การจัดทำความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐคีร์กีซ ว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและหนังสือเดินทางพิเศษ/หนังสือเดินทางราชการ
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 19 September 2024 00:31
- Hits: 8604
การจัดทำความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐคีร์กีซ ว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและหนังสือเดินทางพิเศษ/หนังสือเดินทางราชการ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบต่อการจัดทำความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐคีร์กีซ (คีร์กีซ) ว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและหนังสือเดินทางพิเศษ/หนังสือเดินทางราชการ (Agreement between the Cabinet of Ministers of the Kyrgyz Republic and the Government of the Kingdom of Thailand on Visa Exemption for Holders of Diplomatic and Service/Official Passports) (ความตกลงฯ)
2. เห็นชอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้แทนเป็นผู้ลงนามในร่างความตกลงฯ ทั้งนี้ ในกรณีมอบหมายผู้แทน ให้ กต. จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่ผู้ลงนามที่ได้รับมอบหมายดังกล่าว
3. เห็นชอบให้ กต. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการมีผลใช้บังคับของความตกลงฯ
ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างความตกลงฯ โดยไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไว้ ให้ กต. สามารถดำเนินการได้โดยนำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ประเทศไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าว
สาระสำคัญ
1. คีร์กีซตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียกลาง โดยประเทศไทยได้รับรองเอกราชของคีร์กีซเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม2534 และได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับคีร์กีซเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2535 รวมทั้งได้เริ่มการเจรจาร่างความตกลงฯ มาตั้งแต่ปี 2553 และมีการแลกเปลี่ยนร่างโต้ตอบความตกลงฯ ระหว่างกันมาโดยตลอด ทั้งนี้ ฝ่ายคีร์กีซได้แสดงความพร้อมที่จะลงนามร่างความตกลงดังกล่าวและเสนอให้ฝ่ายไทยพิจารณาความเป็นไปได้ในการลงนามความตกลงฯ ในห้วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 79 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 21 - 27 กันยายน 2567
2. ร่างความตกลงฯ มีสาระสำคัญเป็นการระบุรายละเอียดและเงื่อนไขของการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและหนังสือเดินทางพิเศษ/หนังสือเดินทางราชการระหว่างไทยและคีร์กีซ โดยสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
รายละเอียด |
ข้อตกลง |
(1) ผู้ถือหนังสือเดินทางทูตหรือหนังสือเดินทางพิเศษของคู่ภาคี (ไทยและคีร์กีซ) ที่มีอายุใช้ได้จะไม่ต้องรับการตรวจลงตราสำหรับการเดินทางเข้า ออก ผ่าน หรือพำนักอยู่ในดินแดนของภาคีอีกฝ่ายเป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน นับจากวันที่เดินทางเข้า โดยมีเงื่อนไขว่าบุคคลเหล่านั้นจะต้องไม่ทำงานใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินกิจการของตนเองหรือกิจกรรมส่วนตัวอื่นในดินแดนของภาคีอีกฝ่าย (2) ผู้ถือหนังสือเดินทางทูตหรือหนังสือเดินทางพิเศษของภาคีที่มีอายุใช้ได้ ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นสมาชิกในคณะผู้แทนทางการทูต