ภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2567
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 08 August 2024 00:01
- Hits: 8792
ภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2567
คณะรัฐมนตรีรับทราบภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2567 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ
ข้อวิเคราะห์/ความเห็น
สศช. ได้เสนอรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2567 โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. ความเคลื่อนไหวทางสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2567
1.1 ด้านแรงงาน
ประเด็น |
สรุปสถานการณ์ |
|
การจ้างงาน |
ภาพรวมการจ้างงานปรับตัวลดลงเล็กน้อย โดยผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 39.6 ล้านคน ลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ร้อยละ 0.1 ซึ่งเป็นผลจากการจ้างงาน ภาคเกษตรกรรมที่ลดลงกว่าร้อยละ 5.7 ในช่วงนอกฤดูการทำเกษตรกรรม |
|
ชั่วโมงการทำงาน |
ปรับตัวลงเล็กน้อยตามการทำงานล่วงเวลาที่ลดลง โดยไตรมาสหนึ่ง ปี 2567 ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยลดลงทั้งในภาพรวมและของภาคเอกชนที่ร้อยละ 0.9 และ 0.7 (โดยอยู่ที่ 41.0 และ 44.0 ชั่วโมง/สัปดาห์ตามลำดับ) เนื่องจากสถานประกอบการลดการทำงานล่วงเวลาลงโดยผู้ที่ทำงานล่วงเวลา1 ลดลงกว่าร้อยละ 3.6 |
|
ค่าจ้างแรงงาน |
ปรับเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 0.5 โดยค่าจ้างภาคเอกชนเฉลี่ยอยู่ที่ 13,789 บาท/คน/เดือน (เป็นผลจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา) ส่วนค่าจ้างเฉลี่ยในภาพรวมลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.4 หรืออยู่ที่ 15,052 บาท/คน/เดือน |
|
อัตราการว่างงาน |
อัตราการว่างงานในไตรมาสหนึ่ง ปี 2567 อยู่ที่ร้อยละ 1.01 โดยมีผู้ว่างงานจำนวน 4.1 แสนคน ลดลงร้อยละ 3.2 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยลดลงทั้งผู้ที่เคยและไม่เคยทำงานมาก่อน รวมถึงผู้ว่างงานระยะยาว ที่ร้อยละ 1.0 5.3 และ 4.9 ตามลำดับ สำหรับอัตราการว่างงานในระบบ อยู่ที่ร้อยละ 1.84 ลดลงจากร้อยละ 1.94 ในไตรมาสหนึ่ง ปี 2566 |
|
ประเด็นด้านแรงงานที่ควรให้ความสำคัญ |
เช่น (1) การขาดทักษะของแรงงานไทยที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาว เนื่องจากเยาวชนและกลุ่มวัยแรงงานของไทยจำนวนมากมีทักษะต่ำกว่าเกณฑ์ (ทักษะการรู้หนังสือ ทักษะดิจิทัล และทักษะด้านอารมณ์และสังคม) และ (2) การพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อให้ได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้น ค่าจ้างแรงงานกลุ่มทักษะปานกลางปรับเพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำเนื่องจากส่วนใหญ่ทำงานประจำจึงไม่ได้มีการพัฒนาทักษะมากนัก รวมถึงบางส่วนยังถูกทดแทนด้วยเครื่องจักร หุ่นยนต์ และเทคโนโลยี ดังนั้น จึงควรส่งเสริมให้แรงงานไทยมีการยกระดับอย่างต่อเนื่องและเร่งรัดการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมควบคู่กันไปด้วย |
1.2 ด้านหนี้สินครัวเรือน
หนี้สินครัวเรือนชะลอตัวต่อเนื่อง โดยไตรมาสสี่ปี 2566 และภาพรวมปี 2566 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 16.36 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.0 ลดลงจากร้อยละ 3.4 ของไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อปรับผลของฤดูกาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศอยู่ที่ร้อยละ 91.3 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 91.0 ของไตรมาสที่ผ่านมา
ประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ ได้แก่ (1) แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของหนี้เสียในสินเชื่อที่อยู่อาศัย วงเงินน้อยกว่า 3 ล้านบาท และ (2) การเร่งรัดสถาบันการเงินประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มลูกหนี้เรื้อรัง2 เข้าร่วมมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สิน
1.3 ด้านสุขภาพและการเจ็บป่วย
ไตรมาสหนึ่ง ปี 2567 จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2566 ร้อยละ 80.1 หรือเพิ่มจาก 144,187 ราย เป็น 259,672 ราย ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของโรคที่ระบาดต่อเนื่องจากไตรมาสสี่ ปี 2566 ได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่ พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ร้อยละ 195.2 หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าจากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา และโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 106.8 หรือเพิ่มขึ้น 2.1 เท่า เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นทำให้เอื้อต่อการเพิ่มประชากรของยุง ซึ่งส่งผลให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น ในส่วนของ ด้านสุขภาพจิตของคนไทยพบว่า มีผู้ที่เสี่ยงซึมเศร้าสูงร้อยละ 8.9 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีสัดส่วน ร้อยละ 8.4
ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ เช่น โรคที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเกิดการระบาดในปี 2567 ได้แก่ (1) โรค COVID-19 ซึ่งเป็นโรคที่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 พบผู้ป่วยสะสมทั้งสิ้น 652,868 ราย เสียชีวิต 848 ราย (2) โรคไข้หวัดใหญ่ ที่ยังพบผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 มีผู้ป่วย 460,325 ราย เสียชีวิต 29 ราย และ (3) โรคไข้เลือดออกในปี 2566 พบผู้ป่วย 156,097 ราย เสียชีวิต 187 ราย
1.4 ด้านการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่
ในไตรมาสหนึ่ง ปี 2567 การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.5 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของการบริโภคแอลกอฮอล์ ร้อยละ 7.7 เนื่องจากประชาชนมีการเฉลิมฉลองในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา ขณะที่การบริโภคบุหรี่ลดลงร้อยละ 1.0
ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่ (1) ผลกระทบของควันบุหรี่มือสอง3 จากข้อมูลการเสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสองที่วิเคราะห์โดย Institute for Health Metrics and Evaluation พบว่า มีคนไทยเสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสองจำนวน 9,433 ราย/ปี สูงกว่าประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีผู้เสียชีวิตจำนวน 7,300 ราย/ปี ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรรณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้ไม่สูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะ อาทิ ป้ายรถเมล์ สวนสาธารณะ ชายหาด รวมทั้งกวดขันในการบังคับใช้กฎหมายและการสร้างพื้นที่สูบบุทรี่ที่เฉพาะเจาะจง เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากควันบุหรี่มือสอง (2) การเกิดโรคมะเร็งที่มีสาเหตุมาจากบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
โดยข้อมูลจากกรมการแพทย์พบว่า คนไทยป่วยด้วยโรคมะเร็งตับมากที่สุดในกลุ่มโรคมะเร็ง โดยปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากการบริโภคแอลกอฮอล์เป็นประจำ
1.5 ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
