ขออนุมัติดำเนินโครงการปรับปรุงคลองชักน้ำแม่น้ำยมฝั่งขวา จังหวัดสุโขทัย
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 02 October 2024 00:28
- Hits: 4568
ขออนุมัติดำเนินโครงการปรับปรุงคลองชักน้ำแม่น้ำยมฝั่งขวา จังหวัดสุโขทัย
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทานดำเนินโครงการปรับปรุงคลองชักน้ำแม่น้ำยมฝั่งขวา จังหวัดสุโขทัย ภายในกรอบวงเงิน 3,557,000,000 บาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 6 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 - พ.ศ. 2573) ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ (สงป.) ทั้งนี้ ขอให้ปฏิบัติตามมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วย สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการฯ ขอให้กรมชลประทานจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ตามความสามารถในการใช้จ่ายและการก่อหนี้ผูกพันภายในปีงบประมาณ ที่สอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอย่างเคร่งครัดเพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
ปัจจุบันพื้นที่ลุ่มน้ำยมยังไม่สามารถบริหารจัดการภายในลุ่มน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากไม่สามารถสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำขนาดใหญ่บริเวณตอนบนของลุ่มน้ำยม ส่งผลให้เกิดปัญหาอุทกภัยในฤดูน้ำหลากและปัญหาภัยแล้งเป็นประจำโดยเฉพาะในพื้นที่ตอนล่างของลุ่มน้ำยม ซึ่งมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นทุกปี รวมทั้งสร้างความเสียหายไม่น้อยกว่าปีละ 100 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำยม จังหวัดสุโขทัย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) โดยกรมชลประทานจึงได้วางแผนการดำเนินโครงการ 2 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการปรับปรุงคลองยม - น่าน จังหวัดสุโขทัย [ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 และปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการ] และ (2) โครงการปรับปรุงคลองชักน้ำแม่น้ำยมฝั่งขวา จังหวัดสุโขทัย (โครงการฯ) (กษ. เสนอคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้) โดยเป็นการตัดยอดน้ำบางส่วนออกจากแม่น้ำสายหลักและควบคุมปริมาณน้ำที่ไหลผ่านตัวเมืองสุโขทัยให้คงเหลือประมาณ 550 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งเพียงพอกับศักยภาพของแม่น้ำยมในบริเวณตัวเมือง
กษ. รายงานว่า
1. ปริมาณน้ำในแม่น้ำยมที่ไหลผ่านอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย มีปริมาณเฉลี่ย 1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยปัจจุบันการบริหารจัดการน้ำของแม่น้ำยมผ่านจังหวัดสุโขทัย จะใช้ประตูระบายน้ำแม่น้ำยม (บ้านหาดสะพานจันทร์) ซึ่งเป็นประตูระบายน้ำแบบประตูบานโค้ง (Radial Gate) ขนาด 12.00 X 10.25 เมตร จำนวน 5 ช่อง สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 1,804 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำหน้าที่ควบคุมการระบายน้ำลงสู่ด้านท้ายน้ำให้สมดุลเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับพื้นที่ด้านเหนือน้ำ ร่วมกับการระบายน้ำเข้าพื้นที่ฝั่งซ้าย และฝั่งขวา ดังนี้
1.1 ระบายน้ำผ่านคลองสาขา ในอัตรา 250 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
1.2 ระบายน้ำเข้าพื้นที่ฝั่งซ้าย ผ่านประตูระบายน้ำคลองหกบาทเข้าสู่คลองหกบาทในอัตรา 250 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยแบ่งการระบายน้ำออกเป็น 2 ทาง ได้แก่ (1) ระบายน้ำไปสู่คลองยม - น่าน ในอัตรา 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และ (2) ระบายน้ำไปสู่แม่น้ำยมสายเก่าในอัตรา 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
