ร่างเอกสารสำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 42 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 24 September 2024 23:19
- Hits: 6233
ร่างเอกสารสำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 42 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบต่อร่างเอกสารสำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 42 และ การประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง จำนวน 5 ฉบับ ได้แก่ 1) ร่างถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 42 2) ร่างถ้อยแถลงเพื่อการพิจารณาสำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน-สหรัฐอเมริกาด้านพลังงาน 3) ร่างถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนบวกสามด้านพลังงาน (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) ครั้งที่ 21 4) ร่างถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมสุดยอดรัฐมนตรีพลังงานแห่งเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 18 และ 5) ร่างถ้อยแถลงร่วมสำหรับโครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าระหว่าง สปป.ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ฉบับที่ 5
2. อนุมัติได้ให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นผู้ให้การรับรองเอกสารสำหรับการประชุมดังกล่าวในช่วงการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 42 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้องในระหว่างวันที่ 24 - 27 กันยายน 2567 ณ กรุงเวียงจันทน์ สปป.สาว
ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างเอกสารทั้ง 5 ฉบับดังกล่าว ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย และไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ให้กระทรวงพลังงานนำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง
สาระสำคัญร่างถ้อยแถลงร่วมฯ ทั้ง 5 ฉบับ
1. ร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 42 มีสาระสำคัญ เช่น (1) วาระการพัฒนาอย่างยั่งยืนและกรอบยุทธศาสตร์ของอาเซียนที่มีความเชื่อมโยงกับพลังงาน อาทิ เศรษฐกิจหมุนเวียน เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน เศรษฐกิจภาคพื้นทะเล การลดการปล่อยคาร์บอนในภาคขนส่ง การยกระดับห่วงโซ่คุณค่า และเศรษฐกิจดิจิทัล (2) ความก้าวหน้าที่สำคัญที่เกิดขึ้นภายใต้การเป็นประธานของ สปป.ลาว อาทิ การจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเชื่อมโยงโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าอาเซียน การพัฒนาความตกลงว่าด้วยความมั่นคงทางปิโตรเลียมของอาเซียนฉบับใหม่ การเปิดตัวรายงานทิศทางพลังงานอาเซียน ฉบับที่ 8 และแนวคิดหลักของแผนปฏิบัติการความร่วมมืออาเซียนด้านพลังงานสำหรับปี พ.ศ. 2568-2573 (3) การหารือกับทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ และทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ ในการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านทางพลังงานที่เป็นธรรม ยั่งยืน ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานในภูมิภาค
2. ร่างถ้อยแถลงเพื่อการพิจารณาสำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน-สหรัฐอเมริกาด้านพลังงาน มีสาระสำคัญ 1) การสนับสนุนประเทศสมาชิกอาเซียนให้ดำเนินการตามการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions: NDCs) และการจัดตั้งศูนย์กลางแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาเซียน (ASEAN Climate Solutions Hub) 2) ความร่วมมือระหว่างอาเซียนและสหรัฐอเมริกา ในการสนับสนุน (1) การพัฒนาการเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน (2) การพัฒนาโครงสร้างสถาบัน ตลาดพลังงาน และแผนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการซื้อขายไฟฟ้าแบบหลายทิศทางในภูมิภาคอาเซียน (3) กรอบการดำเนินงานทางด้านกฎหมาย การกำกับดูแล และการเงิน สำหรับสายส่งไฟฟ้าใต้ทะเล และ (4) กรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจภาคพื้นทะเลของอาเซียน
3. ร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนบวกสามด้านพลังงาน (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) ครั้งที่ 21 มีสาระสำคัญ เช่น (1) ความคืบหน้าการดำเนินงานด้านความมั่นคงทางพลังงาน อาทิ โครงการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านน้ำมัน การเปลี่ยนผ่านทางพลังงานที่เป็นธรรมโดยการจัดการถ่านหินอย่างมีความรับผิดชอบ การพัฒนายุทธศาสตร์ของไฮโดรเจนและแอมโมเนียระยะยาวในอาเซียน และพลังงานนิวเคลียร์ในการเป็นแหล่งพลังงานทางเลือก (2) ความคืบหน้าการดำเนินงานด้านเวทีตลาดน้ำมันและก๊าซธรรมชาติและการหารือ เชิงธุรกิจ อาทิ การเพิ่มการขนส่งก๊าซธรรมชาติเหลว และการลงทุนอย่างยั่งยืนในโครงสร้างพื้นฐานของก๊าซธรรมชาติเหลว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำควบคู่กับการเข้าถึงพลังงาน (3) ความคืบหน้าการดำเนินงานด้านพลังงานใหม่ พลังงานหมุนเวียนประสิทธิภาพ และการอนุรักษ์พลังงาน อาทิ การยกระดับมาตรการประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงานในภาคอุตสาหกรรมและการคมนาคม และแผนดำเนินการตรวจวัดความเป็นกลางทางคาร์บอนในประเทศสมาชิก ภายใต้กรอบหุ้นส่วนความร่วมมือด้านประสิทธิภาพพลังงาน เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำของอาเซียน
