ขอความเห็นชอบต่อร่างปฏิญญารัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ครั้งที่ 9 และเอกสารที่เกี่ยวข้อง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 13 August 2024 23:13
- Hits: 7790
ขอความเห็นชอบต่อร่างปฏิญญารัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ครั้งที่ 9 และเอกสารที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรี เห็นชอบในหลักการร่างปฏิญญารัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ครั้งที่ 9 (ร่างปฏิญญาฯ) และเอกสารที่เกี่ยวข้อง จำนวน 2 ฉบับ หากมีความจำเป็นต้องเพิ่มเติม ปรับปรุง และแก้ไขเอกสารดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองร่างปฏิญญาฯ และเอกสารที่เกี่ยวข้อง ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
กษ. รายงานว่า
เปรูในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปคประจำปี 2567 มีกำหนดจัดการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ในวันที่ 18 สิงหาคม 2567 ณ เมืองทรูจิลโล โดยจะมีการรับรองร่างปฏิญญาฯ และเอกสารที่เกี่ยวข้อง รวมจำนวน 2 ฉบับ ระหว่างการประชุมซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงเจตจำนงในการดำเนินการด้านความมั่นคงอาหารระหว่างสมาชิกเอเปค โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
ร่างเอกสาร |
รายละเอียด |
|
ร่างปฏิญญาฯ |
(1) สอดคล้องกับหัวข้อหลักของการประชุมเอเปคประจำปี 2567 ที่ว่าด้วยการ “เสริมสร้าง ครอบคลุม เติบโต” มุ่งเน้นในประเด็น “การเติบโตอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยืดหยุ่น” รวมถึงดำเนินการตามแผนปฏิบัติการภายใต้แผนงานความมั่นคงอาหารมุ่งสู่ปี 2573 (2) เป้าหมายหลัก คือ การพัฒนาอาหารที่มีความปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการของอาหารในปริมาณที่เพียงพอเพื่อให้มั่นใจถึงความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาคขณะเดียวกันก็ต้องจัดการกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แรงกดดันทางเศรษฐกิจ และการเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ (3) สนับสนุนการพัฒนาเครื่องมือดิจิทัลและนวัตกรรมทางเทคโนโลยี เช่น เกษตรอัจฉริยะ เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร และเทคโนโลยีโดรนเพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางอาหาร ป้องกันและลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร (4) สนับสนุนให้เขตเศรษฐกิจเอเปคดำเนินนโยบายเพื่อปรับปรุงระบบอาหาร ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (5) ดำเนินการตามแผนเอเปคว่าด้วยการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ขยะทะเล การทำประมงขนาดเล็ก และการเพาะเลี้ยง (6) สนับสนุนให้เขตเศรษฐกิจใช้ระบบการค้าพหุภาคี ภายใต้กรอบขององค์การการค้าโลกเพื่อส่งเสริมการเติบโตทียั่งยืนและครอบคลุม เพิ่มความสามารถในการคาดการณ์ตลาดและลดการบิดเบือนทางการค้า (7) ให้ความสำคัญในการส่งเสริมการเข้าถึงทางเศรษฐกิจและความแข็งแกร่งของกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และขนาดย่อย (MSME) สตรี เยาวขน และกลุ่มอื่นๆ ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ได้รับการปลดปล่อย เช่น คนพื้นเมือง คนพิการและคนจากชุมชนที่อยู่พื้นที่ห่างไกลและเขตชนบท (8) ส่งเสริมและสนับสนุนบทบาทของภาคเอกชนในหุ้นส่วนเชิงนโยบายด้านความมั่นคงทางอาหาร เน้นย้ำถึงความสำคัญของการร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการจัดการกับความท้าทายในปัจจุบันและอนาคต |
|
ร่างเอกสารหลักการการป้องกันและการลด การสูญเสียอาหารและขยะอาหารในภูมิภาคเอเปค (ร่างเอกสารหลักการฯ) |
เป็นเอกสารที่นำเสนอหลักการสำคัญให้เขตเศรษฐกิจยึดถือเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการส่งเสริมระบบอาหารที่ยั่งยืน ปรับปรุงโภชนาการและความมั่นคงอาหารของประชากรที่สอดคล้องตามแผนปฏิบัติการภายใต้แผนงานความมั่นคงอาหาร พ.ศ. 2573 มีหลักการสำคัญ 7 ประการ ได้แก่ หลักการที่ ๑ เสริมสร้างโครงสร้างสถาบันให้มีความแข็งแกร่ง หลักการที่ ๒ ส่งเสริมการวิจัย นวัตกรรม ดิจิทัลและเทคโนโลยี หลักการที่๓ สนับสนุนการเสริมสร้างขีดความสามารถ ความตระหนักรู้ และการศึกษา หลักการที่ 4 ปรับปรุงกระบวนการรวบรวมข้อมูลและการจัดการองค์ความรู้ หลักการที่ 5 ส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและเอกชน หลักการที่ 6 สนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอและสร้างสภาวะแวดล้อม ที่เอื้ออำนวย หลักการที่ 7 ส่งเสริมการจัดการอาหารส่วนเกินและการบริจาคอาหาร |
ทั้งนี้ ร่างปฏิญญาฯ และเอกสารที่เกี่ยวข้องจะมีการรับรองโดยไม่มีการลงนามและไม่มีข้อกำหนดให้มีการดำเนินการโดยใช้งบประมาณ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 13 สิงหาคม 2567
8354