การป้องกันและปราบปรามธุรกิจขายสินค้าจากต่างประเทศที่ผิดกฎหมาย
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 03 September 2024 23:43
- Hits: 7999
การป้องกันและปราบปรามธุรกิจขายสินค้าจากต่างประเทศที่ผิดกฎหมาย
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบมาตรการแก้ไขปัญหาสินค้านำเข้าไม่มีคุณภาพมาตรฐานและธุรกิจจากต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย จำนวน 5 มาตรการหลัก (63 แผนปฏิบัติการ) และมอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ
สาระสำคัญ
1. สืบเนื่องจากมีข้อร้องเรียนจากภาคธุรกิจและผู้บริโภคเกี่ยวกับธุรกิจและสินค้าจากต่างประเทศทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐาน เหตุดังกล่าวได้ส่งผลให้ผู้ผลิตและผู้ประกอบการไทยไม่สามารถแข่งขันกับธุรกิจและสินค้าต่างชาติได้ ตลอดจนความห่วงใยที่ผู้บริโภคจะได้รับบริการและสินค้าไม่มีคุณภาพมาตรฐานด้วย
2. ภายหลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) เสนอเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2567 กระทรวงพาณิชย์ได้มีการประชุมกับหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 22 หน่วยงาน และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประกอบด้วย ภาคอุตสาหกรรมการผลิตรวม 30 กลุ่มธุรกิจ และธุรกิจบริการ (ขนส่งและโลจิสติกส์และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์) จำนวน 10 หน่วยงาน เพื่อหารือข้อเสนอแนะ รวมถึงมาตรการ/แนวทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าและบริการที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐานจากต่างประเทศที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการไทย
3. ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาการนำเข้าและจำหน่ายสินค้าไม่มีคุณภาพมาตรฐานจากต่างประเทศ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2567 โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน รวมถึงหัวหน้าส่วนราชการ จำนวน 28 หน่วยงาน และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายนภินทร ศรีสรรพางค์) เข้าร่วม เพื่อติดตามการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2567 และกำหนดมาตรการ/แนวทางที่ปฏิบัติได้จริงในการแก้ไขปัญหา การนำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าไม่มีคุณภาพมาตรฐาน รวมถึงปัญหาการประกอบธุรกิจจากต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย โดยที่ประชุมมีข้อสรุปในเรื่องดังกล่าวเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ดังนี้
การดำเนินการแก้ไขปัญหาจำเป็นต้องมองภาพรวมทั้งระบบในทุกมิติกับการนำเข้าสินค้าที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐาน ทั้งผ่านระบบการค้าออฟไลน์และออนไลน์ ตลอดจนปัญหาการประกอบธุรกิจจากต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งเหตุดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SMEs และผู้บริโภคในประเทศอย่างกว้างขวาง โดยเห็นควรกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาสินค้านำเข้าไม่มีคุณภาพมาตรฐานและธุรกิจจากต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย 5 มาตรการหลัก โดยกำหนดให้หน่วยงานรัฐดำเนินการตาม 63 แผนปฏิบัติการ
(1) ให้หน่วยงานรัฐบังคับใช้ระเบียบ/กฎหมายอย่างเข้นข้น อาทิ บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจเข้มสินค้า ณ ด่านศุลกากร การเพิ่มอัตราการเปิดตู้สินค้า (Full Container Load) เพื่อตรวจสอบคุณภาพสินค้านำเข้าจากต่างประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานหรือการได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สินค้าตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา การตรวจสอบมาตรฐานสินค้าที่จำหน่ายออนไลน์ โดยจะเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบ รวมถึงการตรวจสอบผู้ประกอบการ/ผู้ให้บริการให้ปฏิบัติตามกฎหมายไทย การป้องปรามการกระทำอันมีลักษณะเป็นนอมินี