คดีอาญาไตรมาสหนึ่ง ปี 2567 มีการรับแจ้ง จำนวนทั้งสิ้น 112,094 คดี เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2566 ร้อยละ 7.9 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของคดียาเสพติด คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ และคดีชีวิต ร่างกาย และเพศ ในส่วนการรับแจ้งอุบัติเหตุทางถนนพบว่า มีการรับแจ้งผู้ประสานภัยสะสมเพิ่มขึ้นขึ้นร้อยละ 6.8
ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ เช่น การหลอกลวงทางโทรศัพท์ที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงต้องเฝ้าระวังและป้องกันมีให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อ เนื่องจากมิจฉาชีพอาจมีเทคนิคกลยุทธ์รูปแบบใหม่ๆ ที่สลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
1.6 ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค
ไตรมาสหนึ่ง ปี 2567 สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียน จำนวน 5,786 เรื่อง ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 54.2 โดยประเด็นที่มีการร้องเรียนสูงสุด คือ ด้านโฆษณา ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าและบริการที่ได้รับร้องเรียนสูงสุด คือ สินค้าออนไลน์ 2,162 เรื่อง ส่วนใหญ่มาจากการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากร้านค้า ขณะที่การร้องเรียนในกิจการโทรคมนาคมของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ มีการร้องเรียนทั้งสิ้น 414 เรื่อง ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 12.7 โดยด้านที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุดยังคงเป็นด้านโทรศัพท์เคลื่อนที่ (ปัญหาคุณภาพสัญญาณ ปัญหาการให้บริการ)
ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ เช่น ปัญหาบริการทัวร์ท่องเที่ยวไม่ตรงปกหรือผิดกฎหมาย ปัจจุบันพบการร้องเรียนเกี่ยวกับการท่องเที่ยวมากขึ้นจากข้อมูลของสภาองค์กรของผู้บริโภค (ตุลาคม 2565 - มกราคม 2567) พบว่า ร้อยละ 85.9 ของเรื่องร้องเรียนเป็นปัญหาเกี่ยวกับการนำเที่ยว อาทิ การยกเลิกการเดินทางท่องเที่ยวหรือบริการในโปรแกรมท่องเที่ยวโดยไม่แจ้งล่วงหน้า การโฆษณาเสนอขายโปรแกรมการท่องเที่ยวที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด/ไม่เป็นไปตามที่โฆษณา โดยมีมูลค่าความเสียหายประมาณ 67 ล้านบาท
2. สถานการณ์ทางสังคมที่สำคัญ
สถานการณ์ |
รายละเอียด |
|
Mental Health ปัญหาสำคัญที่ต้องเฝ้าระวัง |
ปัญหาสุขภาพจิตยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในสังคมไทย โดยข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต พบว่า มีผู้ป่วยจิตเวชเข้ารับบริการเพิ่มขึ้น จาก 1.3 ล้านคน ในปี 2558 เป็น 2.9 ล้านคน ในปี 2566 หากพิจารณาตามช่วงวัยพบว่า (1) วัยเด็กและเยาวชนมีปัญหาสุขภาพจิตที่น่ากังวลหลายเรื่อง โดยเฉพาะความเครียด ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการเรียนและความคาดหวังด้านการทำงานในอนาคต และสถานะทางการเงินของครอบครัว รวมถึงการกลั่นแกล้งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า (2) วัยทำงาน ความรับผิดชอบสูง และหลายปัญหารุมเร้า โดยข้อมูลจากสายด่วน 1323 ของกรมสุขภาพภาพจิต พบว่า ปี 2566 วัยแรงงานขอรับบริการเรื่องความเครียด วิตกกังวล ไม่มีความสุขในการทำงานถึง 5,989 สายจากทั้งหมด 8,009 สาย และ (3) ผู้สูงวัยต้องอยู่กับความเหงาและโดดเดี่ยวสูญเสียคุณค่าในตนเอง โดยในปี 2566 พบว่า ผู้สูงอายุร้อยละ 84.93 มีความสุขในระดับที่ดี แต่จะลดน้อยลงตามวัยที่สูงขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดกิจกรรมและบทบาททางสังคม อีกทั้ง ยังพบผู้สูงอายุที่ต้องอยู่คนเดียวเพิ่มมากขึ้น สถานการณ์ข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาสุขภาพจิตต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ดังนี้ (1) การป้องกัน โดยสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันทางสังคมโดยเฉพาะสถาบันครอบครัว (2) การรักษา เร่งเพิ่มบุคลากรด้านสุขภาพจิตให้เพียงพอ และขยายบริการการรักษาผู้ป่วยจิตเวชในสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด (3) การติดตามและฟื้นฟูเยียวยา โดยจัดทำฐานข้อมูลกลางด้านสุขภาพจิตที่ครอบคลุม เร่งติดตามผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงก่อความรุนแรงให้ได้รับการรักษาต่อเนื่อง |
