ร่างกฎกระทรวงการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก หรือจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 04 September 2024 00:22
- Hits: 8046
ร่างกฎกระทรวงการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก หรือจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก หรือจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ โดยให้กระทรวงสาธารณสุขรับความเห็นของสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญ
1. เดิมได้มีกฎกระทรวงเกี่ยวกับการขออนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และการกำหนดค่าธรรมเนียม ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 5 ฉบับ ได้แก่ (1) กฎกระทรวงควบคุมการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษ ในประเภท 3 ตำรับที่มีโคเดอีนเป็นส่วนผสม พ.ศ. 2546 (2) กฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียม สำหรับผู้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2547 (3) กฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับผู้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2552 (4) กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการขออนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 พ.ศ. 2553 และ (5) กฎกระทรวงกำหนดฉลากและเอกสารกำกับยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 หรือคำเตือน หรือข้อควรระวังการใช้ที่ภาชนะบรรจุหรือหีบห่อบรรจุยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ที่ผลิต นำเข้า หรือส่งออก พ.ศ. 2558 แต่โดยที่ปัจจุบันพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ได้บัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 รวมถึงฉบับแก้ไขเพิ่มเติมทุกฉบับ เมื่อประมวลกฎหมายยาเสพติดมีผลใช้บังคับแล้ว (ใช้บังคับเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564) โดยให้บรรดากฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งมาตรา 35 วรรคสาม มาตรา 36 มาตรา 37 วรรคหนึ่ง และมาตรา 40 แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด ได้บัญญัติให้การขออนุญาต คุณสมบัติของผู้ขออนุญาต การออกใบอนุญาต การออกใบแทนใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต การแก้ไขรายการในใบอนุญาตการนำเข้าหรือส่งออกในแต่ละครั้ง การให้ผู้รับอนุญาต ดำเนินการเพื่อประโยชน์ในการควบคุมกำกับดูแล และการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการขออนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออกหรือจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ดังนั้น เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในเรื่องดังกล่าว จึงสมควรออกกฎกระทรวงเพื่อเป็นไปตามบทบัญญัติดังกล่าว
2. ร่างกฎกระทรวงการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก หรือจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 พ.ศ. .... ที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2566 และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว (เรื่องเสร็จที่ 455/2567) ซึ่งเป็นการออกกฎกระทรวงขึ้นใหม่เพื่อใช้บังคับแทนกฎกระทรวงทั้ง 5 ฉบับดังกล่าว ซึ่งร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ยังคงมีหลักการเช่นเดียวกับกฎกระทรวงฉบับเดิม โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
3. ร่างกฎกระทรวงที่ สคก. ตรวจพิจารณาดังกล่าว มีสาระสำคัญ ดังนี้
ประเด็น |
รายละเอียด |
|
1. วันบังคับใช้ |
- ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 30 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป |
|
2. ยกเลิกบทบัญญัติ |
