ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนบ้านประกอบจังหวัดสงขลา พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 14 August 2024 00:41
- Hits: 7907
ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนบ้านประกอบจังหวัดสงขลา พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนบ้านประกอบ จังหวัดสงขลา พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ สาระสำคัญ กำหนดให้ใช้บังคับผังเมืองรวม ในท้องที่ตำบลทับช้าง และตำบลประกอบ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาและการดำรงรักษาเมืองและบริเวณที่เกี่ยวข้องหรือชนบทในด้านการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน การคมนาคมและการขนส่ง การสาธารณูปโภค บริการสาธารณะ และสภาพแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมีนโยบายและมาตรการในการพัฒนาเมืองเพื่อรองรับการเป็นด่านถาวรที่มีมาตรฐานสากลและพัฒนาชุมชนชายแดนให้เป็นชุมชนน่าอยู่ ส่งเสริมและพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดินในชุมชนให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และสอดคล้องกับบทบาทชุมชนชายแดนบ้านประกอบ รวมทั้งการรักษาพื้นที่เกษตรกรรมและ ป่าไม้
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. กำหนดให้ใช้บังคับผังเมืองรวม ในท้องที่ตำบลทับช้าง และตำบลประกอบ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา วัตถุประสงค์เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาและการดำรงรักษาเมืองและบริเวณที่เกี่ยวข้องหรือชนบท ในด้านการใช้ประโยชน์ในที่ดิน การคมนาคมและการขนส่ง การสาธารณูปโภค บริการสาธารณะ และสภาพแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมีนโยบายและมาตรการเพื่อจัดระบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน โครงข่ายคมนาคมขนส่งและบริการสาธารณะให้มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับและสอดคล้องกับการขยายตัวของชุมชนในอนาคต รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจ ดังต่อไปนี้
1.1 พัฒนาเมืองเพื่อรองรับการเป็นด่านถาวรที่มีมาตรฐานสากลและพัฒนาชุมชนชายแดน
1.2 ส่งเสริมและพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดินในชุมชนให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และสอดคล้องกับบทบาทของชุมชนชายแดนบ้านประกอบและการขยายตัวของชุมชน การค้า และการขนส่ง
1.3 พัฒนาการบริการทางสังคม การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการและสิ่งอำนวยความสะดวกให้เพียงพอและได้มาตรฐาน เพื่อให้เป็นชุมชนน่าอยู่และมีคุณภาพชีวิตที่ดี
1.4 อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งศาสนสถานที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรมไทย
1.5 รักษาพื้นที่เกษตรกรรมและป่าไม้
2. กำหนดประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินออกเป็น 10 ประเภท ดังนี้
ประเภท |
วัตถุประสงค์ |
|
1. ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (สีเหลือง) |
- เป็นพื้นที่โดยรอบชุมชนเดิมของตำบลทับข้าง และตำบลประกอบ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยเบาบาง มีการก่อสร้างอาคารอยู่อาศัยได้ เช่น บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ห้องแถว ตึกแถว บ้านแถวและให้สร้างอาคารอยู่อาศัยประเภทอาคารชุดและอาคารอยู่อาศัยรวมได้บางบริเวณเพื่อรองรับแรงงาน รวมทั้งให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อประกอบกิจการโรงแรมประเภท 1 และโรงแรมประเภท 2 ซึ่งเป็นโรงแรมขนาดเล็กได้บางบริเวณ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว นักธุรกิจและผู้สัญจร โดยมีข้อจำกัดเรื่องความสูงและขนาดของอาคารซึ่งต้องไม่ใช่อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่ |
|
2. ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (สีส้ม) |
- เป็นพื้นที่ตั้งอยู่ในชุมชนเดิมบ้านทับข้าง โดยเป็นพื้นที่ต่อเนื่องหรือล้อมรอบพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นมากมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลางและรองรับพื้นที่ต่อเนื่องกับย่านพาณิชยกรรมมีการก่อสร้างอาคารอยู่อาศัยได้ทุกประเภท เช่น บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ห้องแถว ตึกแถว บ้านแถว อาคารชุดหอพัก อาคารอยู่อาศัยรวม โดยมีข้อจำกัดเรื่อง ความสูงและขนาดของอาคารซึ่งต้องไม่ใช่อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ |
|
3. ที่ดินประเภทพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (สีแดง) |
- เป็นศูนย์กลางของพื้นที่และบริเวณโดยรอบของชุมชนเดิมของตำบลทับช้าง และตำบลประกอบ มีวัตถุประสงค์ให้เป็นบริเวณประกอบพาณิชยกรรม ธุรกิจการค้า ประกอบด้วยศูนย์การค้า ตลาด โรงมหรสพ โรงแรม สำนักงาน ศูนย์ประชุม และกำหนดให้เป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นมากเพื่อรองรับกิจการดังกล่าว โดยมีข้อจำกัดเรื่องความสูงของอาคารเกี่ยวกับการอยู่อาศัยและพาณิชยกรรมซึ่งต้องไม่ใช่อาคารสูง |
