ร่างกรอบความร่วมมือด้านศุลกากร การตรวจคนเข้าเมือง และการกักกันภายใต้แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย – มาเลเซีย – ไทย (IMT - GT)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 27 August 2024 23:26
- Hits: 7694
ร่างกรอบความร่วมมือด้านศุลกากร การตรวจคนเข้าเมือง และการกักกันภายใต้แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย – มาเลเซีย – ไทย (IMT - GT)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการจัดทำร่างกรอบความร่วมมือด้านศุลกากร การตรวจคนเข้าเมือง และการกักกัน ภายใต้แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย – มาเลเซีย – ไทย (IMT - GT) (ร่างกรอบความร่วมมือฯ) ที่จะมีการลงนามในการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 30 ภายใต้แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย – มาเลเซีย – ไทย (IMT - GT) และขอความเห็นชอบให้กรมศุลกากร กค. สามารถปรับปรุงถ้อยคำในเอกสารดังกล่าวได้ ในกรณีที่มิใช่การเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบอีกครั้ง และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเข้าร่วมลงนามในร่างกรอบความร่วมมือฯ ในการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 30 ภายใต้แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย – มาเลเซีย – ไทย (IMT - GT) ตามที่ กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
กค. รายงานว่า
1. ร่างกรอบความร่วมมือฯ เป็นความร่วมมือกันระหว่างรัฐบาล 3 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย มาเลเซีย และราชอาณาจักรไทย เพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจของทั้ง 3 ประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการริเริ่มการดำเนินการด้านการค้าในระดับอนุภูมิภาคและการอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งให้ดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการศุลกากรการตรวจคนเข้าเมือง และการกักกัน ซึ่งจะช่วยให้การเคลื่อนย้ายทรัพยากรระหว่างประเทศคู่สัญญา การปฏิบัติพิธีการด้านการศุลกากร การตรวจคนเข้าเมือง และการกักกันง่ายขึ้น ทำให้กฎระเบียบข้อบังคับ และกระบวนการต่างๆ มีความโปร่งใสมากขึ้น รวมถึงการปรับปรุงการจัดการห่วงโซ่อุปทานเพื่อลดต้นทุนในการทำธุรกรรม เพิ่มความปลอดภัยทางการค้า และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต
2. ร่างกรอบความร่วมมือฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ เช่น
ประเด็น |
สาระสำคัญ |
|
ส่วนที่ 1 บทบัญญัติทั่วไป |
||
ขอบเขตการใช้บังคับ |
- รับรองความสามารถและทรัพยากรของประเทศตนในการดำเนินมาตรการด้านการศุลกากร การตรวจคนเข้าเมือง และการกักกัน - กรอบความร่วมมือไม่ก่อให้เกิดสิทธิหรือพันธกรณีใดๆ และไม่ถือเป็นสนธิสัญญาภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ |
|
ส่วนที่ 2 สิ่งอำนวยความสะดวกและพิธีการในการข้ามพรมแดน |
||
ความพร้อมของการบริการ สิ่งอำนวยความสะดวก และบุคลากร |
จัดเตรียมการบริการสิ่งอำนวยความสะดวก และบุคลากร ณ จุดเข้า - ออก ที่กำหนด เพื่ออำนวยความสะดวกเพื่อให้กระบวนการข้ามพรมแดนเป็นไปโดยราบรื่น |
|
การบริหารจัดการชายแดนร่วมกัน |
- อำนวยความสะดวกและให้ความร่วมมือในการตรวจสอบ และควบคุมบุคคล สินค้า และพาหนะ - ให้บริการการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนนอกเวลาทำการเพื่อลดเวลาการรอคอย ณ พรมแดน โดยมีค่าธรรมเนียมที่สมเหตุสมผล - ในระยะยาวจะใช้เอกสารและฐานข้อมูลการนำเข้า การส่งออก และการผ่านแดนในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ |
|
การแลกเปลี่ยนข้อมูล |
แลกเปลี่ยนข้อมูล โดยสอดคล้องกับกฎหมาย ข้อบังคับ และกระบวนการภายในประเทศของตน |
|
การประเมินและการจัดการความเสี่ยง |