- ยกเลิกกฎกระทรวงควบคุมการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ตำรับ ที่มี - ยกเลิกข้อ 2 (6) (7) (8) (9) (11) (15) และ (18) แห่งกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับผู้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2547 เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือนำเข้าหรือส่งออกแต่ละครั้งซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 - ยกเลิกข้อ 3 (1) แห่งกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับผู้รับอนุญาต ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2547 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง กำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับผู้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2552 เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือนำเข้าหรือส่งออกแต่ละครั้งซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 - กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการขออนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 พ.ศ. 2553 - กฎกระทรวงกำหนดฉลากและเอกสารกำกับยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 หรือคำเตือนหรือข้อควรระวังการใช้ที่ภาชนะบรรจุหรือหีบห่อบรรจุยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ที่ผลิต นำเข้า หรือส่งออก พ.ศ. 2558 |
|
3. คำนิยาม |
- กำหนดนิยามคำว่า “ขายส่ง” หมายความว่า การจำหน่ายโดยตรงให้แก่ (1) ผู้รับอนุญาตผลิต จำหน่าย หรือจำหน่าย โดยการขายส่ง ยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 (สธ. ขอแก้ไขคำนิยามจากร่างที่ สคก. ตรวจพิจารณาแล้วให้สอดคล้องกับร่างกฎกระทรวงการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก หรือจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 หรือประเภท 4 พ.ศ. (เรื่องเสร็จที่ 631-362/2567) (2) กระทรวง ทบวง กรม สภากาชาดไทย และองค์การมหาชนและหน่วยงานในกำกับของรัฐที่ให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข (3) ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม หรือผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง |
|
4.คุณสมบัติของผู้ขออนุญาต |
- ผู้ขออนุญาตผลิตต้องได้รับใบอนุญาตผลิตยาแผนปัจจุบันตามกฎหมายว่าด้วยยาในหมวดยาเดียวกันกับที่ขออนุญาตนั้น - ผู้ขออนุญาตนำเข้าต้องได้รับใบอนุญาตนำหรือสั่งยาแผนปัจจุบันเข้ามาในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยยา - ผู้ขออนุญาตส่งออกต้องได้รับใบอนุญาตผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 - ผู้ขออนุญาตจำหน่ายต้องได้รับใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบันตามกฎหมายว่าด้วย - ผู้ขออนุญาตจำหน่ายโดยการขายส่งต้องได้รับใบอนุญาตขายส่งยาแผนปัจจุบันตามกฎหมายว่าด้วยยา หรือได้รับใบอนุญาตผลิตหรือนำเข้ายาเสพติดให้โทษในประเภท 3 |
|
5. การยื่นคำขอ |
- การยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ยื่นคำขอต่อผู้อนุญาต พร้อมด้วยข้อมูล เอกสารหรือหลักฐาน เช่น เลขที่ใบอนุญาตผลิตยาแผนปัจจุบันตามกฎหมายว่าด้วยยา เลขที่ใบอนุญาตนำหรือสั่งยาแผนปัจจุบันเข้ามาในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยยา และคำรับรองของเภสัชกรที่อยู่ประจำควบคุมกิจการของสถานที่ผลิต นำเข้า ส่งออกหรือจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 หรือสถานที่จำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 โดยการขายส่ง แล้วแต่กรณี - การยื่นคำขอ การแจ้ง และการติดต่อใดๆ และการออกเอกสารหลักฐานต่างๆ ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยหากมีเหตุไม่สามารถดำเนินการโดยวิธีการดังกล่าวได้ ให้ดำเนินการ ณ สถานที่ ดังต่อไปนี้ (1) กรณีผลิต นำเข้า หรือส่งออก ให้ดำเนินการ ณ สำนักงาน อย. สธ. (2) กรณีจำหน่าย หรือจำหน่ายโดยการขายส่งให้ดำเนินการ ณ สำนักงาน อย. สธ. หรือให้ดำเนินการ ณ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแห่งท้องที่ที่สถานที่จำหน่าย หรือจำหน่าย โดยการขายส่งนั้นตั้งอยู่หรือสถานที่อื่นตามที่เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (เลขาธิการ อย.) กำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา - แบบคำขอ คำรับรอง ใบอนุญาต และใบแทนให้เป็นไปตามที่เลขาธิการ อย. กำหนด |
