WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

 

 

MTI 720x100

 

ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์การวิจัยและข้อกําหนดจริยธรรมการวิจัยซึ่งมีปัญหากับ หลักศาสนา วัฒนธรรม จารีตประเพณี หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน พ.ศ. ....

Gov ภูมิธรรม08

ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์การวิจัยและข้อกําหนดจริยธรรมการวิจัยซึ่งมีปัญหากับ หลักศาสนา วัฒนธรรม จารีตประเพณี หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน พ.ศ. ....

          คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์การวิจัยและข้อกําหนดจริยธรรมการวิจัยซึ่งมีปัญหากับหลักศาสนา วัฒนธรรม จารีตประเพณี หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน พ.ศ. .... ตามที่ สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ เสนอ 

          สาระสําคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา

          โดยที่พระราชบัญญัติการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562 มาตรา 33 บัญญัติให้คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยความเห็นชอบของสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ กําหนดหลักเกณฑ์การวิจัยและข้อกําหนดจริยธรรมการวิจัยซึ่งมีปัญหากับหลักศาสนา วัฒนธรรม จารีตประเพณี หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ประกอบกับการทําวิจัยและนวัตกรรมและการทดลองเพื่อประโยชน์ทางวิชาการในบางกรณีอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งหรือละเมิดหลักการของศาสนา กระทบต่อจารีตประเพณีหรือศีลธรรมของท้องถิ่นหรือของชาติ ละเมิดศีลธรรม หรือเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีหลักเกณฑ์การวิจัยและข้อกําหนดจริยธรรมการวิจัย ซึ่งมีปัญหากับหลักศาสนา วัฒนธรรม จารีตประเพณี หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่มีหน่วยงานเฉพาะในการกํากับดูแล ควบคุมซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อจริยธรรมการวิจัยของหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม ที่เป็นผู้ให้ทุนวิจัย และนักวิจัยที่ทําวิจัย ดังนั้น สํานักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงมีความจําเป็น ต้องยกร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์การวิจัยและข้อกําหนดจริยธรรม การวิจัยซึ่งมีปัญหากับหลักศาสนา วัฒนธรรม จารีตประเพณีหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน พ.ศ. .... เพื่อกําหนดหลักเกณฑ์การวิจัยและข้อกําหนดจริยธรรมการวิจัย ซึ่งมีปัญหากับหลักศาสนา วัฒนธรรม จารีตประเพณี หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ให้มีความชัดเจน และยังเป็นการส่งเสริมการวิจัยให้มีคุณภาพและมาตรฐาน โดยมีสาระสําคัญ ดังนี้

          1. กําหนดคํานิยาม เช่น “การวิจัย” “นักวิจัย” “หน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม” “จริยธรรมการวิจัย” และ “คณะกรรมการ” ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น 

          2. คณะกรรมการพิจารณาการวิจัยซึ่งอาจมีปัญหากับหลักศาสนา วัฒนธรรม จารีตประเพณี หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

              (1) กําหนดให้คณะกรรมการฯ มีองค์ประกอบ ดังนี้ 1) ประธานกรรมการซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิอย่างสูงด้านจริยธรรมการวิจัย ศาสนา วัฒนธรรม หรือจารีตประเพณี 2) กรรมการโดยตําแหน่ง ได้แก่ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายกราชบัณฑิตยสภา และประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ 3) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจํานวนไม่เกิน 5 คน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ด้านต่างๆ 

              (2) กําหนดให้คณะกรรมการฯ มีหน้าที่และอํานาจในการกําหนดลักษณะการวิจัยซึ่งมีปัญหากับหลักศาสนาฯ สอดส่องดูแลและให้คําแนะนําเกี่ยวกับการปฏิบัติ ตามพระราชกฤษฎีกานี้ และกําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการทําวิจัยซึ่งมีปัญหา กับหลักศาสนาฯ สําหรับการวิจัย รวมทั้งตีความและวินิจฉัยปัญหาที่เกิดจากการใช้บังคับ พระราชกฤษฎีกานี้

              (3) กําหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการ วาระการดํารงตําแหน่ง การพ้นจากตําแหน่ง และองค์ประชุม

              (4) กําหนดให้ประธาน กรรมการ ประธานอนุกรรมการ อนุกรรมการ ได้รับเบี้ยประชุมและประโยชน์ตอบแทนอื่นตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเบี้ยประชุมกรรมการ

          3. กําหนดลักษณะของการวิจัยซึ่งมีปัญหากับหลักศาสนาวัฒนธรรม จารีตประเพณีหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ดังนี้

