ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 13 August 2024 23:58
- Hits: 7929
ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติ ดังนี้
1. รับทราบข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่สํานักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (สผ.) เสนอ
2. ให้สํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีนําเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....ของสภาผู้แทนราษฎร ข้อ 1 เป็นเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ในการประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
3. ให้กระทรวงยุติธรรมเป็นหน่วยงานหลักรับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ของสภาผู้แทนราษฎรดังกล่าว ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สํานักงานศาลยุติธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อสังเกตดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดําเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
สผ. เสนอว่า ในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันพุธที่ 27 มีนาคม 2567 ที่ได้ลงมติเห็นชอบด้วยกับร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่คณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เป็นผู้เสนอ ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ ไว้บางประการ และที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบด้วยกับข้อสังเกตของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยข้อสังเกตเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติฯ สรุปได้ ดังนี้
1. ควรพิจารณาแก้ไขของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เพื่อให้มีความเป็นกลางทางเพศยิ่งขึ้น เป็นดังนี้
“เหตุผลโดยที่สถาบันครอบครัวเป็นหน่วยสําคัญในการพัฒนาสังคมและการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน แต่การก่อตั้งครอบครัวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จํากัดเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบันที่มีการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวระหว่างบุคคลที่มีเพศเดียวกันโดยกําเนิดหลากหลาย โดยมีการอุปการะเลี้ยงดูและมีความสัมพันธ์ในด้านอื่นๆ ไม่แตกต่างไปจากคู่สมรสที่เป็นชาย และหญิง สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติบางประการในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพื่อรองรับให้บุคคลเพศเดียวกันหลากหลายสามารถหมั้นและสมรสกันได้ ซึ่งจะทําให้มีสิทธิ หน้าที่และสถานะทางครอบครัวเท่าเทียมกับคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวที่ก่อตั้งขึ้นระหว่างบุคคลไม่ว่าจะมีเพศใด เว้นแต่จะเป็นกรณีที่มีกฎหมายอื่นกําหนดเรื่องครอบครัวหรือมรดกไว้เป็นการเฉพาะจึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”
2. ควรเร่งรัดการพิจารณาและออกกฎหมายเกี่ยวกับการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ และเมื่อกฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้ว หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ควรเสนอแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ครอบครัว และบรรพ 6 มรดก โดยให้ใช้คําว่า “บุคคล” แทนคําว่า “หญิง” และคําว่า “ชาย” เนื่องจากเป็นถ้อยคําที่มีความหมายที่เป็นกลางทางเพศและครอบคลุมบุคคลทุกเพศ เช่น
1) การแก้ไขเพิ่มเติมถ้อยคําในมาตรา 1453 โดยแก้ไขคําว่า “หญิง” เป็น “หญิงหรือบุคคลที่ตั้งครรภ์ได้” รวมทั้งมาตรา 1504 และมาตรา 1510 ที่มีการใช้ คําว่า “หญิงมีครรภ์” เป็น “หญิงมีครรภ์หรือบุคคลมีครรภ์” เพื่อเป็นการยืนยันสิทธิในการตั้งครรภ์และมีบุตรของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศเนื่องจากผู้ที่มีอัตลักษณ์ทางเพศ เป็นผู้ชายข้ามเพศ ทอม เควียร์ และนอนไบนารี ซึ่งมีลักษณะทางกายภาพตามธรรมชาติที่สามารถ ตั้งครรภ์และให้กําเนิดบุตรได้และเพื่อรองรับสิทธิให้แก่ผู้หญิงข้ามเพศ เควียร์ และนอนไบนารี ที่มีการปลูกถ่ายมดลูกแล้วสามารถตั้งครรภ์และให้กําเนิดบุตรได้ในอนาคต
2) การแก้ไขถ้อยคําในมาตรา 1536 มาตรา 1537 มาตรา 1538 มาตรา 1539 มาตรา 1541 มาตรา 1542 มาตรา 1543 และมาตรา 1544 ที่มีการใช้คําว่า “ชาย” ให้แก้ไขเป็นคําว่า “บุคคล” ซึ่งเป็นถ้อยคําที่มีความหมายเป็นกลางทางเพศ และครอบคลุมถึงบุคคลทุกเพศ
3) ควรเร่งรัดให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเสนอแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 เพื่อให้คู่สมรสที่ก่อตั้งครอบครัวตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฉบับนี้ สามารถตั้งครรภ์และมีบุตรโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ได้ รวมทั้งควรยกเลิกเงื่อนไขให้ผู้เข้ารับบริการเกี่ยวกับการดําเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนจะต้องมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ว่าไม่อาจตั้งครรภ์เองได้ เพื่อเป็นการยืนยันสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวของทุกคนอย่างเท่าเทียม
4) ควรเร่งรัดให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทบทวนการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกระทําความผิดเกี่ยวกับเพศในประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายอื่น เพื่อให้ครอบคลุมบุคคลทุกเพศ โดยคํานึงถึงวิถีทางเพศอัตลักษณ์ทางเพศสภาพการแสดงออกทางเพศสภาพ และคุณลักษณะทางเพศของบุคคล เพื่อให้บุคคลทุกเพศได้รับความคุ้มครองอย่างแท้จริง และให้หมายความรวมถึงแนวทางปฏิบัติของหน่วยงานต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรมที่ต้องเคารพและคุ้มครองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วย
5) ควรเร่งรัดและให้การส่งเสริมและสนับสนุนหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ในการจัดการอบรม เผยแพร่ความรู้ และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติฉบับนี้ให้แก่บุคคลของตน รวมทั้งการจัดให้มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน เพื่อคุ้มครองสิทธิของคู่สมรสและครอบครัวหลากหลายทางเพศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติฉบับนี้ โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียจากทุกภาคส่วน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 13 สิงหาคม 2567
8362