ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและการยกเว้นค่าธรรมเนียม ใบอนุญาตโฆษณายาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ และค่าธรรมเนียมที่เจ้าหน้าที่ได้ให้บริการตาม (17) (18) (19) (20) และ (21) ในอัตราค่าธรรมเนียมท้ายประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 04 September 2024 00:25
- Hits: 8100
ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและการยกเว้นค่าธรรมเนียม ใบอนุญาตโฆษณายาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ และค่าธรรมเนียมที่เจ้าหน้าที่ได้ให้บริการตาม (17) (18) (19) (20) และ (21) ในอัตราค่าธรรมเนียมท้ายประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและการยกเว้นค่าธรรมเนียม ใบอนุญาตโฆษณายาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ และค่าธรรมเนียมที่เจ้าหน้าที่ได้ให้บริการตาม (17) (18) (19) (20) และ (21) ในอัตราค่าธรรมเนียมท้ายประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ ทั้งนี้ ให้กระทรวงสาธารณสุขรับความเห็นของสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. ปัจจุบันพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ได้บัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 เมื่อประมวลกฎหมายยาเสพติดมีผลใช้บังคับแล้ว (มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564) โดยให้บรรดากฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศ ที่ออกตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับประมวลกฎหมายยาเสพติด
2. โดยที่มาตรา 18 แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่เจ้าหน้าที่ได้ให้บริการ รวมทั้งกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราตามบัญชีท้ายประมวลกฎหมายยาเสพติด หรือยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าว ซึ่งในบัญชีท้ายๆ ตาม (11) ได้กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตโฆษณายาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ และมาตรา 20 บัญญัติให้ค่าธรรมเนียมตาม (17) (18) (19) (20) และ (21) ในอัตราค่าธรรมเนียมท้ายประมวลกฎหมายยาเสพติดให้ตกเป็นของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (สำนักงาน อย.) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ หรือเป็นค่าตอบแทนแก่ผู้ปฏิบัติงาน ดังนั้น ค่าธรรมเนียมท้ายประมวลกฎหมายยาเสพติดจึงแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่
- ส่วนที่ 1 ค่าธรรมเนียมตาม (1) ถึง (16) ส่วนนี้จะเป็นรายได้แผ่นดิน
- ส่วนที่ 2 ค่าธรรมเนียมตาม (17) (18) (19) (20) และ (21) ส่วนนี้ให้ตกเป็นของสำนักงาน อย. เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ หรือเป็นค่าตอบแทนแก่ผู้ปฏิบัติงานตามมาตรา 19 ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญ องค์กรเชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชน
ดังนั้น เพื่อเป็นการกำหนดรายละเอียดของการกำหนดและการยกเว้นค่าธรรมเนียมเพื่อให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายยาเสพติด สธ. ยกร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ขึ้น โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
2.1 กำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตโฆษณายาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ ฉบับละ 3,000 บาท
2.2 กำหนดค่าธรรมเนียมที่เจ้าหน้าที่ได้ให้บริการสำหรับเรียกเก็บจากผู้ประกอบการในกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ ค่าขึ้นบัญชีที่จะจัดเก็บจากผู้เชี่ยวชาญ องค์กร ผู้เชี่ยวชาญหน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ค่าคำขอและการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร ค่าประเมินเอกสารทางวิชาการ ค่าตรวจสถานประกอบการและค่าดำเนินการอื่นๆ
2.3 ยกเว้นค่าธรรมเนียมให้แก่ผู้ยื่นคำขอในกระบวนการพิจารณาอนุญาตยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์และผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐหรือองค์กรเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นของรัฐ รวมทั้งสถาบันภายใต้มูลนิธิซึ่งเป็นกลไกของส่วนราชการ
ในคราวประชุมคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ครั้งที่ 22-8/2566 เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงดังกล่าว
3. ร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้เป็นการออกกฎหมายลำดับรองซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายยาเสพติดที่มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 ภายหลังพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับ ซึ่งจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 8 ธันวาคม 2566 อย่างไรก็ตาม สธ. ได้เสนอขอขยายระยะเวลาการดำเนินการออกกฎกระทรวงในเรื่องนี้ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการจัดทำกฎหมายลำดับรองซึ่งออกตามความในประมวลกฎหมายยาเสพติด ออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2566
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ภูมิธรรม เวชยชัย (รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี) 3 กันยายน 2567
9118