              (1) การวิจัยที่ขัดหรือแย้งหรือละเมิดหลักการสําคัญพื้นฐาน ของศาสนาใดศาสนาหนึ่งซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปและน่าจะก่อให้เกิดความแตกแยก ความขัดแย้ง 

              (2) การวิจัยซึ่งน่าจะก่อให้เกิดความแตกแยก ความขัดแย้ง การดูหมิ่นเกลียดชัง การด้อยค่า การล้อเลียนวัฒนธรรม จารีตประเพณี หรือศีลธรรมอันดี ของท้องถิ่นหรือของชาติ หรือการวิจัยซึ่งเป็นปฏิปักษ์อย่างยิ่งต่อวัฒนธรรม หรือจารีตประเพณี ของท้องถิ่นหรือของชาติ

              (3) การวิจัยซึ่งขัดต่อศีลธรรมอันดีที่สําคัญของท้องถิ่นหรือประเทศอย่างชัดแจ้ง และน่าจะนําไปสู่การละเมิดศีลธรรมนั้นอย่างกว้างขวาง

              (4) การวิจัยซึ่งน่าจะก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม การแบ่งแยกเป็นฝักฝ่ายในท้องถิ่นหรือสังคม การด้อยค่าหรือละเมิดชีวิต ร่างกาย เกียรติยศ ชื่อเสียงของมนุษย์ ความเสมอภาค สิทธิ หรือเสรีภาพ

              (5) การวิจัยลักษณะอื่นตามที่คณะกรรมการกําหนด

          4. กําหนดให้หน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรมและนักวิจัยดําเนินการวิจัยซึ่งมีปัญหากับ หลักศาสนาฯ ให้เป็นไปตามจริยธรรมการวิจัยทั่วไป หลักเกณฑ์ การวิจัย (เช่น รับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง จัดทําการวิเคราะห์ผลกระทบหรือความเสี่ยงที่เกิดขึ้น รวมทั้งความได้สัดส่วนระหว่างประโยชน์ที่เกิดขึ้น) และข้อกําหนดจริยธรรมการวิจัย (เช่น ต้องไม่สร้างความแตกแยก ละเมิดหลักสําคัญของศาสนา และไม่บิดเบือนข้อมูล)

          5. กําหนดวิธีดําเนินการในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าโครงการวิจัยมีปัญหากับหลักศาสนาฯ

              (1) ให้หน่วยงานซึ่งให้ทุนวิจัยหรือหน่วยงานซึ่งได้รับทําการวิจัย หน่วยงานต้นสังกัดของนักวิจัย หรือนักวิจัยส่งงานวิจัยนั้น ให้คณะกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัย ซึ่งคณะกรรมการจะต้องพิจารณาให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้เรื่อง และอาจขยายระยะเวลาการพิจารณาได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 30 วัน แล้วให้แจ้งผลการพิจารณาวินิจฉัยไปยังหน่วยงานหรือนักวิจัย

              (2) เมื่อคณะกรรมการพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า การวิจัยมีปัญหากับหลักศาสนาฯ โดยหากการวิจัยนั้นร้ายแรง ให้คณะกรรมการมีคําสั่งให้ยุติการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยและยุติการวิจัย และหากการวิจัยมีประโยชน์ทางวิชาการหรือวิชาชีพ ควรวิจัยต่อไปได้ ให้คณะกรรมการกําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการวิจัยและเผยแพร่ผลงานวิจัยเพื่อมิให้เกิดความเสียหายและให้หน่วยงานต้นสังกัดของนักวิจัยและนักวิจัยถือปฏิบัติได้ 

              (3) ในกรณีที่นักวิจัยหรือหน่วยงานไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ การวิจัยหรือข้อกําหนดการวิจัย หรือคําวินิจฉัย หรือคําสั่งของคณะกรรมการ ให้คณะกรรมการแจ้ง หน่วยงานในระบบวิจัย หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับศาสนาฯ เพื่อพิจารณาดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ต่อไป และแจ้งหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่และอํานาจในการให้ทุนระงับการให้ทุนแก่นักวิจัยหรือหน่วยงานที่ได้รับทุนวิจัย

          ทั้งนี้ ร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ภูมิธรรม เวชยชัย (รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี) 27 สิงหาคม 2567

 

 

8797

Click Donate Support Web 

Banner GPF720x100 PXTOA 720x100

EXIM One 720x90 C JMTL 720x100

SME720x100 2024

CKPower 720x100

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

kbank 720x100 66

ธกส 720x100PTG 720x100

ใจฟู720x100px

AXA 720 x100

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!