การลงนามร่างหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent) เพื่อเข้าร่วมเป็นภาคีใน Multilateral Convention to Facilitate the Implementation of the Pillar Two Subject to Tax Rule
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 27 August 2024 23:28
- Hits: 7892
การลงนามร่างหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent) เพื่อเข้าร่วมเป็นภาคีใน Multilateral Convention to Facilitate the Implementation of the Pillar Two Subject to Tax Rule
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติให้มีการลงนามร่างหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent) เพื่อเข้าร่วมเป็นภาคีใน Multilateral Convention to Facilitate the Implementation of the Pillar Two Subject to Tax Rule (STTR Multilateral Instrument หรือ STTR MLI) (ร่างหนังสือแสดงเจตจำนงฯ) โดยหากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขเอกสารดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้ กค. โดยสรรพากรดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามร่างหนังสือแสดงเจตจำนงฯ ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. Subject to Tax Rule (STTR) เป็นหนึ่งในหลักการภายใต้เสาหลักที่ 2 (Pillar 2) ของข้อเสนอการจัดเก็บภาษีในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษี และโอนกำไรไปยังประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ [Base Erosion and Profit Shifting (BEPS)] โดย STTR เป็นการกำหนดขั้นต่ำของอัตราภาษีตามกฎหมาย (Nominal Tax Rate) ในอัตราร้อยละ 9 ของเงินได้ (Gross Income) สำหรับธุรกรรมที่มีความเสี่ยงในการกัดกร่อนฐานภาษีและสามารถเคลื่อนย้ายเงินได้ง่าย เช่น ค่าสิทธิ ดอกเบี้ย สิทธิในการกระจายสินค้าเบี้ยประกันภัย และการให้บริการทางการเงิน โดยหลักการ STTR มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เขตเศรษฐกิจที่เป็นสมาชิกของกรอบความร่วมมือเพื่อป้องกัน BEPS (Inclusive Framework on BEPS) (กรอบความร่วมมือ BEPS) ที่ได้รับการพิจารณาว่าอยู่ในกลุ่มเขตเศรษฐกิจกำลังพัฒนาสามารถรักษาฐานภาษีที่เก็บจากบริษัทข้ามชาติสำหรับธุรกรรมที่มีความเสี่ยงสูงดังกล่าวได้รวมทั้งสามารถนำมาปฏิบัติได้โดยการเข้าร่วมการลงนามความตกลงแบบพหุภาคี (Multilateral Instrument) เพื่อแก้ไขอนุสัญญาหรือความตกลงเพื่อเว้นการเก็บภาษีซ้อน [Multilateral Convention to Implement Treaty Related Measures to Prevent Base Erosion and Profit Shifting (MLI] (อนุสัญญา พหุภาคีฯ MLI) ที่มีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ ในการนำหลักการ STTR มาปรับใช้จะต้องพิจารณาอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของประเทศถิ่นที่อยู่ของผู้รับเงินได้ภายใต้ขอบข่ายของหลักการ STTR ซึ่งเมื่อปรับตามสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับและเมื่อรวมกับอัตราภาษี หัก ณ ที่จ่ายตามอนุสัญญาฯ แล้วน้อยกว่าอัตราร้อยละ 9 ของเงินได้ (Gross Income) ประเทศถิ่นที่อยู่ของผู้จ่ายเงินได้สามารถจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่ม (Additional STTR Tax) ให้ครบร้อยละ 9 ได้
2. ในคราวการประชุมกรอบความร่วมมือ BEPS ครั้งที่ 15 ซึ่งจัดขึ้น เมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ณ สำนักงานใหญ่ OECD กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส สมาชิกกรอบความร่วมมือ BEPS ซึ่งรวมถึงไทยได้พิจารณารับรอง July 2023 Outcome Statement on the Two - Pillar Solution to Address the Tax Challenges Arising from the Digitalisation of the Economy โดยเอกสารตั้งกล่าวได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินการและแนวทางการดำเนินการในอนาคตของหลักการ STTR ด้วย ทั้งนี้ เขตเศรษฐกิจที่ประสงค์จะนำหลักการ STTR มาปรับใช้จะต้องดำเนินการลงนามใน STTR MLI เพื่อแก้ไขอนุสัญญาฯ ที่มีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน
3. กรมสรรพากรมีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อแจ้งความเห็นต่อการพิจารณาลงนามใน STTR MLI โดยกรมสรรพากรเห็นควรให้ตอบรับการเข้าร่วมพิธีลงนาม STTR MLI ที่จะมีขึ้นในวันที่ 19 กันยายน 2567 และแสดงความจำนงในการเข้าร่วมเป็นภาคีใน STTR MLI โดยการลงนามร่างหนังสือแสดงเจตจำนงฯ (Letter of intent) ในโอกาสแรกก่อนและเนื่องจากหลักการ STTR เป็นหลักการใหม่ที่มีความซับซ้อน ดังนั้น กค. โดยกรมสรรพากรจำเป็นต้องศึกษาหลักการ STTR อย่างรอบคอบและรัดกุมก่อนนำหลักการดังกล่าวมาปรับใช้ต่อไป ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มีบัญชาให้กรมสรรพากรพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามที่เห็นสมควร โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ และรายงานความคืบหน้าการดำเนินการเพื่อนายกรัฐมนตรีทราบในโอกาสแรกด้วย (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้แจ้งเลขาธิการ OECD ทราบด้วยแล้ว)
4. ร่างหนังสือแสดงเจตจำนงฯ เป็นการแสดงเจตนารมณ์ในการเข้าร่วมเป็นภาคีใน STTR MLI ของไทย โดยภายหลังการลงนามในร่างหนังสือแสดงเจตจำนงฯ กรมสรรพากรจะได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องและประสานงานอย่างใกล้ชิดกับฝ่ายเลขาธิการ STTR เพื่อนำหลักการ STTR มาปรับใช้เพื่อให้ประโยชน์สูงสุดต่อการบริหารจัดเก็บภาษีของประเทศต่อไป ทั้งนี้ ร่างหนังสือแสดงเจตจำนงฯ จะส่งผลดีกับไทยในการแสดงความมุ่งมั่นที่จะให้ความร่วมมือกับนานาประเทศในการนำหลักการ STTR ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักการภายใต้เสาหลักที่ 2 ของข้อเสนอการจัดเก็บภาษีในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลมาปรับใช้ เพื่อปกป้องฐานภาษีจากบริษัทข้ามชาติและนำรายได้มาใช้ในการพัฒนาประเทศชาติ ลดแรงจูงใจของผู้เสียภาษีในการโอนกำไรจากไทยไปหรือเขตเศรษฐกิจที่มีอัตราภาษีต่ำ สร้างความเป็นธรรมในการบริหารจัดเก็บภาษีให้กับบริษัทที่ประกอบกิจการในไทย ตลอดจนการลดการแข่งชั้นของประเทศหรือเขตเศรษฐกิจต่างๆ โดยใช้อัตราภาษีเป็นเครื่องมือดึงดูดนักลงทุนเข้าไปลงทุนในประเทศหรือเขตเศรษฐกิจของตนอีกด้วย
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ภูมิธรรม เวชยชัย (รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี) 27 สิงหาคม 2567
8788