ร่างระเบียบว่าด้วยการโอนงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ และงบประมาณรายจ่ายบุคลากรระหว่างหน่วยรับงบประมาณ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 31 July 2024 01:19
- Hits: 10498
ร่างระเบียบว่าด้วยการโอนงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ และงบประมาณรายจ่ายบุคลากรระหว่างหน่วยรับงบประมาณ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างระเบียบว่าด้วยการโอนงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ และงบประมาณรายจ่ายบุคลากรระหว่างหน่วยรับงบประมาณ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่สำนักงบประมาณ (สงป.) เสนอ
ข้อเท็จจริงและสาระสำคัญของร่างระเบียบ
สงป. เสนอว่า
1. โดยที่ระเบียบว่าด้วยการโอนงบประมาณรายจ่ายบูรณาการและงบประมาณรายจ่ายบุคลากรระหว่างหน่วยรับงบประมาณ พ.ศ. 2562 กำหนดให้มีการพิจารณาเพื่อโอนงบประมาณรายจ่ายแผนงานบูรณาการต่างๆ ที่หน่วยรับงบประมาณไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ หรือกรณีเงินเหลือจ่ายที่โอนให้หน่วยรับงบประมาณอื่นในแผนงานบูรณาการเดียวกัน โดยจะต้องเริ่มกระบวนการพิจารณาเมื่อสิ้นไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ (สิ้นเดือนมีนาคมของทุกปี)
2. เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ประกาศใช้บังคับไม่ทันวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2566 สงป. โดยอนุมัตินายกรัฐมนตรีจึงได้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันได้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป
3. เมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567 ได้กำหนดแผนงานบูรณาการ จำนวน 10 แผนงาน1 ซึ่งปัจจุบันหน่วยรับงบประมาณยังอยู่ระหว่างการดำเนินการตามแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ หากมีการโอนงบประมาณรายจ่ายระหว่างหน่วยรับงบประมาณอาจทำให้ระยะเวลาการใช้จ่ายงบประมาณไม่เพียงพอให้ดำเนินการได้ทันตามแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เนื่องจากกระบวนการพิจารณาการโอนงบประมาณตามระเบียบว่าด้วยการโอนงบประมาณรายจ่ายบูรณาการและงบประมาณรายจ่ายบุคลากรระหว่างหน่วยรับงบประมาณ พ.ศ. 2562 ตามข้อ 1 ได้ล่วงเลยระยะเวลามาแล้ว (สิ้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567) ประกอบกับเหลือระยะเวลาในการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 อีกประมาณ 2 เดือน
4. สงป. พิจารณาแล้วเพื่อให้หน่วยรับงบประมาณใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปตามแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ รวมทั้งสอดคล้องและเป็นไปตามมาตรการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 2 เมษายน 2567 จึงได้ดำเนินการยกร่างระเบียบว่าด้วยการโอนงบประมาณรายจ่ายบูรณาการและงบประมาณรายจ่ายบุคลากรระหว่างหน่วยรับงบประมาณ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยเพิ่ม ข้อ 6 วรรคสอง และให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ดังนี้
ระเบียบการโอนงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ และงบประมาณรายจ่ายบุคลากรระหว่าง หน่วยรับงบประมาณ พ.ศ. 2562 |
ร่างระเบียบการโอนงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ และงบประมาณรายจ่ายบุคลากรระหว่าง หน่วยรับงบประมาณ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... |
|
ข้อ 6 ให้ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณรักษาการตามระเบียบนี้ และให้มีอำนาจกำหนดวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการโอนงบประมาณภายใต้ระเบียบนี้ได้ตามความจำเป็น กับให้มีอำนาจวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้ |
ข้อ 6 ให้ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณรักษาการตามระเบียบนี้ และให้มีอำนาจกำหนดวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการโอนงบประมาณภายใต้ระเบียบนี้ได้ตามความจำเป็น กับให้มีอำนาจวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้ ในกรณีที่มีความจำเป็นและไม่เกิดผลเสียหาย ต่อการบริหารงบประมาณรายจ่ายตามแผนงานบูรณาการหรือแผนงานบุคลากรภาครัฐ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณอาจยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบนี้ได้หรือดำเนินการที่แตกต่างไปจากระเบียบนี้เป็นรายกรณีก็ได้ และเมื่อได้ดำเนินการแล้ว ให้รายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ |
_____________
1 ได้แก่ (1) แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (2) แผนงานบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (3) แผนงานบูรณาการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ (4) แผนงานบูรณาการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย (5) แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (6) แผนงานบูรณาการป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด (7) แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ (8) แผนงานบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต (9) แผนงานบูรณาการรัฐบาลดิจิทัล และ (10) แผนงานบูรณาการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 30 กรกฎาคม 2567
7890