|
ทำอย่างไรเมื่อประเทศไทยเป็นสังคมคนโสด? |
ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ปี 2566 พบว่า คนไทยครองตัวเป็นโสดมากขึ้น คิดเป็นร้อยละ 23.9 โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อการเป็นคนโสด แบ่งได้เป็น 4 ด้าน คือ (1) ค่านิยมทางสังคมของการเป็นโสคยุคไหม่ อาทิ “SINK (Single Income, No Kids)” หรือคนโสดที่มีรายได้และไม่มีลูก” เน้นใช้จ่ายเพื่อตนเอง (2) ปัญหาความต้องการ/ความคาดหวังที่ไม่สอดคล้องกัน เป็นผลจากความคาดหวังทางสังคมและทัศนคติต่อการมองหาคู่ของคนที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ผู้หญิงไทยร้อยละ 83 ไม่ยอมคบผู้ชายที่มีส่วนสูงน้อยกว่า และมีผู้หญิงไทยมากกว่าร้อยละ 76 จะไม่เดทกับผู้ชายที่มีรายได้น้อยกว่า (3) โอกาสในการพบปะผู้คน โดยในปี 2566 คนโสดมีชั่วโมงการทำงานสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ อีกทั้ง กรุงเทพมหานครยังจัดอยู่ในอันดับที่ 5 ของเมืองที่แรงงานทำงานหนักที่สุดในโลก ทำให้คนโสดไม่มีโอกาสในการมองหาคู่ และ (4) นโยบายส่งเสริมการมีคู่ของภาครัฐมีการดำเนินการไม่ต่อเนื่อง โดยในช่วงที่ผ่านมาจะเน้นที่กลุ่มคนโสดที่มีความพร้อม ขณะที่ต่างประเทศมีแนวทางการส่งเสริมการมีคู่ที่ครอบคลุมไปถึงการบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย และการสร้างโอกาสในการมีคู่ ทั้งนี้ มีแนวทางสนับสนุนให้คนมีคู่ ดังนี้ (1) การสนับสนุนเครื่องมือการ Matching คนโสด โดยภาครัฐอาจร่วมมือกับ ผู้ให้บริการ/พัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อส่งเสริมให้คนโสดเข้าถึงได้มากขึ้น (2) การส่งเสริมการมี Work-life Balance ทั้งในภาครัฐและเอกชน ทำให้คนโสดมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเพิ่มโอกาสให้คนโสดมีเวลาทำกิจกรรมที่ชอบและพบเจอคนที่น่าสนใจมากขึ้น (3) การยกระดับทักษะที่จำเป็นในการทำงาน เพิ่มโอกาสความก้าวหน้าในอาชีพการงานและรายได้ และ (4) การส่งเสริมกิจกรรมและการมีส่วนร่วมทางสังคมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนโสดมีโอกาสพบปะและสร้างความสัมพันธ์ ใหม่ๆ ได้ |
|
Sandwich Generation กับการดูแลคนหลายรุ่น |
แซนด์วิช เจเนอเรชั่น โดยทั่วไปมักใช้เรียกคนที่อยู่ตรงกลางที่ต้องรับผิดชอบดูแลทั้งพ่อแม่สูงอายุและลูกของตนเอง ทั้งทางการเงิน ร่างกาย และทรัพยากรด้านอื่นๆ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากประชากรสูงวัยทั่วโลกเพิ่มขึ้น ขณะที่วัยแรงงานมีจำนวนลดลงหรือเท่าเดิม ทำให้ประชากรของหลายประเทศตกอยู่ในกลุ่มนี้ โดยในส่วนของประเทศไทย การศึกษาถึงคนกลุ่มนี้ปัจจุบันยังมีไม่มากนัก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการสำรวจในระดับพื้นที่และไม่ครอบคลุมทั้งประเทศแต่จากบริบทสังคมไทยที่ให้ความสำคัญกับครอบครัวในฐานะสถาบันหลักที่ทำหน้าที่ดูแลคุ้มครองสมาชิกในครัวเรือนและมีการดูแลระหว่างรุ่นที่หลากหลายทำให้ประเทศไทยอาจมีกลุ่ม Sandwich Generation เป็นจำนวนมาก ดังนั้น จึงต้องมีแนวทางในการลดภาระที่จะเกิดขึ้น เช่น (1) การส่งเสริมทักษะทางการเงิน ตั้งแต่ก่อนวัยเกษียณ ทั้งการมีทักษะความรู้และการบริหารจัดการทางการเงิน รวมถึงการป้องกันความเสี่ยง เช่น การออมเงินเพื่อยามเกษียณที่ควรเริ่มเก็บออมตั้งแต่เนิ่นๆ และในทุกช่วงวัย (2) การใช้บริการผู้ช่วยดูแลและเทคโนโลยีในการดูแลสมาชิกในครัวเรือนสำหรับครัวเรือนที่ไม่มีปัญหาทางการเงิน อาจใช้บริการจ้างผู้ช่วยดูแล ทั้งผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมและผู้ดูแลทั่วไปมาช่วยดูแลบางหน้าที่ เช่น ดูแลเรื่องอาหารและยาช่วยพาไปหาหมอตามเวลานัด เป็นต้น |