- ยกระดับการควบคุมด้านการศุลกากร การตรวจคนเข้าเมือง และการกักกัน ณ จุดเข้า - ออกที่กำหนด ให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติ และแนวทางการประเมินความเสี่ยงที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล - ส่งเสริมการรับรองผู้ประกอบการที่มีความเสี่ยงต่ำและให้สิทธิประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกที่สอดคล้องกับการประเมิน และการตรวจสอบความเสี่ยง |
|
ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน |
เพื่อให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการควบคุมและการอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนของสินค้าและบุคคลตามกฎหมาย กฎระเบียบ และกระบวนการภายในประเทศ |
|
ส่วนที่ 3 การเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนของบุคคล |
||
เอกสารการเดินทาง การตรวจลงตรา และการอำนวยความสะดวก ด้านพิธีการตรวจคนเข้าเมือง |
- รับรองว่าบุคคลใดที่เดินทางข้ามพรมแดนได้ถือเอกสารการเดินทางที่มีอายุใช้ได้ประเภทใดประเภทหนึ่ง ดังต่อไปนี้ : (1) หนังสือเดินทางที่ออกตามมาตรฐานหนังสือเดินทางขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) (2) เอกสารการเดินทางสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่องค์การสหประชาชาติและองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ ที่ได้รับอนุญาต (3) เอกสารการเดินทางประเภทอื่นๆ ที่ใช้แทนหนังสือเดินทาง - บุคคลใดที่เดินทางข้ามพรมแดนจะต้องได้รับการตรวจลงตรา ตามที่กลุ่มประเทศคู่สัญญากำหนดเว้นแต่ได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราตามความตกลงทวิภาคีหรือความตกลงระดับภูมิภาค - หาแนวทางในการจัดการอำนวยความสะดวกด้านพิธีการตรวจคนเข้าเมืองที่เหมาะสม |
|
การตรวจสุขภาพ ผู้เดินทางข้ามแดน |
บังคับใช้กฎหมายและข้อกำหนดของแต่ละประเทศที่เป็นไปตามข้อแนะนำของกฎอนามัยระหว่างประเทศภายใต้องค์การอนามัยโลก |
|
การควบคุมทางศุลกากร สำหรับหีบห่อสัมภาระ และของใช้ส่วนตัว |
ดำเนินการควบคุมทางศุลกากรให้เป็นไปตามความตกลงระดับสากลและระดับภูมิภาคที่ประเทศตนเป็นภาคีและผูกพันตามเกณฑ์มาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล และแนวปฏิบัติเพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายบุคคล |
|
การตรวจสอบด้านสุขอนามัย และสุขอนามัยพืช สำหรับของใช้ส่วนตัว |
ของใช้ส่วนตัวของผู้ที่เดินทางข้ามแดนจะต้องถูกดำเนินการ ตามมาตรการสุขอนามัยและการบริหารความเสี่ยงและสุขอนามัยพืช |
|
ส่วนที่ 4 การเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนของสินค้า |
||
พิธีการศุลกากร |
อำนวยความสะดวกและรับรองความปลอดภัยของการค้าข้ามพรมแดนภายในขอบเขตที่เป็นไปใต้ผ่านการปรับปรุงและเป็นไปในแนวทางเดียวกันของพิธีการนำเข้า ส่งออก และผ่านแดน ภายใต้ความตกลงระดับภูมิภาคเป็นไปตามมาตรฐานสากลและแนวปฏิบัติที่มีอยู่ |
|
ข้อกำหนดด้านเทคนิค มาตรฐาน และมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช |
- นำมาตรฐาน คู่มือแนวทางปฏิบัติ และข้อแนะนำเกี่ยวกับมาตรการทางเทคนิคต่อการค้า และมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชในระดับสากลมาปรับใช้ประกอบการดำเนินการตรวจสอบสินค้าตามกฎหมายและข้อกำหนดภายในประเทศ - สนับสนุนและส่งเสริมความร่วมมือด้านเทคนิคในด้านมาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิคและมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช เช่น แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับข้อกำหนดด้านการนำเข้า และส่งออกสินค้า รวมถึงข้อกำหนดด้านการตรวจสอบ และกระบวนการอนุมัติ และแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการอุบัติของโรคระบาดสัตว์ ศัตรูพืชกักกัน และประเด็นความปลอดภัยอาหารที่ส่งผลกระทบต่อการค้าของกลุ่มประเทศคู่สัญญา |
|
การขนส่งสินค้าผ่านแดน |