|
6. การพิจารณาคำขออนุญาต |
- กรณีที่คำขอรับใบอนุญาต รวมทั้งข้อมูลและเอกสารไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน ให้ - กรณีที่ผู้ขออนุญาตยื่นคำขอรับใบอนุญาต รวมทั้งข้อมูลและเอกสารถูกต้องและครบถ้วน ให้ผู้อนุญาตออกหลักฐานการขอรับคำขอใบอนุญาต และแจ้งให้ผู้ขออนุญาตชำระค่าธรรมเนียมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายภายในระยะเวลาที่กำหนด และเมื่อชำระค่าธรรมเนียมแล้ว ให้ผู้อนุญาตพิจารณาคำขอให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ได้รับชำระค่าธรรมเนียมครบถ้วน และในกรณีที่มีคำสั่งอนุญาต ให้ผู้อนุญาตมีหนังสือแจ้งให้ผู้ขออนุญาตทราบภายใน 7 วันนับแต่วันที่มีคำสั่งอนุญาต - ในกรณีที่ผู้อนุญาตมีคำสั่งไม่อนุญาต ให้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ขออนุญาตทราบพร้อมด้วยเหตุผลและสิทธิอุทธรณ์ภายใน 7 วันนับแต่วันที่มีคำสั่งไม่อนุญาต |
|
7. อายุใบอนุญาต |
- ใบอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก หรือจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 หรือใบอนุญาตจำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภท 3 โดยการขายส่ง ให้ใช้ได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคมของปีที่ออกใบอนุญาต |
|
8. การนำเข้าหรือส่งออกในแต่ละครั้ง |
- กำหนดให้ผู้รับอนุญาตนำเข้าหรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ต้องได้รับใบอนุญาตเฉพาะคราวทุกครั้ง โดยให้ยื่นคำขอต่อผู้อนุญาตพร้อมด้วยข้อมูล เอกสาร หรือหลักฐานที่ระบุไว้ในแบบคำขอ และเมื่อข้อมูล เอกสาร หรือหลักฐาน ถูกต้องและครบถ้วน ให้ผู้อนุญาตพิจารณาออกใบอนุญาตนำเข้า หรือส่งออกเฉพาะคราวซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ให้แก่ผู้ขออนุญาตภายใน 30 วัน และให้ผู้อนุญาตแจ้งให้ผู้ขออนุญาตทราบภายใน 7 นับแต่วันที่มีคำสั่งอนุญาต - กำหนดให้การออกใบอนุญาตให้ออกเป็นใบอนุญาตนำเข้าหรือส่งออกเฉพาะคราว และให้มีสำเนาใบอนุญาตและคู่ฉบับใบอนุญาต รวมทั้งมีหมายเลขกำกับไว้ที่สำเนาและคู่ฉบับใบอนุญาตด้วย และกำหนดวิธีการดำเนินการของสำนักงาน อย. เมื่อออกใบอนุญาตนำเข้าเฉพาะคราวหรือส่งออกเฉพาะคราวให้แก่ผู้รับอนุญาต เช่น เก็บไว้เป็นหลักฐาน จัดส่งไปยังเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของประเทศที่ส่งออก นำไปยื่นให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ด่านตรวจสอบยาเสพติดให้โทษ เพื่อใช้ในการตรวจสอบ - กำหนดหน้าที่ของผู้รับอนุญาตจะต้องดำเนินการ ดังนี้ (1) นำยาเสพติดให้โทษที่ตนนำเข้าหรือส่งออกมาให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ด่านตรวจสอบยาเสพติดให้โทษ เพื่อตรวจสอบ (2) นำเข้าหรือส่งออกยาเสพติดให้โทษตามชนิดที่ระบุไว้ในใบอนุญาตเฉพาะคราว และไม่เกินจำนวนหรือปริมาณที่ระบุไว้ในใบอนุญาตเฉพาะคราว ในกรณีที่ไม่สามารถส่งออกได้ตามจำนวนหรือปริมาณดังกล่าว ให้แจ้งต่อผู้อนุญาตเพื่อแก้ไขใบอนุญาตให้ถูกต้องตามจำนวนหรือปริมาณที่ส่งออกจริง (3) ในกรณีที่เป็นการนำเข้า ให้จัดส่งสำเนาใบอนุญาตส่งออกหรือสำเนาหนังสือแสดงการอนุญาตส่งออกของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของประเทศที่ส่งออกมาพร้อมกับยาเสพติดให้โทษ 1 ฉบับ |
|
9. การควบคุมกำกับดูแล |