3. บทความ “มุมมองการยื่นและเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของคนไทย”
จากผลการสำรวจและศึกษาทัศนคติของประชาชนต่อหน้าที่การยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (การยื่นแบบฯ) และการจ่ายภาษี ในกลุ่ม ประชาชนอายุ 25 ปีขึ้นไป จำนวน 3,846 คนใน 14 จังหวัด ทุกภูมิภาค โดยพบประเด็นที่น่าสนใจ เช่น คนไทยส่วนใหญ่มองว่าระบบการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปัจจุบันมีความเป็นธรรมในระดับปานกลางถึงค่อนข้างต่ำ เนื่องจากระบบการตรวจสอบยังไม่ครอบคลุมทำให้มีผู้ที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ไม่ต้องยื่นแบบฯ และเสียภาษี ขณะที่ผู้มีรายได้สูงบางกลุ่มมีการหลบเลี่ยงภาษี โดยอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมาย เพื่อให้มีภาระในการใช้จ่ายน้อยลงรวมถึงบางส่วนเห็นว่าเกณฑ์เงินได้ขั้นต่ำที่ต้องเสียภาษีต่ำเกินไป ไม่สอดคล้องกับในปัจจุบัน
ทั้งนี้ แนวทางการส่งเสริมและพัฒนาการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาจดำเนินการได้ ดังนี้ (1) การสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ประชาชน (2) การสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการนำภาษีไปใช้ของรัฐ รวมถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการเสียภาษี (3) การมีแนวทางส่งเสริมการเข้าระบบภาษีโดยสมัครใจ (4) การตรวจสอบและลงโทษผู้ที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องอย่างเข้มงวด และ (5) การอำนวยความสะดวกให้ผู้ยื่นแบบฯ
นอกจากนี้ ภาครัฐอาจต้องให้ความสำคัญกับการสร้างและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงดำเนินการต่างๆ ที่จะส่งเสริมให้ประชาชนมีรายได้ที่เพียงพอเพื่อให้กลุ่มที่มีรายได้ใกล้เคียงกับรายจ่าย เกิดความพร้อมและความรู้สึกสบายใจในการยื่นแบบฯ เสียภาษี อีกทั้งยังเป็นการขยายฐานภาษีจากการยกระดับรายได้ของคนที่ปัจจุบันยังมีรายได้ ไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำที่ต้องยื่นแบบฯ ซึ่งจะเป็นผลดีในระยะยาวในการออกแบบนโยบายและมาตรการต่างๆ ในอนาคตจากการมีฐานข้อมูลที่ครบถ้วนมากขึ้น
_______________
1 ผู้ทำงานล่วงเวลา คือ ผู้มีงานทำที่ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมง/สัปดาห์
2ลูกหนี้เรื้อรังได้แก่ 1. ลูกหนี้เริ่มเรื้อรัง คือ ลูกหนี้สินเชื่อที่จ่ายดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นรวมมาแล้ว 3 ปี แต่ไม่ถึง 5 ปี โดยจะได้รับการแจ้งเตือน ซึ่งสามารถติดต่อเจ้าหนี้หากประสงค์จะปิดจบหนี้เร็วขึ้นได้ โดยสถาบันการเงินต้องให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมเป็นรายกรณี และ 2. ลูกหนี้ที่เป็นหนี้เรื้อรัง คือ ลูกหนี้มีการจ่ายดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นรวมนานถึง 5 ปี และเป็นกลุ่มเปราะบาง คือ มีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่า 20,000 บาท กรณีลูกหนี้สถาบันการเงินและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน หรือน้อยกว่า 10,000 บาท กรณีลูกหนี้ กon-bank โดยนอกจากการแจ้งเดือนแล้วจะได้รับข้อเสนอแนวทางปิดจบหนี้ ซึ่งลูกหนี้สามารถพิจารณาว่าจะสมัครเข้าร่วมโครงการหรือไม่
3ควันบุหรี่มือสอง หมายถึง ควันที่เกิดจากการเผาไหม้ของผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำยาสูบอยู่ อาทิ บุหรี่ ซิการ์ บุหรี่ไฟฟ้าซึ่งยังตกค้างในอากาศและส่งผลต่อบุคคลที่ไม่ได้เป็นผู้สูบบุหรี่
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 6 สิงหาคม 2567
8192