4. ร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมสุดยอดรัฐมนตรีพลังงานแห่งเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 18 มีสาระสำคัญ เช่น 1) ความคืบหน้ากรอบความร่วมมือด้านพลังงานชีวภาพสำหรับภาคขนส่งและวัตถุประสงค์อื่น อาทิ การศึกษาวิจัยและวิเคราะห์ความเชื่อมโยงระหว่างน้ำ พลังงาน และอาหาร เพื่อการใช้ชีวมวลอย่างยั่งยืน 2) ความคืบหน้ากรอบความร่วมมือประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงาน อาทิ การประชุมเชิงปฏิบัติการด้านประสิทธิภาพพลังงาน เพื่อหารือเกี่ยวกับกรอบนโยบายและกฎหมายด้านประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงาน อาคารปลอดมลภาวะ เทคโนโลยีปั๊มความร้อน เทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้ง การกักเก็บความร้อนและการทำความเย็น 3) ความคืบหน้ากรอบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือก อาทิ ผลการวิจัยการพัฒนาหลังคาเซลล์แสงอาทิตย์และรูปแบบธุรกิจสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมอาเซียนในเวียดนาม และการสัมมนาเกี่ยวกับเทคโนโลยีการเผาไหม้โดยใช้เชื้อเพลิงสองชนิด 4) การสนับสนุนจากประเทศคู่เจรจา อาทิ การจัดเวทีหารือสุดยอดด้านพลังงานเอเชียโดยจีน การจัดตั้งโครงการความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างอาเซียน-ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกาให้ การสนับสนุนวงเงินมูลค่า 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับการพัฒนาการเชื่อมโยงโยงโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าอาเซียน
5. ร่างถ้อยแถลงร่วมของโครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าระหว่าง สปป.ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ฉบับที่ 5 มีสาระสำคัญ เช่น 1) การรับรองถ้อยแถลงร่วมของโครงการทั้งหมด 4 ฉบับ ที่ผ่านมา 2) ความสำเร็จของโครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าระหว่าง สปป.ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ (LTMS-PIP) ในระยะแรก และการดำเนินการซื้อขายไฟฟ้าหลายทิศทางภายใต้กรอบโครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าระหว่าง สปป.ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ โดยเริ่มจากการส่งไฟฟ้าจากมาเลเซียไปยังสิงคโปร์ 3) ความมุ่งมั่นในการพัฒนาการเชื่อมโยงโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าอาเซียนและการสานต่อและส่งเสริมการซื้อขายไฟฟ้าข้ามพรมแดนแบบพหุภาคีในอาเซียน สืบเนื่องจากความสำเร็จของโครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าระหว่าง สปป.ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้จัดสรรงบรายจ่ายอื่น โครงการเจรจาและประชุมนานาชาติ และงบรายจ่ายอื่น โครงการประสานความร่วมมือกับประเทศที่มีศักยภาพ เพื่อขับเคลื่อนศักยภาพพลังงานของไทยและส่งเสริมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ประจำปี พ.ศ. 2567 และ ปี พ.ศ. 2568 ไว้สำหรับการดำเนินงานที่เกี่ยวเนื่องกับร่างเอกสารทั้ง 5 ฉบับดังกล่าว ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงพลังงานแล้ว
ประโยชน์และผลกระทบ
กระทรวงพลังงานพิจารณาแล้วเห็นว่าร่างเอกสารดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันใน การส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ประเทศคู่เจรจาระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการใช้และการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืนในช่วงของการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานโดยให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานในภูมิภาคควบคู่กันไปด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาด้านพลังงานโดยสอดคล้องกับสถานการณ์และศักยภาพของประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ถ้อยคำในร่างเอกสารดังกล่าวเป็นการระบุถึงความก้าวหน้าการดำเนินการที่ผ่านมา และการวางกรอบแนวทาง กว้างๆ สำหรับการดำเนินงานในอนาคตโดยไม่มีข้อผูกมัด และตั้งอยู่บนพื้นฐานของแนวนโยบายและความสามารถในการปฏิบัติได้จริงตามสถานการณ์ของแต่ละประเทศ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) 24 กันยายน 2567
9644