ร่างกฎกระทรวงกำหนดข้อความอย่างอื่นที่ถือว่าเป็นข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือเป็นข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม ที่ต้องห้ามใช้ในโฆษณาเครื่องสำอาง พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 04 September 2024 00:17
- Hits: 8125
ร่างกฎกระทรวงกำหนดข้อความอย่างอื่นที่ถือว่าเป็นข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือเป็นข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม ที่ต้องห้ามใช้ในโฆษณาเครื่องสำอาง พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกระทรวงกำหนดข้อความอย่างอื่นที่ถือว่าเป็นข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือเป็นข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม ที่ต้องห้ามใช้ในการโฆษณาเครื่องสำอาง พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ และหากไม่มีข้อทักท้วงหรือไม่มีความคิดเป็นอย่างอื่นให้ถือเป็นมติคณะรัฐมนตรีตามที่เสนอ
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. เนื่องด้วยเครื่องสำอางเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทั่วไปในชีวิตประจำวันสำหรับประชาชนทุกเพศทุกวัย ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีการใช้ข้อความโฆษณาเครื่องสำอาง ที่มีการแสดงสรรพคุณในการบำบัด บรรเทา รักษาโรค หรือทำให้เข้าใจว่ามีผลเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของร่างกาย หรือมีผลต่อการกระทำหน้าที่ใดๆ ของร่างกายที่มีวัตถุประสงค์นอกเหนือจากเพื่อความสะอาด ความสวยงาม หรือเปลี่ยนแปลงลักษณะที่ปรากฏ ซึ่งข้อความดังกล่าวนั้นเกินขอบข่ายของการเป็นเครื่องสำอางและอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในวิธีการใช้หรือทำให้ได้รับผลกระทบที่รุนแรงได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับข้อมูลที่ ไม่เกินจริงไม่เกินขอบข่ายของการเป็นเครื่องสำอาง อันจะนำไปสู่การพิจารณาตัดสินใจเลือกซื้อและใช้เครื่องสำอางได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย ไม่เกิดอันตรายจากการใช้เครื่องสำอาง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงกำหนดข้อความอย่างอื่นที่ถือว่าเป็นข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือเป็นข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม ที่ต้องห้ามใช้ในการโฆษณาเครื่องสำอาง พ.ศ. .... กำหนดข้อความที่ห้ามใช้ในการโฆษณาเครื่องสำอางเพิ่มเติมจากที่พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 กำหนดไว้ ดังนี้
1.1 ข้อความที่สื่อความหมายถึงการใช้กับบริเวณภายในร่างกายมนุษย์ แต่ไม่รวมถึงข้อความที่เกี่ยวกับผ้าอนามัยชนิดสอดหรือข้อความที่สื่อความหมายถึงการใช้กับฟันและเยื่อบุในช่องปาก
1.2 ข้อความที่สื่อให้เข้าใจว่า นำไปใช้ฉีด หรือใช้ร่วมกับเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่รุกล้ำเข้าไปในร่างกาย หรือเครื่องมือประกอบในการผลักดันสารเข้าสู่ร่างกาย เช่น Mesotherapy
2. สธ. โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียต่อร่างกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว ผ่านเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย www.law.go.th ระหว่างวันที่ 26 มกราคม – 12 กุมภาพันธ์ 2567 โดยมีหน่วยงานและประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็น ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องผู้ประกอบการด้านเครื่องสำอาง องค์กรอิสระด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และประชาชนทั่วไปซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยกับร่างกฎกระทรวงฯ และในคราวประชุมคณะกรรมการเครื่องสำอางครั้งที่ 1/2567 วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับร่างกฎกระทรวงดังกล่าว ทั้งนี้ อย. ได้จัดทำรายการวิเคราะห์ผลกระทบโดยรวมที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายว่าด้วยแล้ว
3. โดยที่ร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ เป็นกฎหมายลำดับรองที่ออกตามความในพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ซึ่งมีผลใช้บังคับก่อนวันที่พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับจึงอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติดังกล่าวที่กำหนดให้ต้องมีการออกกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับ (ภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566) ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาในการออกกฎหมายลำดับรองที่ออกตามความในพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการให้ร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้มีผลใช้บังคับก่อนวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ภูมิธรรม เวชยชัย (รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี) 3 กันยายน 2567
9116