หรือกงสุลของภาคีหรือบุคคลที่เป็นผู้แทนของภาคีประจำองค์การระหว่างประเทศในดินแดนของภาคีอีกฝ่าย รวมถึงบุคคลในครัวเรือนของบุคคลดังกล่าวที่ถือหนังสือเดินทางทูตหรือหนังสือเดินทางพิเศษที่มีอายุใช้ได้ของภาคีสามารถเดินทางเข้า พำนักอยู่ หรือออกจากดินแดนของภาคีอีกฝ่าย โดยไม่ต้องได้รับการตรวจลงตราเป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน ระยะเวลาดังกล่าวจะต้องได้รับการขยายออกไปจนสิ้นสุดวาระการปฏิบัติหน้าที่เมื่อ กต. ของภาคีหรือสถานเอกอัครราชทูตของภาคีที่มีเขตอาณาครอบคลุมดินแดนของรัฐภาคีอีกฝ่ายได้ร้องขอ (3) ภาคีฝ่ายหนึ่งจะต้องแจ้งภาคีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นลายลักษณ์อักษรผ่านช่องทางการทูตโดยทันทีหากมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายและข้อบังคับของตนที่เกี่ยวข้องที่ใช้บังคับกับการเข้าเมืองการเดินทางและการพำนักอยู่ของคนต่างชาติ (4) หน่วยงานที่มีอำนาจของรัฐภาคีแต่ละฝ่ายจะมีสิทธิในการปฏิเสธการเดินทางเข้ามาหรือยุติการพำนักอยู่ของบุคคลใดๆ ซึ่งได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราภายใต้ความตกลงนี้บนพื้นฐานของความสงบเรียบร้อยสาธารณสุขและความมั่นคงแห่งชาติ |
การดำเนินการ เกี่ยวกับ หนังสือเดินทาง |
(1) ภาคีจะต้องส่งตัวอย่างของหนังสือเดินทางทูตและหนังสือเดินทางพิเศษ/หนังสือเดินทางราชการที่มีอายุใช้ได้ให้แก่ภาคีอีกฝ่ายหนึ่งผ่านช่องทางการทูตอย่างน้อย 30 วัน ก่อนการมีผลใช้บังคับของความตกลงฯ (2) ในกรณีที่รัฐภาคีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะใช้หนังสือเดินทางทูตหรือหนังสือเดินทางพิเศษ/หนังสือเดินทางราชการแบบใหม่ ภาคีดังกล่าวจะต้องส่งตัวอย่างของหนังสือเดินทางทูตและหนังสือเดินทางพิเศษ/หนังสือเดินทางราชการแบบใหม่นั้นให้แก่ภาคีอีกฝ่ายหนึ่ง ผ่านช่องทางการทูตอย่างน้อย 30 วัน ก่อนการเริ่มใช้งาน |
การระงับ การมีผลใช้บังคับ |
ภาคีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจระงับการปฏิบัติตามความตกลงฯ ทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย สาธารณสุขและความมั่นคงแห่งชาติ โดยภาคีนั้นจะต้องแจ้งเรื่องการระงับและการยกเลิกการระงับการปฏิบัติตามความตกลงฯ แก่ภาคีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นลายลักษณ์อักษรผ่านช่องทางการทูตล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน |
การแก้ไข |
ความตกลงนี้อาจได้รับการแก้ไขได้โดยการตกลงร่วมกันเป็นลายลักษณ์อักษรของคู่ภาคี |
การระงับข้อพิพาท |
ข้อพิพาทใดๆ อันเกิดจากการดำเนินการหรือการปฏิบัติตามความตกลงนี้ จะได้รับการระงับโดยการเจรจาและการปรึกษาหารือระหว่างคู่ภาคี |
ผลบังคับใช้ |
ความตกลงฯ จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 60 นับจากวันที่ได้รับแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งสุดท้ายโดยคู่ภาคีว่าได้ดำเนินการตามกระบวนการภายในที่จำเป็นของตนเพื่อให้ความตกลงฯ มีผลใช้บังคับเสร็จสิ้นแล้ว และความตกลงฯ จะมีผลใช้บังคับเป็นระยะเวลา 5 ปี และจะได้รับการต่ออายุอัตโนมัติครั้งละ 5 ปี จนกว่าจะได้รับการบอกเลิกเป็นลายลักษณ์อักษรจากภาคีอีกฝ่ายหนึ่งล่วงหน้าเป็นเวลา 90 วัน |
3. กต. แจ้งว่า ได้สอบถามความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติและสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว โดยทุกหน่วยงานไม่มีข้อขัดข้องต่อการจัดทำความตกลงฯ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) 17 กันยายน 2567
9465