รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย ประจำเดือนมิถุนายนและครึ่งแรกของปี 2567
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 27 August 2024 23:39
- Hits: 7799
รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย ประจำเดือนมิถุนายนและครึ่งแรกของปี 2567
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย ประจำเดือนมิถุนายนและครึ่งแรกของ ปี 2567 ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ
สาระสำคัญ
1. สรุปสถานการณ์การส่งออกของไทย ประจำเดือนมิถุนายน 2567
การส่งออกของไทยในเดือนมิถุนายน 2567 มีมูลค่า 24,796.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (892,766 ล้านบาท) กลับมาหดตัวเล็กน้อย จากสินค้าผลไม้เข้าสู่ช่วงท้ายของฤดูกาล จึงมีผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ดุลการค้าไทยเกินดุลต่อเนื่อง 2 เดือน ขณะที่บรรยากาศการค้าโลกเริ่มมีความวิตกกังวลต่อแนวโน้มการใช้มาตรการกีดกันทางการค้า ทั้งยังมีความไม่แน่นอนของผลการเลือกตั้งในหลายประเทศ นอกจากนี้ ประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ยังส่งผลให้ความต้องการของเครื่องยนต์สันดาปฯ หดตัวลงอย่างชัดเจน ทั้งนี้ การส่งออกครึ่งแรกของปี 2567 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.0 และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 3.1
มูลค่าการค้ารวม
มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนมิถุนายน 2567 มีมูลค่าการค้ารวม 49,375.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 0.01 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออก มีมูลค่า 24,796.6 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 0.3 การนำเข้า มีมูลค่า 24,578.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 0.3 ดุลการค้า เกินดุล 218.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาพรวมครึ่งแรกของปี 2567 มูลค่าการค้ารวม มีมูลค่า 295,822.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 2.5 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การส่งออก มีมูลค่า 145,290.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 2.0 การนำเข้า มีมูลค่า 150,532.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 3.0 ดุลการค้าครึ่งแรกของปี 2567 ขาดดุล 5,242.7 ล้านเหรียญสหรัฐ
มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือนมิถุนายน 2567 มีมูลค่าการค้ารวม 1,788,023 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.3 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออก มีมูลค่า 892,766 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.0 การนำเข้า มีมูลค่า 895,256 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.6 ดุลการค้า ขาดดุล 2,489.7 ล้านบาท ภาพรวมครึ่งแรกของปี 2567 มูลค่าการค้ารวม มีมูลค่า 10,628,494 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.9 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การส่งออก มีมูลค่า 5,191,014 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.4 การนำเข้า มีมูลค่า 5,437,480 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.3 ดุลการค้าครึ่งแรกของปี 2567 ขาดดุล 246,466 ล้านบาท
การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร
มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 3.3 โดยสินค้าเกษตรหดตัวร้อยละ 2.2 ในขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวร้อยละ 4.8 ทั้งนี้ สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าว ขยายตัวร้อยละ 96.6 (ขยายตัวในตลาดอิรัก แอฟริกาใต้ อินโดนีเซีย สหรัฐฯ และโกตดิวัวร์) ยางพารา ขยายตัวร้อยละ 28.8 (ขยายตัวในตลาดจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย) ไก่แปรรูป ขยายตัวร้อยละ 4.0 (ขยายตัวในตลาดสหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ สิงคโปร์ ไอร์แลนด์ และแคนาดา) อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 13.1 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย มาเลเซีย อิตาลี และฟิลิปปินส์) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 6.0 (ขยายตัวในตลาดจีน ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และแคนาดา) และไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 147.7 (ขยายตัวในตลาดอินเดีย มาเลเซีย เมียนมา อิตาลี และเวียดนาม) ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง หดตัวร้อยละ 37.8 (หดตัวในตลาดจีน ฮ่องกง สหรัฐฯ เวียดนาม และมาเลเซีย) น้ำตาลทราย หดตัวร้อยละ 51.9 (หดตัวในตลาดอินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน ลาว และมาเลเซีย) เครื่องดื่ม หดตัวร้อยละ 9.5 (หดตัวในตลาดเวียดนาม กัมพูชา เมียนมา จีน และสหรัฐฯ) และไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง หดตัวร้อยละ 13.4 (หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ ฮ่องกง และสหราชอาณาจักร) ทั้งนี้ ครึ่งแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 3.3
การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม
มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 0.3 มีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 13.5 (ขยายตัวในตลาดฟิลิปปินส์ เวียดนาม ญี่ปุ่น เม็กซิโก และซาอุดีอาระเบีย) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 22.0 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และสาธารณรัฐเช็ก) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 7.2 (ขยายตัวในตลาดจีน อินเดีย สิงคโปร์ เวียดนาม และเมียนมา) และเครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 20.1 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ มาเลเซีย และเมียนมา) ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ผลิตภัณฑ์ยาง หดตัวร้อยละ 7.9 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และมาเลเซีย) เม็ดพลาสติก หดตัวร้อยละ 6.3 (หดตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น เวียดนาม ออสเตรเลีย และมาเลเซีย) เคมีภัณฑ์ หดตัวร้อยละ 5.5 (หดตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และสหรัฐฯ) แผงวงจรไฟฟ้า หดตัวร้อยละ 21.4 (หดตัวในตลาดฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และจีน) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ หดตัวร้อยละ 24.2 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย เมียนมา และลาว) และเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 54.2 (หดตัวในตลาดแอฟริกาใต้ อาร์เจนตินา อินเดีย ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ) ทั้งนี้ ครึ่งแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 2.0
ตลาดส่งออกสำคัญ
ภาพรวมการส่งออกไทยหดตัวเล็กน้อยตามความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า แต่การส่งออกไปหลายตลาดสำคัญยังขยายตัวได้ดี อาทิ สหรัฐฯ CLMV ตะวันออกกลาง และลาตินอเมริกา ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่างๆ สรุปได้ดังนี้ (1) ตลาดหลัก หดตัวร้อยละ 1.3 ตามการหดตัวของการส่งออกสินค้าไปตลาดจีน ร้อยละ 12.3 ญี่ปุ่น ร้อยละ 12.3 และอาเซียน (5) ร้อยละ 2.0 แต่ขยายตัวต่อเนื่องในตลาดสหรัฐฯ และ CLMV ร้อยละ 5.4 และร้อยละ 7.6 ตามลำดับ และกลับมาขยายตัวในตลาดสหภาพยุโรป (27) ร้อยละ 7.9 (2) ตลาดรอง ขยายตัวร้อยละ 2.5 โดยขยายตัวในตลาดเอเชียใต้ ร้อยละ 9.3 ตะวันออกกลาง ร้อยละ 16.1 แอฟริกา ร้อยละ 25.1 ลาตินอเมริกา 30.5 ขณะที่หดตัวในตลาดทวีปออสเตรเลีย ร้อยละ 4.5 รัสเซียและกลุ่ม CIS ร้อยละ 20.7 และสหราชอาณาจักร ร้อยละ 20.0 (3) ตลาดอื่นๆ หดตัวร้อยละ 15.0
2. มาตรการส่งเสริมการส่งออกและแนวโน้มการส่งออกระยะต่อไป
การส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ดำเนินงานที่สำคัญในเดือนมิถุนายน อาทิ (1) การหารือเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยเพื่อขยายโอกาสทางการค้า โดยกระทรวงพาณิชย์ของไทยขอให้ญี่ปุ่นเพิ่มรายการนำเข้าสินค้ากล้วยหอมทอง และลดภาษีน้ำตาลทราย พร้อมกันนี้ยังได้ชักชวนนักลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องมือแพทย์ หุ่นยนต์ และพลังงานสะอาด มาลงทุนในไทยและในพื้นที่ EEC (2) การนำผู้ประกอบการข้าวไทยเดินทางเยือนจีนเพื่อสร้างความเชื่อมั่น โดยกรมการค้าต่างประเทศนำสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยเดินทางเยือนเมืองกวางโจวเพื่อพบปะผู้นำเข้า และผู้ประกอบการค้าข้าวในจีน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการค้าข้าว พร้อมจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ข้าวไทย และมีแผนที่จะใช้อินฟลูเอนเซอร์ และบล็อกเกอร์ มาช่วยประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางยอดนิยมของกลุ่มคนวัยรุ่นจีนอย่าง TikTok หรือ WeChat Channel
แนวโน้มการส่งออกในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์คาดว่า การส่งออกของไทยในปี 2567 จะขยายตัวได้ตามเป้าหมาย โดยมีปัจจัยบวกจากการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร และการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลที่สนับสนุนความต้องการสินค้าที่เกี่ยวข้อง ขณะที่มีปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยพิบัติธรรมชาติที่ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรออกสู่ตลาดลดลง ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงอยู่ สงครามกลางเมืองในหลายประเทศ ปัญหาค่าระวางเรือที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจของคู่ค้าบางประเทศฟื้นตัวได้ค่อนข้างล่าช้า รวมถึงการเลือกตั้งในหลายประเทศสร้างความไม่แน่นอนทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนเพื่อรอท่าทีนโยบายของรัฐบาลใหม่
ประโยชน์และผลกระทบ
รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย เป็นการรายงานภาวะการค้าของประเทศไทยที่สำคัญ เป็นข้อมูลประกอบในการติดตามภาวะเศรษฐกิจ และกำหนดนโยบายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ภูมิธรรม เวชยชัย (รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี) 27 สิงหาคม 2567
8791