีสถานะของบุคคลแตกต่างกันแต่อย่างใด ทำให้เกิดความไม่เสมอภาคกันในกฎหมาย อีกทั้งเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติ ซึ่งต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จะเห็นได้ว่า การพิจารณาว่าบทบัญญัติใดเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลหรือไม่นั้น จำเป็นต้องพิจารณาสถานะของบุคคลเสียก่อนว่าบุคคลนั้นอยู่ในสถานะเดียวกันหรือไม่ เช่น หากเป็นบุคคลที่มีสัญชาติเดียวกันแต่มีเชื้อชาติแตกต่างกันก็ต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติ เป็นการต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแต่หากบุคคลนั้นมีสถานะที่แตกต่างกัน เช่น เป็นผู้ประกันตนที่มีสัญชาติไทยกับแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน ซึ่งสิทธิและเสรีภาพที่แรงงานทั้งสองประเกทได้รับก็ย่อมมีความแตกต่างกันตามที่กฎหมายกำหนด โดยกรณีของคนต่างด้าวนั้นหากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยประสงค์จะให้สิทธิเสรีภาพแก่คนต่างด้าวไว้อย่างไร ก็จะต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยโดยเฉพาะ แต่หากรัฐธรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยไม่ได้บัญญัติไว้ คนต่างด้าวมีสิทธิเพียงใดย่อมเป็นไปตามสนธิสัญญาและกฎหมายอื่นกำหนดไว้ นอกจากนั้นแม้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยในมาตราต่างๆ จะได้บัญญัติถ้อยคำไว้ว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิ” หรือ “บุคคลย่อมมีเสรีภาพ” แต่คำว่า “บุคคล” ในมาตราเหล่านั้นหมายถึง “ชนชาวไทย” ที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น เนื่องจากต้องถือว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นบทบัญญัติที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับคนสัญชาติของรัฐนั้นเอง ดังนั้น บทบัญญัติเกี่ยวกับการห้ามเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ตามมาตรา 27 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงเป็นบทบัญญัติที่กำหนดความสัมพันธ์รัฐบาลไทยกับคนที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น ไม่ได้ขยายความไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลไทยกับคนต่างด้าวที่ไม่มีสัญชาติไทย ด้วยเหตุดังกล่าว บทบัญญัติข้อ 16 (1) ของระเบียบกระทรวงแรงงานฯ ที่กำหนดว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีสัญชาติไทย จึงไม่เป็นบทบัญญัติที่ก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งเชื้อชาติตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยให้การรับรองคุ้มครองไว้ และการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวก็ไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนแต่อย่างใด

                   1.1.2 หลักการห้ามเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งเมื่อพิจารณาบทบัญญัติของกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องทั้งสองฉบับดังกล่าวแล้วเห็นว่า ได้มีการกำหนดหลักการห้ามเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่อง “เชื้อชาติ” ไว้โดยชัดเจน ซึ่งความหมายของคำว่า “เชื้อชาติ” นั้น ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้ให้ความหมายไว้ว่า หมายถึง ผู้ที่ร่วมเผ่าพันธุ์เดียวกัน ซึ่งเป็นถ้อยคำที่มีความหมายแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญกับคำว่า “สัญชาติ” ที่หมายความถึงสถานะตามกฎหมายของบุคคลที่แสดงว่าเป็นพลเมืองหรือคนในบังคับของประเทศใดประเทศหนึ่ง ดังนั้น การพิจารณาว่า บทบัญญัติใดเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล หรือไม่ ตามหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศทั้งสองฉบับ จึงต้องใช้หลักการเช่นเดียวกันกับการพิจารณาบทบัญญัติตามมาตรา 27 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กล่าวคือ ต้องพิจารณาสถานะของบุคคลเสียก่อนว่าบุคคลนั้นอยู่ในสถานะเดียวกันหรือไม่ เช่น หากเป็นบุคคลที่มีสัญชาติเดียวกัน แต่มีเชื้อชาติแตกต่างกันก็ต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติเป็นการต้องห้าม แต่หากบุคคลนั้นมีสถานะที่ต่างกัน เช่น เป็นผู้ประกันตนที่มีสัญชาติไทยกับแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน ซึ่งผู้ประกันตนทั้งสองประเภทนี้ ย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่ได้รับการรับรองตามกฎหมายที่แตกต่างกัน ตามที่กฎหมายภายในของรัฐนั้นกำหนด ดังนั้น บทบัญญัติข้อ 16 (1) ของระเบียบกระทรวงแรงงานฯ ที่กำหนดว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีสัญชาติไทย จึงไม่เป็นบทบัญญัติที่ก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งเชื้อชาติตามที่กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองให้การรับรองและคุ้มครองไว้ เนื่องจากมิได้มีการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลด้วยเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติแต่อย่างใด และการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวก็ไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนแต่อย่างใด

