หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ การจัดทำงบประมาณ รายจ่ายบูรณาการ และมอบหมายผู้มีอำนาจกำกับแผนงานบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 24 September 2024 23:37
- Hits: 6193
หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ การจัดทำงบประมาณ รายจ่ายบูรณาการ และมอบหมายผู้มีอำนาจกำกับแผนงานบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงบประมาณ (สงป.) เสนอ ดังนี้
1) อนุมัติหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการยืนยันตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 (ตามข้อ 1.)
2) อนุมัติให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 (เกี่ยวกับการมอบหมายรองนายกรัฐมนตรีให้กำกับแผนงานบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ที่คณะรัฐมนตรีชุดเดิมอนุมัติไว้)
3) อนุมัติการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 10 แผนงานบูรณาการ ซึ่งเป็นแผนงานต่อเนื่องจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (ตามข้อ 2.)
4) อนุมัติให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยให้มีคณะกรรมการ จำนวนทั้งสิ้น 6 คณะ โดยนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าวต่อไป (ตามข้อ 2.)
5) รับทราบการยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการโอนงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ และงบประมาณรายจ่ายบุคลากรระหว่างหน่วยรับงบประมาณ พ.ศ. 2562 สำหรับการโอนงบประมาณรายจ่ายบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (ตามข้อ 3.)
สาระสำคัญของเรื่อง
1. การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จะต้องมีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ซึ่งหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการนั้น ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามนัยมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งเดิมคณะรัฐมนตรีมีมติ (14 ธันวาคม 2564) เห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการและ สงป. เห็นว่าควรให้มีผลใช้บังคับต่อไป สรุป ดังนี้
1.1 หลักเกณฑ์การกำหนดแผนงานบูรณาการ
1.1.1 เป็นการดำเนินการแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 -2580) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติและนโยบายรัฐบาลในประเด็น/เรื่อง (Agenda) หรือการพัฒนาในระดับพื้นที่ (Area) ที่รัฐบาลต้องการขับเคลื่อนให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม มีความเร่งด่วน มีกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน และมีความสำคัญในระดับวาระแห่งชาติ (National Agenda)
1.1.2 เป็นการดำเนินการรองรับนโยบายของรัฐบาลและจำเป็นต้องมีการวางแผนและบริหารจัดการในภาพรวมของทั้งประเทศร่วมกัน ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญระดับสูง และต้องเชื่อมโยงการทำงานอย่างเป็นระบบ
1.1.3 มีหน่วยรับงบประมาณตั้งแต่สองหน่วยขึ้นไปซึ่งไม่อยู่ในกระทรวงเดียวกันร่วมกันรับผิดชอบดำเนินการ เพื่อสนับสนุนการดำเนินการในแต่ละเป้าหมายของแผนงานบูรณาการ
1.2 วิธีการจัดทำแผนงานบูรณาการ
1.2.1 การจัดทำแผนงานบูรณาการต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญ ได้แก่ เป้าหมายร่วม วัตถุประสงค์ งบประมาณรายจ่ายที่ต้องใช้ในการดำเนินการ ระยะเวลาการดำเนินการที่ชัดเจน สามารถวัดผลสัมฤทธิ์ได้ รวมทั้งภารกิจของหน่วยรับงบประมาณที่เป็นเจ้าภาพหลักและหน่วยรับงบประมาณที่เกี่ยวข้อง
1.2.2 การกำหนดระยะเวลาดำเนินการของแผนงานบูรณาการต้องมีระยะเวลาในการดำเนินการที่ชัดเจนระหว่าง 3 - 5 ปี หรือตามกรอบระยะเวลาที่รัฐบาลต้องการดำเนินการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และในกรณีที่เป็นประเด็นตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ ควรกำหนดระยะเวลาการดำเนินงานของแผนงานบูรณาการให้สอดคล้องกับระยะเวลาของแผนงานข้างต้น
1.2.3 ควรมีการกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัด ดังนี้
(1) ควรกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดในภาพรวมของแผนงานบูรณาการให้สอดคล้องกับระยะเวลาการดำเนินงานของแผนงาน รวมทั้งแสดงเป้าหมายและตัวชี้วัดรายปีให้ชัดเจน
(2) ภายใต้เป้าหมายแผนงานบูรณาการในแต่ละเป้าหมายต้องมีหน่วยรับงบประมาณตั้งแต่สองหน่วยขึ้นไป ซึ่งไม่อยู่ในกระทรวงเดียวกันร่วมกันรับผิดชอบดำเนินการ และต้องมีการกำหนดหน่วยรับงบประมาณที่เป็นเจ้าภาพของแต่ละเป้าหมาย รวมทั้งจัดทำแนวทางการดำเนินการของแต่ละเป้าหมายให้มีความสอดคล้องและเชื่อมโยงกันในลักษณะห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
(3) การกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดของแผนงานบูรณาการ ต้องมีการกำหนดตัวชี้วัดในลักษณะของตัวชี้วัดร่วมระหว่างกระทรวงที่มีเป้าหมายร่วมกัน (Joint KPIs) และในกรณีที่ตัวชี้วัดมี การอ้างอิงกับตัวชี้วัดตามมาตรฐานสากลจะต้องกำหนดการดำเนินงานและตัวชี้วัดให้สอดคล้องกับตัวชี้วัดสากลดังกล่าว
