แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการตามมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะขององค์กรอิสระและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับญัตติ รายงาน และข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 25 September 2024 00:43
- Hits: 5909
แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการตามมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะขององค์กรอิสระและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับญัตติ รายงาน และข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เสนอ ดังนี้
1. แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการตามมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะขององค์กรอิสระ
2. แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับญัตติ รายงาน และข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการของ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา และให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
สลค. เห็นว่า ที่ผ่านมามาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะขององค์กรอิสระ ประกอบด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้เสนอมาตรการ ความเห็นและข้อเสนอแนะ ซึ่งเป็นการดำเนินการ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพ การปรับปรุงการปฏิบัติราชการ การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรม อันเนื่องมาจากหน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ของรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นเรื่องที่ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการต่อไปโดยเร็วหรือมีเงื่อนเวลากำกับตามกฎหมาย ส่วนแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับญัตติ รายงาน และข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เป็นการดำเนินการตามข้อบังคับการประชุม สภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562 และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้อเสนอแนะในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน ดังนั้น เพื่อเร่งรัดให้หน่วยงานของรัฐให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะขององค์กรอิสระ และญัตติ รายงาน และข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง จึงได้เสนอแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการตามมาตรการ ความเห็นและข้อเสนอแนะขององค์กรอิสระ และแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับญัตติ รายงาน และข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ดังนี้
1. แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการการดามมาตรการ ความเห็นและข้อเสนอแนะขององค์กรอิสระ
1.1 เมื่อ สลค. ได้รับมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะขององค์กรอิสระ ให้ สลค. พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
(1) ในกรณีที่มาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะองค์กรอิสระเกี่ยวข้องกับ ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐใด ให้เสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบมาตรการความเห็น และข้อเสนอแนะขององค์กรอิสระ และมอบหมายให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาว่าสมควรจะดำเนินการ ตามมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะขององค์กรอิสระในเรื่องใดได้หรือไม่ประการใดก่อน
(2) ในกรณีที่มาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะขององค์กรอิสระมีส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐเกี่ยวข้องหลายแห่ง ให้พิจารณาว่าส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐใดสมควรเป็นหน่วยงานหลัก แล้วให้เสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะขององค์กรอิสระ และมอบหมาย ให้มีหน่วยงานหลักในการรวบรวมผลการดำเนินการดังกล่าวของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาสรุป เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ทั้งนี้ โดยให้เสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ และหากไม่มีข้อทักท้วงหรือไม่มีความเห็นเป็นอย่างอื่นให้ถือเป็นมติคณะรัฐมนตรีตามที่เสนอ
1.2 ให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐแจ้งผลการพิจารณา/ผลการดำเนินการตามข้อ 1.1 (1) หรือข้อ 1.1 (2) ให้ สลค. ทราบ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง
1.3 เมื่อ สลค. ได้รับผลการพิจารณา/ผลการดำเนินการตามข้อ 1.2 แล้ว ให้ สลค. นำผลการพิจารณา/ผลการดำเนินการของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ และหากไม่มีข้อทักท้วงหรือไม่มีความเห็นเป็นอย่างอื่นให้ถือเป็นมติคณะรัฐมนตรีตามที่เสนอ
ทั้งนี้ กรณีเป็นมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องดำเนินการก่อนครบ 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
2. แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับญัตติ รายงาน และข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการของ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
2.1 เมื่อ สลค. ได้รับญัตติ รายงาน และข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการของ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ให้ สลค. พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
(1) ในกรณีที่ญัตติ รายงาน และข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการของ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเกี่ยวข้องกับส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐใด ให้รายงานนายกรัฐมนตรีหรือ รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับการบริหารราชการส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐนั้นเพื่อพิจารณาสั่งการให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาว่าสมควรจะดำเนินการตามญัตติ รายงาน และข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาในเรื่องใดได้หรือไม่ประการใดก่อน
(2) ในกรณีที่ญัตติ รายงาน และข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการของ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา มีส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐเกี่ยวข้องหลายแห่งให้พิจารณาว่าส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐใดสมควรเป็นหน่วยงานหลัก แล้วให้รายงานนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับการบริหารราชการหน่วยงานหลักนั้น เพื่อพิจารณาสั่งการให้มีหน่วยงานหลักในการรวบรวมผลการดำเนินการดังกล่าวของ ส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาสรุปเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
2.2 ให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐแจ้งผลการพิจารณา/ผลการดำเนินการตามข้อ 2.1 (1) หรือข้อ 2.1 (2) ให้ สลค. ทราบ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง
2.3 เมื่อ สลค. ได้รับผลการพิจารมาผลการดำเนินการตามข้อ 2.2 แล้ว ให้ สลค. นำญัตติ รายงาน และข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาพร้อมผลการพิจารณา/ผลการดำเนินการของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ และหากไม่มีข้อทักท้วงหรือไม่มีความเห็นเป็นอย่างอื่นให้ถือเป็นมติคณะรัฐมนตรีตามที่เสนอ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) 24 กันยายน 2567
9668