- ดำเนินการตามกระบวนการด้านการศุลกากร การตรวจคนเข้าเมือง และการกักกันที่ทำให้พิธีการและการควบคุมสินค้าผ่านแดน มีความคล่องตัวและเรียบง่ายที่สุด ตามกฎหมายภายในประเทศ ข้อบังคับ และกรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวย ความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน |
|
ส่วนที่ 5 การจัดการเกี่ยวกับการดำเนินการ |
||
ความโปร่งใสของกฎหมาย กฎ และข้อบังคับ |
- จัดให้มีข้อมูลเป็นภาษาทางการของกลุ่มประเทศคู่สัญญาและภาษาอังกฤษที่ครอบคลุมถึงกฎหมาย กฎระเบียบ กระบวนการภายในประเทศ ตลอดจนข้อมูลด้านเทคนิค รวมถึงค่าธรรมเนียม และค่าภาระติดพันที่เกี่ยวกับการขนส่งสินค้า และการเคลื่อนย้ายบุคคลข้ามพรมแดน - ให้คำอธิบายเกี่ยวกับกฎ กฎระเบียบ และกระบวนการที่มีผลใช้บังคับเท่าที่บทบัญญัติแห่งกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องในการตอบข้อสอบถามสำหรับผู้ที่สนใจโดยปราศจากค่าใช้จ่าย หรือมีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุดเทียบเท่ากับต้นทุนการให้บริการที่จัดให้ ภายในระยะเวลาที่เหมาะสม |
|
การระงับข้อพิพาท |
ข้อพิพาทใดๆ ที่เกิดจากการดำเนินการและการตีความบทบัญญัติของกรอบความร่วมมือฉบับนี้จะถูกแก้ไขผ่านการหารือระหว่าง และภายในกลุ่มประเทศคู่สัญญาผ่านทางคณะทำงานย่อย ด้านการศุลกากร การตรวจคนเข้าเมือง และการกักกัน โดยปราศจากบุคคลที่สามหรือคณะกรรมการระหว่างประเทศใดๆ |
|
ส่วนที่ 6 บทบัญญัติสุดท้าย |
||
การมีผลใช้บังคับ ระยะเวลาการมีผลใช้บังคับ และการสิ้นผล |
- กรอบความร่วมมือฉบับนี้มีผลใช้บังคับในวันที่ลงนามและยังคงมีผลใช้บังคับจนกว่าประเทศคู่สัญญาประเทศใดประเทศหนึ่งแจ้งขอยุติความเป็นคู่สัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร - ประเทศคู่สัญญาประเทศใดประเทศหนึ่งอาจขอยุติความเป็นคู่สัญญาจากกรอบความร่วมมือฉบับนี้ โดยการแจ้งความประสงค์ เป็นลายลักษณ์อักษรไปยังประเทศคู่สัญญาอื่นๆ ผ่านช่องทางการทูต โดยจะต้องมีระยะเวลาอย่างน้อยหกเดือนก่อนวันสิ้นผล - การสิ้นผลของกรอบความร่วมมือฉบับนี้ ไม่กระทบต่อ การดำเนินการและระยะเวลาของกิจกรรมแผนโปรแกรม และโครงการใดๆ ที่กำลังดำเนินอยู่ภายใต้กรอบความร่วมมือฉบับนี้ ซึ่งได้รับการตัดสินใจร่วมกันในวันที่หรือก่อนวันที่กรอบความร่วมมือ ฉบับนี้สิ้นผลลง เว้นแต่กลุ่มประเทศคู่สัญญาจะตกลงเป็นอย่างอื่น |
|
การทบทวนและการแก้ไข |
- กรอบความร่วมมือฉบับนี้อาจถูกทบทวนโดยกลุ่มประเทศคู่สัญญา เมื่อมีความจำเป็น เพื่อให้รับรองถึงความสัมพันธ์ระหว่างกันและการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพ - ประเทศคู่สัญญาอาจร้องขอเป็นลายลักษณ์อักษรให้มีการแก้ไข ส่วนใดส่วนหนึ่งของกรอบความร่วมมือฉบับนี้ โดยการแก้ไขดังกล่าว จะต้องได้รับความเห็นชอบร่วมกันเป็นลายลักษณ์อักษร โดยกลุ่มประเทศคู่สัญญา และจะถือเป็นส่วนหนึ่งของกรอบ ความร่วมมือฉบับนี้ การแก้ไขดังกล่าว จะมีผลใช้บังคับในวันที่ ได้เห็นชอบกันไว้เป็นลายลักษณ์อักษรโดยกลุ่มประเทศสัญญา |
3. ประโยชน์และผลกระทบ
3.1 ส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ โดยใช้ประโยชน์จากการพัฒนาความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคภายใต้แผนงานการพัฒนา เขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย - มาเลเซีย - ไทย (IMT - GT) ในการดึงดูดความสนใจ ของภาคเอกชนและนักลงทุนให้เข้ามาดำเนินการหรือลงทุนในพื้นที่ของประเทศไทย
3.2 การเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนของสินค้าและบุคคล ภายในกลุ่มประเทศคู่สัญญาจะเรียบง่ายขึ้น ลดขั้นตอนและความยุ่งยากในการปฏิบัติพิธีการ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
3.3 เกิดความเข้มแข็งในการรักษาความมั่นคงและความปลอดภัย ของห่วงโซ่อุปทานในการเคลื่อนย้ายสินค้าและบุคคลในระดับอนุภูมิภาค
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ภูมิธรรม เวชยชัย (รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี) 27 สิงหาคม 2567
8787