(2) ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบให้สอดคล้องกับการค้าอนาคต อาทิ กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ ต้องจดแจ้งและจัดตั้งนิติบุคคลในประเทศไทย เพื่อให้ภาครัฐสามารถกำกับดูแลเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคและความเป็นธรรมในการประกอบธุรกิจ โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) อยู่ระหว่างจัดทำประกาศฯ ให้ผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มต่างประเทศที่มีคุณสมบัติตามกำหนด “ต้องจดทะเบียนนิติบุคคล โดยให้มีสำนักงานในไทย” พร้อมให้มีข้อกำหนดเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมและคุ้มครองผู้บริโภคไทย นอกจากนี้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจะเร่งเพิ่มจำนวนรายการสินค้าควบคุมภายใต้มาตรฐานบังคับ ครอบคลุมรายการสินค้าให้มากที่สุด
(3) มาตรการด้านภาษี อาทิ ภาษีศุลกากร ภาษีรายได้นิติบุคคลภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (Ant-dumping: AD) ภาษีตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (Anti-circumvention: AC) มาตรการปกป้องจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard Measure: SG) เป็นต้น และปัจจุบันกรมสรรพากรอยู่ระหว่างปรับปรุงประมวลรัษฎากรสำหรับการกำหนดให้ผู้ขายสินค้าออนไลน์จากต่างประเทศและแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่จำหน่ายสินค้าในไทยต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากร ในขณะเดียวกัน กรมการค้าต่างประเทศจัดอบรมให้ความรู้เชิงเทคนิคกับผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว เพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับกระบวนการยื่นคำขอและไต่สวนการใช้มาตรการ AD AC และ SG
(4) มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs โดยให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการพัฒนาเสริมความแข็งแกร่งภาคธุรกิจเร่งพัฒนาศักยภาพการผลิตสินค้าไทยและการประกอบธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ SMEs ไทย เพื่อให้แข่งขันได้ในยุคการค้าโลกใหม่ เช่น การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ในการผลิต และขยายการส่งออกสินค้าไทยผ่าน E-Commerce
(5) สร้าง/ต่อยอดความร่วมมือกับประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้น เช่น กับสาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี ให้เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการผลักดันสินค้าและบริการไทยผ่าน E-Commerce ต่างประเทศ รวมถึงส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางรวบรวมและกระจายสินค้าสำหรับ E-Commerce ในระดับภูมิภาค
โดยที่ประชุมมีมติให้ทุกหน่วยต้องดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดไว้ทันที โดยให้รายงานผลการดำเนินงานเป็นรายสัปดาห์ และจะมีการประชุมหารือในเรื่องดังกล่าวทุก 2 สัปดาห์ หากมีความจำเป็นตามสถานการณ์อาจพิจารณาปรับแผนการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวข้างต้นได้คำนึงถึงความสอดคล้องกับความตกลงทางการค้าและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศคู่ค้า ควบคู่กับการรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภคและผู้ประกอบการไทยอย่างสมดุล ตลอดจนสนับสนุนและพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้สามารถปรับตัวและแข่งขันได้ในโลกการค้ายุคใหม่
ประโยชน์และผลกระทบ
การดำเนินการตาม 5 มาตรการหลัก ( 63 แผนปฏิบัติการ) จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกัน ปราบปราม และกำกับดูแลการนำเข้าสินค้าไม่มีคุณภาพมาตรฐาน ละเมิดลิขสิทธิ์ ตลอดจนการดำเนินธุรกิจผิดกฎหมายของผู้ประกอบการต่างประเทศในไทย ส่งผลดีต่อผู้ผลิตและผู้ประกอบการไทยให้สามารถดำเนินธุรกิจและแข่งขันกับผู้ประกอบการต่างประเทศได้อย่างเป็นธรรม ตลอดจนความปลอดภัยของผู้บริโภคไทยในประเทศที่ได้รับบริการและสินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐาน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ภูมิธรรม เวชยชัย (รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี) 3 กันยายน 2567
9105