- กำหนดให้ผู้รับอนุญาตผลิต นำเข้าหรือส่งออก และจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 จะต้องดำเนินการตามข้อปฏิบัติต่างๆ เช่น (1) จัดให้มีป้ายไว้ในที่เปิดเผยเห็นได้ง่าย ณ สถานที่ผลิต ด้วยวัตถุถาวรสีเขียวมีขนาดกว้างและยาวไม่น้อยกว่า 10 x 60 เซนติเมตร และมีข้อความเป็นตัวอักษรไทยสีขาว สูงไม่น้อยกว่า 3 เซนติเมตร แสดงว่าเป็นสถานที่ผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 (2) จัดให้มีป้ายแสดงชื่อและเวลาทำการของเภสัชกรผู้ควบคุมกิจการ ด้วยวัตถุถาวรสีเขียวมีข้อความแสดงชื่อตัว ชื่อสกุล วิทยฐานะ และเวลาทำการของเภสัชกรเป็นอักษรไทยสีขาว ขนาดตัวอักษรสูง ไม่น้อยกว่า 2 เซนติเมตร (3) จัดทำบัญชีเกี่ยวกับการผลิต นำเข้า การส่งออก และการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษตามที่ได้รับอนุญาต โดยต้องให้เก็บรักษาบัญชีไว้และพร้อมที่จะแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทุกเวลา อย่างน้อยภายใน 2 ปี นับวันที่ลงรายการครั้งสุดท้ายในบัญชี (4) จัดทำรายงานเกี่ยวกับการดำเนินกิจการตามที่ได้รับอนุญาตต่อผู้อนุญาตเป็นรายเดือนภายในระยะเวลา 1 เดือนนับแต่วันสิ้นเดือน (5) จัดให้มีเภสัชกรและดูแลให้เภสัชกรอยู่ประจำควบคุมกิจการตลอดเวลาที่เปิดทำการ ซึ่งระบุไว้ในใบอนุญาต และควบคุมเภสัชกรให้มีการดำเนินการตามที่กำหนดไว้ - กำหนดให้การจัดบัญชีและการจัดทำรายงานให้มีรายละเอียดตามแบบที่เลขาธิการ อย. กำหนด - กำหนดให้ผู้รับอนุญาตประสงค์จะเปลี่ยนตัวเภสัชกร ให้ยื่นคำขอต่อผู้อนุญาตและ - กำหนดให้เลขาธิการ อย. มีอำนาจประกาศควบคุมการจำหน่ายเพื่อประโยชน์ของทางราชการในการป้องกันมิให้มีการนำยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ไปใช้ในทางที่ผิดหรือนอกวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ได้ |
|
10. ค่าธรรมเนียม |
- ให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ ดังนี้ (1) ใบอนุญาตผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ฉบับละ 6,000 บาท (อัตราคงเดิมตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงค่าธรรมเนียมสำหรับผู้อนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2547 และอัตราค่าธรรมเนียมสูงสุดท้ายประมวลกฎหมายยาเสพติดฯ ฉบับละ 50,000 บาท) (2) ใบอนุญาตนำเข้ายาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ฉบับละ 6,000 บาท (อัตราคงเดิมตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงค่าธรรมเนียมฯ และอัตราค่าธรรมเนียมสูงสุดท้ายประมวลกฎหมายฯ ฉบับละ 100,000 บาท) (3) ใบอนุญาตส่งออกยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ฉบับละ 200 บาท (อัตราคงเดิมตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงค่าธรรมเนียมฯ และอัตราค่าธรรมเนียมสูงสุดท้ายประมวลกฎหมายฯ ฉบับละ 10,000 บาท) (4) ใบอนุญาตจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ฉบับละ 1,000 บาท (อัตราคงเดิมตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงค่าธรรมเนียมฯ และอัตราค่าธรรมเนียมสูงสุดท้ายประมวลกฎหมายฯ ฉบับละ 10,000 บาท) (5) ใบอนุญาตจำหน่ายยาเสพติดให้ให้โทษในประเภท 3 โดยการขายส่ง ฉบับละ 1,000 บาท (เดิมมิได้กำหนดไว้ แต่ได้กำหนดตามอัตราค่าธรรมเนียมสูงสุดท้ายประมวลฯ ฉบับละ 10,000 บาท) (6) ใบอนุญาตนำเข้าหรือส่งออกเฉพาะคราวยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ฉบับละ 500 บาท (อัตราเพิ่มขึ้นซึ่งเดิมกำหนดไว้ในกฎกระทรวงค่าธรรมเนียมฯ ฉบับละ 100 บาท และอัตราธรรมเนียมสูงสุดท้ายประมวลฯ ฉบับละ 20,000 บาท) (7) การต่ออายุใบอนุญาตยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 เท่ากับกึ่งหนึ่งของค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตนั้น (กำหนดเท่ากับอัตราค่าธรรมเนียมท้ายประมวลกฎหมายฯ) - ให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น สภากาชาดไทย องค์การมหาชน และหน่วยงานในกำกับของที่ให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ภูมิธรรม เวชยชัย (รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี) 3 กันยายน 2567
9117