ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 30 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย – มาเลเซีย – ไทย (IMT-GT)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 03 September 2024 23:09
- Hits: 7535
ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 30 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย – มาเลเซีย – ไทย (IMT-GT)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 30 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย – มาเลเซีย – ไทย (IMT-GT) และเห็นชอบให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสามารถปรับปรุงถ้อยคำในร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ได้ในกรณีที่มิใช่การเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบอีก
2. เห็นชอบให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) หรือผู้แทนที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) มอบหมาย ปฏิบัติหน้าที่เป็นรัฐมนตรีประจำแผนงาน IMT-GT และเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 30 แผนงาน IMT-GT และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในระหว่างวันที่ 11-12 กันยายน 2567
3. เห็นชอบให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) หรือผู้แทนที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) มอบหมาย ได้ร่วมกับรัฐมนตรีประจำแผนงาน IMT-GT ของประเทศสมาชิก ให้การรับรองแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 30 แผนงาน IMT-GT ในวันที่ 12 กันยายน 2567 โดยไม่มีการลงนาม
สาระสำคัญของเรื่อง
สาระสำคัญของแถลงการณ์ร่วมของการประชุมรัฐมนตรี ครั้งที่ 30 แผนงาน IMT-GT เช่น
1) เน้นย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืนเพื่อการบรรลุความมั่นคงทางอาหารที่มีความยืดหยุ่นและสามารถเสริมสร้างเศรษฐกิจระดับอนุภูมิภาค โดยมุ่งเน้นที่การปรับปรุงประสิทธิภาพการเกษตรและสวัสดิภาพของเกษตรกรเป็นหลัก รวมทั้งส่งเสริมเกษตรกรรุ่นเยาว์อย่างต่อเนื่องและสนับสนุนการดำเนินความร่วมมือกับคณะทำงานสาขาต่างๆ เพื่อเพิ่มการเชื่อมโยงของโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรระหว่างเมืองเพื่อพัฒนาการเข้าถึงของเกษตรกรและเพิ่มปริมาณการค้า
2) คำนึงถึงศักยภาพที่โดดเด่นของอุตสาหกรรมฮาลาลในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยสนับสนุนความร่วมมืออย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มพูนความเชี่ยวชาญทางเทคนิคของผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับฮาลาล พร้อมทั้งสนับสนุนโครงการต่างๆ อาทิ โครงการเส้นทางฮาลาล โครงการศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาล และโครงการสร้างความตระหนักรู้และพัฒนาระบบนิเวศของอุตสาหกรรมฮาลาล
3) ชื่นชมความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องต่อการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวเพื่อพัฒนาให้อนุภูมิภาค IMT-GT
เป็นจุดหมายปลายทางแห่งเดียวกันและสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น 4) ชื่นชมความก้าวหน้าในการพัฒนาโครงการการเชื่อมต่อทางกายภาพภายในอนุภูมิภาคซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของความเชื่อมโยง 5) ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมดิจิทัลในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและครอบคลุมในอนุภูมิภาค โดยมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อลดความแตกแยกทางเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งเน้นย้ำถึงความเร่งด่วนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล การใช้งานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง การเสริมสร้างความปลอดภัยทางไซเบอร์ 6) รับทราบถึงความเร่งด่วนในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความจำเป็นในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ พร้อมทั้งเร่งรัดการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจที่มีความยืดหยุ่นและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว และเศรษฐกิจสีน้ำเงิน 7) เน้นย้ำการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอนุภูมิภาคเพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมที่ก้าวหน้ามากขึ้น โดยสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาทักษะแรงงานร่วมกันและส่งเสริมการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ 8) ตระหนักถึงความร่วมมือและบทบาทที่สำคัญของภาคเอกชน รัฐบาลท้องถิ่น เครือข่ายมหาวิทยาลัย พันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ และพันธมิตรอื่นๆ ที่มีศักยภาพ ที่ดำเนินงานร่วมกับคณะทำงานสาขาต่างๆ ภายใต้แผนงาน IMT-GT ในการส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองของอนุภูมิภาค
ทั้งนี้ มีการเปลี่ยนแปลงร่างแถลงการณ์ร่วมฯ จากฉบับที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและกระทรวงการต่างประเทศได้ให้ความเห็น ในประเด็นการลงนามในกรอบความตกลงด้านพิธีการศุลกากร
การตรวจคนเข้าเมือง และการตรวจโรคพืชและสัตว์ เนื่องจากประเทศสมาชิกมีมติให้เลื่อนกำหนดการลงนามดังกล่าวไปเป็นช่วงการประชุมระดับผู้นำแผนงาน IMT-GT ครั้งที่ 16 ซึ่งมีกำหนดจะจัดขึ้นในห้วงการประชุมสุดยอดอาเซียน
ในปี 2568 ณ ประเทศมาเลเซีย
ประโยชน์และผลกระทบ
1. ส่งเสริมบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศโดยใช้ประโยชน์จากการพัฒนาความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคภายใต้แผนงาน IMT-GT ในการพัฒนายุทธศาสตร์ร่วมกันเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานที่มีความสอดคล้องกันของไทยและประเทศเพื่อนบ้านทั้งในระดับส่วนกลางและท้องถิ่นในทุกสาขาและความร่วมมือและสาขาความร่วมมือใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ รวมทั้งส่งเสริมการดำเนินการที่สอดดคล้องกับประเด็นที่ระดับภูมิภาคให้ความสำคัญ
2. สร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมยางพารา ปาล์มน้ำมัน และฮาลาล รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนไทยในการเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านในอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพเพื่อเชื่อมต่อห่วงโซ่มูลค่าและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน
3. สร้างความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับอนุภูมิภาคร่วมกัน โดยมีโครงการสำคัญที่จะดำเนินการต่อเนื่อง อาทิ การดำเนินโครงการปีแห่งการท่องเที่ยว IMT-GT การเชื่อมโยงห่วงโซ่มูลค่ายางพาราภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยโครงการเมืองยางพาราและความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมยาง และการดำเนินการตามกรอบความตกลงด้านพิธีการศุลกากร การตรวจคนเข้าเมือง และการตรวจโรคพืชและสัตว์
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ภูมิธรรม เวชยชัย (รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี) 3 กันยายน 2567
9091