ขอจำหน่ายหนี้สูญตามโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรด้วยการจำหน่ายหนี้เป็นสูญในกองทุนหรือเงินทุนในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ของสหกรณ์ประมงเกาะลันตา จำกัด
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 08 August 2024 00:14
- Hits: 8474
ขอจำหน่ายหนี้สูญตามโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรด้วยการจำหน่ายหนี้เป็นสูญในกองทุนหรือเงินทุนในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ของสหกรณ์ประมงเกาะลันตา จำกัด
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการจำหน่ายหนี้เป็นสูญของสหกรณ์ประมงเกาะลันตา จำกัด จังหวัดกระบี่ (สหกรณ์ฯ) ในกองทุนพัฒนาสหกรณ์ จำนวน 5.93 ล้านบาท แยกเป็นต้นเงิน จำนวน 2.5 ล้านบาท และดอกเบี้ยค้างชำระ จำนวน 3.43 ล้านบาท โดยไม่ขอรับเงินชดเชยจากรัฐบาล ภายใต้โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรด้วยการจำหน่ายหนี้เป็นสูญในกองทุนหรือเงินทุนในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) สาเหตุการจำหน่ายหนี้เป็นสูญข้อ (9) ลูกหนี้ผู้กู้ยืมเงินมีรายได้น้อยหรือไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ ตามที่กรมส่งเสริมสหกรณ์เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
กค. รายงานว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ (กษ.) เสนอขอจำหน่ายหนี้สูญสหกรณ์ฯ (หนี้ระหว่างสหกรณ์ฯ กับกรมส่งเสริมสหกรณ์) จำนวน 5.93 ล้านบาท แยกเป็นต้นเงิน จำนวน 2.50 ล้านบาท และดอกเบี้ยค้างชำระ จำนวน 3.43 ล้านบาท ภายใต้โครงการฯ โดยไม่ต้องขอรับเงินชดเชยจากรัฐบาล สาเหตุการจำหน่ายหนี้เป็นสูญข้อ (9) ลูกหนี้ผู้กู้ยืมเงินมีรายได้น้อยหรือไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจำหน่ายหนี้เป็นสูญตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2558 ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาตามขั้นตอนการจำหน่ายหนี้สูญแล้ว สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2538 สหกรณ์ฯ ได้กู้เงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ จากกรมส่งเสริมสหกรณ์ จำนวน 2.5 ล้านบาท เพื่อเป็นทุนในการดำเนินธุรกิจการซื้ออาหารกุ้ง น้ำมันและอุปกรณ์ต่างๆ ในการเลี้ยงกุ้งมาบริการสมาชิก โดยใช้คณะการดำเนินการสหกรณ์ฯ ทั้งคณะ จำนวน 10 ราย ค้ำประกันเงินกู้ โดยมีกำหนดชำระเงินกู้ในวันวันที่ 9 สิงหาคม 2539 (ระยะเวลาขอกู้ 1 ปี) และมีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6 ต่อปี อย่างไรก็ตามในระหว่างปี 2539 ได้เกิดโรคระบาดในกุ้งอย่างรุนแรง (โรคตัวแดง) ทำให้กุ้งตายทั้งบ่อสมาชิกจึงไม่สามารถส่งชำระหนี้แก่สหกรณ์ฯ ได้ สหกรณ์ฯ จึงมีผลการดำเนินการขาดทุนและไม่มีเงินชำระหนี้ให้แก่กองทุนพัฒนาสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ และส่งผลให้สหกรณ์ฯ ต้องหยุดดำเนินการ
1.1 สำนักงานสหกรณ์จังหวัดกระบี่ได้ติดตามเร่งรัดหนี้และฟ้องคดีและโดยศาลจังหวัดกระบี่มีคำพากษาเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2551 ให้สหกรณ์ฯ (จำเลยที่ 1) และผู้ค้ำประกัน (จำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 11) ชำระเงินจำนวน 2.5 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 6 ต่อปี ของเงินต้นดังกล่าว นับแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2538 ถึงวันที่ 9 สิงหาคม 2539 และในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ 10 สิงหาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แก่กรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยให้นำเงินที่ส่งชำระมาแล้วจำนวน 125,000 บาท มาหักชำระเป็นค่าดอกเบี้ย ซึ่งหลังจากศาลจังหวัดกระบี่มีคำพิพากษาแล้ว สหกรณ์ฯ ก็ไม่ได้มีการส่งชำระหนี้แต่อย่างใด
1.2 ปัจจุบันสหกรณ์ฯ ได้หยุดดำเนินการแล้วตั้งแต่ปี 2541 ไม่มีทรัพย์สินใดๆ คงเหลือ ไม่มีผลประกอบการ ไม่มีข้อมูลทางการเงินและบัญชี และไม่มีข้อมูลอยู่ในสารบบของสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์กระบี่ ประกอบกับการลงพื้นที่และสัมภาษณ์ ผู้ค้ำประกันทั้ง 10 ราย พบว่า มีผู้ค้ำประกันเสียชีวิต 1 ราย โดยผู้ค้ำประกันส่วนใหญ่ชราภาพมีรายได้น้อยไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพและครอบครัว ทั้งนี้ จากการสืบทรัพย์ผู้ค้ำประกันพบว่า (1) การถือครองที่ดินยึดได้ 3 แปลง บังคับได้ 1 แปลง ราคา 256,000 บาท ขายทอดตลาดได้ 180,000 บาท (2) การถือครองเงินฝากธนาคาร 2 ราย รวม 1,104.47 บาท (3) การถือครองยานพาหนะ 9 ราย บังคับคดีได้ 1 ราย ขายทอดตลาดได้ 11,000 บาท
2. คณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสหกรณ์ (อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นประธาน) ในการประชุมครั้งที่ 2 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2558 และคณะกรรมการบริหารสินเชื่อแห่งชาติ [รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) เป็นประธานกรรมการ] ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2565 ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้วและมีมติเห็นในหลักการให้จำหน่ายหนี้สูญสหกรณ์ฯ จำนวน 5.93 ล้านบาทดังกล่าวแล้ว (ยอดหนี้ ณ วันที่ 30 กันยายน 2557) ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในการจำหน่ายหนี้เป็นสูญตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2558
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 6 สิงหาคม 2567
8194