              1.2 ประการที่ 2 การพิจารณาจากสิทธิประโยชน์หลักที่ผู้ประกับตนมีสิทธิได้รับสามารถแบ่งออกเป็น 2 กรณี ได้แก่ สิทธิประโยชน์หลักของผู้ประกันตนตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และสิทธิประโยชน์ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

                   1.2.1 สิทธิประโยชน์หลักของผู้ประกันตนตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกันกันสังคม พ.ศ. 2533 โดยที่กองทุนประกันสังคมมีเจตนารมณ์จัดตั้งขึ้นเพื่อจัดสิทธิประโยชน์ในด้านต่างๆ ให้แก่ผู้ประกันตนภายใต้หลักการของการร่วมจ่ายเงินสมทบจากบุคคล 3 ฝ่าย ได้แก่ ผู้ประกันตน นายจ้าง และรัฐบาล เพื่อนำเงินสมทบที่ได้มาจัดสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตน 7 กรณี ได้แก่ 1) ประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย รวมทั้งการส่งเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรค 2) ประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตร 3) ประโยชน์ทดแทนในกรณีทุพพลภาพ 4) ประโยชน์ทดแทนในกรณีตาย 5) ประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร 6) ประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ และ 7) ประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานยกเว้นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ซึ่งการได้รับสิทธิประโยชน์ทั้ง 7 กรณีดังกล่าว เป็นสิทธิประโยชน์หลักที่ผู้ประกันตนจะได้รับอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าผู้ประกันตนนั้นจะเป็นผู้ประกันตนสัญชาติไทยหรือเป็นแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และ สปส. ได้มีแนวทางขยายความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ประกันตนมีหลักประกันทางสังคมที่มั่นคงภายใต้ระบบประกันสังคมที่มีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น

                   1.2.2 สิทธิประโยชน์หลักของผู้ประกันตามที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 ได้กำหนดให้สิทธิแก่ลูกจ้างที่ได้รับความเจ็บป่วยที่เกิดจากการทำงานได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทนใน 4 กรณี ได้แก่ 1) ค่ารักษาพยาบาล 2) ค่าทดแทนรายเดือน ซึ่งจะได้รับค่าทดแทนร้อยละ เจ็ดสิบของค่าจ้างรายเดือนไม่เกิน 14,000 บาทต่อเดือน (ค่าจ้างสูงสุด 20,000 บาท) 3) ค่าทำศพ และ 4) ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานสำหรับลูกจ้างที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟู ซึ่งสิทธิตามพระราชบัญญัติเงินทดแทนฯ ลูกจ้างจะได้รับสิทธิดังกล่าวอย่างเสมอภาคไม่ว่าลูกจ้างนั้น จะมีสัญชาติไทยหรือเป็นแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน

          2. เมื่อพิจารณาบทบัญญัติของกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง และสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนจะได้รับดังกล่าวข้างต้นแล้วจะเห็นได้ว่า รง. โดย สปส. ได้จัดสิทธิประโยชน์หลักที่ผู้ประกันตนจะมีสิทธิ์ได้รับให้แก่ผู้ประกันตนอย่างเสมอภาคและปราศจากการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าผู้ประกันตนนั้นจะเป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน อันเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับหลักการห้ามเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติแล้ว

          3. สำหรับสิทธิในการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเพื่อเข้าเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคมของแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน นั้น เนื่องจากสิทธิในกรณีดังกล่าวไม่ได้มีการบัญญัติรับรองไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น รง. โดย สปส. จึงจำเป็นต้องออกระเบียบกระทรวงแรงงานฯ ในข้อ 16 (1) โดยกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งว่า ต้องมีสัญชาติไทยเพื่อให้สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับคุณสมบัติของผู้มีสิทธิรับเลือกตั้ง ซึ่งการออกระเบียบกระทรวงแรงงานฯ ได้พิจารณาจากความจำเป็นและความเหมาะสมเพื่อให้การบริหารราชการบรรลุเป้าหมายเกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐและเกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐตามหลักเกณฑ์การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และได้คำนึงถึงผลกระทบด้านความมั่นคงและผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศประกอบด้วย เนื่องจากคณะกรรมการประกันสังคมมีหน้าที่และอำนาจที่สำคัญอันอาจมีผลต่อความมั่นคงของรัฐและระบบเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น ระเบียบกระทรวงแรงงานฯ ฉบับนี้ จึงไม่ใช่บทบัญญัติที่ก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งเชื้อชาติตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองให้การรับรองและคุ้มครองไว้ และไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนแต่อย่างใด

          4. สำหรับข้อเสนอแนะของ กสม. ที่เสนอให้ รง. แก้ไขระเบียบกระทรวงแรงงานฯ ข้อ 16 (1) ที่กำหนดว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีสัญชาติไทย เพื่อมิให้เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมและคำนึงถึงการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กฎหมายและหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามให้การรับรองและคุ้มครองไว้ นั้น รง. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การจะให้สิทธิแก่ผู้ประกันตนที่เป็นคนต่างด้าวมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้นั้น เป็นเรื่องที่มีความสำคัญซึ่งอาจมีผลกระทบกับความมั่นคงของรัฐและความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจของประเทศ จึงมิอาจดำเนินการเพียงแค่การแก้ไขระเบียบกระทรวงแรงงานฯ เท่านั้น แต่จำเป็นต้องมีการศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนรอบด้าน โดยเฉพาะประเด็นเรื่องผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐและระบบเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนำข้อมูลที่ได้มาประกอบการพิจารณาถึงความจำเป็นและความเหมาะสมว่าควรให้สิทธิแก่แรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมได้หรือไม่ เพียงใด โดย รง. ได้สรุปผลการพิจารณาในภาพรวมได้ ดังนี้

 

ข้อเสนอแนะของ กสม.

 

สรุปผลการพิจารณาในภาพรวม

1. ให้ รง. แก้ไขระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม .. 2564 ข้อ 16 (1) ที่กำหนดว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีสัญชาติไทย

 

เห็นควรคงระเบียบกระทรวงแรงงานฯ ข้อ 16 (1) เนื่องจากเห็นว่า ไม่ขัดหลักการสิทธิมนุษยชนด้วยเหตุผล ดังนี้

          1. สิทธิประโยชน์หลักของผู้ประกันตนซึ่งผู้ประกันตนจะได้รับอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าผู้ประกันตนจะมีสัญชาติไทยหรือเป็นแรงงานข้ามชาติ

          2. สิทธิของผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานข้ามชาติในด้านอื่นๆ จะมีสิทธิเพียงใด ย่อมเป็นไปตามอำนาจอธิปไตยของรัฐที่จะกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ต่างๆ โดยตราเป็นกฎหมายใช้บังคับตามความเหมาะสมกับสภาพสังคมความมั่นคงทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ อีกทั้งต้องไม่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ และแม้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวดสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยในมาตราต่างๆ ที่บัญญัติไว้ว่าบุคคลย่อมมีสิทธิหรือบุคคลย่อมมีเสรีภาพแต่คำว่าบุคคลในมาตราเหล่านั้นหมายถึงชนชาวไทยที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น

2. ให้ รง. เร่งรัดจัดการเลือกตั้งเพื่อให้ได้ผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม

 

รง. ได้จัดการเลือกตั้งเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคมแล้วเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2566

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 30 กรกฎาคม 2567

 

 

7886

Click Donate Support Web 

TOA 720x100

EXIM One 720x90 C JMTL 720x100

SME720x100 2024

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

kbank 720x100 66

ธกส 720x100PTG 720x100

ใจฟู720x100px

AXA 720 x100

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!