|
4. ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) |
- มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาพื้นที่เกษตรกรรมให้ยังคงสภาพชนบทและประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ทำไร่ ทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์ |
|
5. ที่ดินประเภทปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สีเขียวมีกรอบและเส้นทแยงสีน้ำตาล) |
- เป็นพื้นที่ตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม |
|
6. ที่ดินประเภทที่โล่งเพื่อนันทนาการและการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สีเขียวอ่อน) |
- เป็นที่ดินซึ่งเป็นของรัฐ และที่ดินของเอกชน ซึ่งเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยที่ดินของรัฐมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแนวกันชนชายแดนและความมั่นคงของชาติ การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือสาธารณประโยชน์ ส่วนที่ดินของเอกชนกำหนดให้ใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างจำกัด เช่น เกษตรกรรมหรือเกี่ยวข้องกับเกษตรกรรม การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการหรือสาธารณประโยชน์ |
|
7. ที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้ (สีเขียวอ่อนมีเส้นทแยง สีขาว) |
- เป็นพื้นที่ตามกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ และพื้นที่ของเอกชนที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว กรณีที่ดินของป่าไม้มีวัตถุประสงค์ให้ใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อการสงวนและคุ้มครอง ดูแลรักษาหรือบำรุงป่าไม้ สัตว์ป่า ต้นน้ำ ลำธาร และทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ตามมติคณะรัฐมนตรีและกฎหมายเกี่ยวกับการป่าไม้การสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สำหรับที่ดินซึ่งเอกชนเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายกำหนดให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อให้สอดคล้องกับป่าไม้โดยมีการผ่อนปรนให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการดำรงอยู่ได้ เช่น การอยู่อาศัย เกษตรกรรม โดยมีข้อจำกัดเรื่องขนาดพื้นที่อาคารเกี่ยวกับการอยู่อาศัย ต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 300 ตารางเมตร หรือมีความสูงของอาคารไม่เกิน 6 เมตร |
|
8. ที่ดินประเภทสถาบันการศึกษา (สีเขียวมะกอก) |
- มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดพื้นที่ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาตามการใช้ประโยชน์ที่ดินในปัจจุบัน เช่น โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านประกอบ |
|
9. ที่ดินประเภทสถาบันศาสนา (สีเทาอ่อน) |
- มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นพื้นที่สถาบันศาสนาตามการใช้ประโยชน์ที่ดินในปัจจุบัน เช่น วัด มัสยิด |
|
10. ที่ดินประเภทสถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณปการ (สีน้ำเงิน) |
- มีวัตถุประสงค์เพื่อการใช้ประโยชน์ที่ดินเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ของรัฐบาล เพื่อการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ และที่ตั้งของหน่วยงานของรัฐ เช่น โรงพยาบาล ด่านศุลกากร ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านประกอบ |
3. กำหนดประเภทหรือชนิดของโรงงานที่ให้ดำเนินการได้ในที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (สีเหลือง) ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (สีส้ม) ที่ดินประเภทพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (สีแดง) และที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) ตามบัญชีท้ายประกาศกระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์การใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละประเภท
4. กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินในบริเวณแนวถนนสาย ข 2 ถนนสาย ข 3 ถนนสาย ข 6 ถนนสาย ค 1 ถนนสาย ค 2 ถนนสาย ก ถนนสาย ข 1 ถนนสาย ข 4 และถนนสาย ข 5 ตามแผนผังแสดงโครงการคมนาคมและขนส่งท้ายประกาศกระทรวงมหาดไทย โดยให้ใช้ประโยชน์เพื่อกิจการตามที่กำหนด ดังต่อไปนี้
4.1 การสร้างถนนหรือเกี่ยวข้องกับถนน และการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ
4.2 การสร้างรั้วหรือกำแพง
4.3 เกษตรกรรมหรือเกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมที่มีความสูงของอาคารไม่เกิน 9 เมตร หรือไม่ใช่อาคารขนาดใหญ่
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 13 สิงหาคม 2567
8365