1.2.4 งบประมาณรายจ่ายที่ต้องใช้ในการดำเนินโครงการ/กิจกรรมของแผนงานบูรณาการต้องเป็นงบประมาณที่นำส่งผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายของแผนงานบูรณาการ โดยไม่นำค่าใช้จ่ายที่มีลักษณะเป็นงานประจำและ/หรือภารกิจพื้นฐานของหน่วยงานมากำหนดไว้ และต้องแสดงให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน
1.2.5 หน่วยงานเจ้าภาพหลักของแผนงานบูรณาการจะต้องร่วมกับเจ้าภาพในแต่ละเป้าหมายจัดทำรายงานผลการดำเนินงานและผลสัมฤทธิ์ของเป้าหมายและตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ในแต่ละปี เพื่อประกอบการทบทวนและวางแผนจัดทำงบประมาณในปีต่อไป และจัดทำรายงานเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาของแผนงานบูรณาการนั้นๆ
2. สงป. เสนอให้มีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 10 แผนงานบูรณาการ ซึ่งเป็นแผนงานต่อเนื่องจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ดังนี้
ยุทธศาสตร์ |
แผนงานบูรณาการ |
|
ด้านความมั่นคง |
1) แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2) แผนงานบูรณาการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด |
|
ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน |
3) แผนงานบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 4) แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ 5) แผนงานบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต 6) แผนงานบูรณาการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว |
|
ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม |
7) แผนงานบูรณาการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย |
|
ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม |
8) แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ |
|
ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ |
9) แผนงานบูรณาการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ 10) แผนงานบูรณาการรัฐบาลดิจิทัล |
นอกจากนี้ สงป. เสนอให้มีคณะกรรมการจำนวนทั้งสิ้น 6 คณะ โดยนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ต่อไป มีรายละเอียดสรุปดังนี้
2.1 องค์ประกอบและหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ประกอบด้วย
หัวข้อ |
รายละเอียด |
|
องค์ประกอบของคณะกรรมการ |
(1) ประธานกรรมการ : รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลหน่วยงานเจ้าภาพหรือรองนายกรัฐมนตรีที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย (2) รองประธานกรรมการ : รัฐมนตรีที่กำกับดูแลหน่วยงานเจ้าภาพหรือรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย (3) กรรมการ : (3.1) ปลัดกระทรวงของหน่วยงานเจ้าภาพและหัวหน้าของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (3.2) ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ (3.3) เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (3.4) เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (3.5) เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (4) กรรมการและเลขานุการร่วม : (4.1) หัวหน้า/ผู้แทนหน่วยงานเจ้าภาพ (4.2) ผู้แทนสำนักงบประมาณ (4.3) ผู้แทนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (4.4) ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ |
|
หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ |
(1) กำหนดหลักเกณฑ์ วัตถุประสงค์ ขอบเขตภารกิจ เป้าหมายร่วมแนวทางการดำเนินงาน ตัวชี้วัด หน่วยรับงบประมาณที่เป็นเจ้าภาพหลักในแต่ละเป้าหมายและหน่วยรับงบประมาณที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุม ครบถ้วน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนย่อยของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว เพื่อให้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ (2) ประสานหน่วยรับงบประมาณที่เกี่ยวข้องให้จัดทำโครงการ กิจกรรมและงบประมาณรายจ่ายที่จะต้องใช้ในการดำเนินการงบประมาณรายจ่ายบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ตามความจำเป็นและเหมาะสม (3) พิจารณาโครงการ กิจกรรม และงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ของแผนงานบูรณาการที่ได้รับมอบหมาย (4) จัดทำข้อเสนอการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และแสดงผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการใช้จ่ายงบประมาณตามกรอบระยะเวลาของการดำเนินการพร้อมจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณส่ง สงป. |
|
หน้าที่และอำนาจของประธานกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เป็นผู้มีอำนาจกำกับแผนงานบูรณาการ |
(1) บริหาร กำกับ ดูแลการปฏิบัติงาน ติดตามประเมินผลสัมฤทธิ์และตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณตามแผนงานบูรณาการ ให้เป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง ด้วยความโปร่งใสและถูกต้อง ปราศจากการทุจริตรวมทั้งบูรณาการการทำงานในทุกมิติ ทั้งในระดับพื้นที่และหน่วยรับงบประมาณที่เกี่ยวข้องตามแผนงานบูรณาการ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ และเกิดผลสัมฤทธิ์ในการบริหารรายจ่ายบูรณาการ (2) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานในการปฏิบัติงาน เชิญหน่วยรับงบประมาณมาให้ข้อมูลประกอบการพิจารณา ชี้แจงรายละเอียดและข้อคิดเห็นได้ตามความจำเป็น (3) ดำเนินการอื่นตามที่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมอบหมาย |
2.2 มอบหมายรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และผู้มีอำนาจกำกับแผนงานบูรณาการ ดังนี้
2.2.1 นายภูมิธรรม เวชยชัย จำนวน 2 แผนงาน คือ
(1) แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
(2) แผนงานบูรณาการป้องกัน ปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติด
2.2.2 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ จำนวน 2 แผนงาน คือ
(1) แผนงานบูรณาการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว
(2) แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์
2.2.3 นายอนุทิน ชาญวีรกูล จำนวน 1 แผนงาน คือ แผนงานบูรณาการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ
2.2.4 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค จำนวน 2 แผนงาน คือ
(1) แผนงานบูรณาการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย
(2) แผนงานบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต
2.2.5 นายพิชัย ชุณหวชิร จำนวน 1 แผนงาน คือ แผนงานบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
2.2.6 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง จำนวน 2 แผนงาน คือ
(1) แผนงานบูรณาการรัฐบาลดิจิทัล
(2) แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
โดยให้รองนายกรัฐมนตรีกำกับแผนงานบูรณาการตามที่ได้รับมอบหมาย มีหน้าที่และอำนาจบริหาร กำกับ ดูแลการปฏิบัติงาน ติดตามประเมินผลสัมฤทธิ์และตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณตามแผนงานบูรณาการ ให้เป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง ด้วยความโปร่งใสและถูกต้อง ปราศจากการทุจริต รวมทั้งบูรณาการการทำงานในทุกมิติทั้งในระดับพื้นที่และหน่วยรับงบประมาณที่เกี่ยวข้องตามแผนงานบูรณาการ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ และเกิดผลสัมฤทธิ์ในการบริหารรายจ่ายบูรณาการตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ. 2562 และระเบียบว่าด้วยการโอนงบประมาณรายจ่ายบูรณาการและงบประมาณรายจ่ายบุคลากรระหว่างหน่วยรับงบประมาณ พ.ศ. 2562 รวมทั้งดำเนินการอื่นตามที่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
2.3 โดยที่พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 โดยกำหนดแผนบูรณาการ จำนวน 10 แผนงาน ดังนั้น เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายบูรณาการให้เป็นไปตามแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ผู้อำนวยการ สงป. จึงอาศัยอำนาจตามข้อ 6 วรรคสองของระเบียบว่าด้วยการโอนงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ และงบประมาณรายจ่ายบุคลากรระหว่างหน่วยรับงบประมาณ พ.ศ. 2562 ที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยระเบียบว่าด้วยการโอนงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ และงบประมาณรายจ่ายบุคลากรระหว่างหน่วยรับงบประมาณ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2567 ยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการโอนงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ และงบประมาณรายจ่ายบุคลากรระหว่างหน่วยรับงบประมาณ พ.ศ. 2562 ข้อ 7 ข้อ 8 ข้อ 9 ข้อ 10 ข้อ 11 และข้อ 12 สำหรับการโอนงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่ตั้งไว้สำหรับหน่วยรับงบประมาณใดไปตั้งเป็นงบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณอื่นภายใต้แผนงานบูรณาการเดียวกัน [ยกเว้นขั้นตอนการดำเนินการตามระเบียบฯ ที่ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ประกาศใช้บังคับล่าช้ากว่าที่กำหนด เช่น เมื่อสิ้นไตรมาสที่สองของปีงบประมาณ (สิ้นเดือนมีนาคม) ให้ สงป. ตรวจสอบผลการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณ หากปรากฏว่ามีงบประมาณรายจ่ายบูรณาการที่ก่อหนี้ผูกพันไม่เป็นไปตามแผน ให้ สงป. แจ้งให้หน่วยรับงบประมาณตรวจสอบข้อมูลโดยเร็ว]
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) 24 กันยายน 2567
9650