1.3 ระบายน้ำเข้าพื้นที่ฝั่งขวา ผ่านประตูระบายน้ำคลองน้ำโจน (คลองชักน้ำแม่น้ำยมฝั่งขวา) ในอัตรา 20 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ดังนั้น ปริมาณน้ำในแม่น้ำยมจะไหลผ่านตัวเมืองสุโขทัยเกินกว่าความสามารถที่แม่น้ำยมในบริเวณดังกล่าวจะรองรับได้ 550 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ปริมาณน้ำไหลผ่าน 880 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) ประกอบกับแม่น้ำยมเป็นแม่น้ำสายหลักเพียงสายเดียวที่ยังไม่สามารถบริหารจัดการภายในลุ่มน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้เกิดปัญหาอุทกภัยเป็นประจำทุกปี อีกทั้งสภาพภูมิประเทศทางตอนกลางและตอนล่างของแม่น้ำยมมีสภาพลำน้ำแคบกว่าตอนบนทำให้เมื่อเกิดฝนตกหนักน้ำจากทางตอนบนจะไหลบ่าลงมาตอนกลางและตอนล่างอย่างรวดเร็ว เข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและพื้นที่เศรษฐกิจ เช่น เทศบาลเมืองสุโขทัย ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายไม่น้อยกว่าปีละ 100 ล้านบาท รวมทั้งไม่สามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้เพื่ออุปโภค - บริโภค และทำเกษตรกรรมได้อย่างเพียงพอในฤดูแล้ง โดยเฉพาะลุ่มน้ำยมตอนล่างในเขตพื้นที่จังหวัดสุโขทัย จังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดพิจิตรที่มีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น
2. เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำยม จังหวัดสุโขทัยและช่วยให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำยมที่ไหลผ่านตัวเมืองสุโขทัยคงเหลือประมาณ 550 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งเพียงพอกับศักยภาพของแม่น้ำยมในบริเวณตัวเมืองสุโขทัย กรมชลประทานได้วางแผนการดำเนินโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดังนี้
2.1 โครงการปรับปรุงคลองยม - น่าน จังหวัดสุโขทัย เป็นการปรับปรุงเพื่อให้สามารถระบายน้ำเข้าพื้นที่ฝั่งซ้าย ผ่านประตูระบายน้ำคลองหกบาท เข้าสู่คลองหกบาท ในอัตรา 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยแบ่งการระบายน้ำออกเป็น 2 ทาง ได้แก่ (1) ระบายน้ำไปสู่คลองยม - น่าน ในอัตรา 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และ (2) ระบายน้ำไปสู่คลองยมเก่าในอัตรา 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที [คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 อนุมัติการดำเนินโครงการปรับปรุงคลองยม - น่าน จังหวัดสุโขทัย วงเงิน 2,875 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563-2567) แล้ว ทั้งนี้ ในปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง]
2.2 โครงการฯ เป็นการปรับปรุงคลองตลอดความยาว 54.65 กิโลเมตร ให้สามารถระบายน้ำได้ในอัตรา 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (กษ. ขอเสนอคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้) เนื่องจากที่ผ่านมาคลองชักน้ำแม่น้ำยมฝั่งขวามีสิ่งกีดขวางทางน้ำและลำน้ำแคบเป็นคอขวดหลายจุดทำให้ไม่สามารถระบายน้ำได้ตามวัตถุประสงค์ จึงต้องมีการปรับปรุงและระบายน้ำลงแก้มลิงทุ่งทะเลหลวงที่มีพื้นที่แก้มลิง 3,850 ไร่ ความจุ 32.40 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยปริมาณน้ำที่ไหลลงแก้มลิงทุ่งทะเลหลวงจะระบายลงแม่น้ำยมด้านท้ายตัวเมืองสุโขทัย
3. โครงการฯ มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
รายละเอียด |
|||||||||||||||||||||
วัตถุประสงค์ |
(1) เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำจากแม่น้ำยมที่ไหลเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ในอำเภอสวรรคโลก อำเภอศรีสำโรง และอำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดวัดสุโขทัย (2) เพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำในคลองสำหรับการอุปโภค - บริโภค และเกษตรกรรม |
|||||||||||||||||||||
ที่ตั้งโครงการฯ |
ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดสุโขทัย จำนวน 12 ตำบล (3 อำเภอ) ได้แก่ ตำบลป่ากุมเกาะ ตำบลวังพิณพาทย์ ตำบลวังไม้ขอน ตำบลนาทุ่ง ตำบลหนองกลับ ตำบลเมืองบางขลัง (อำเภอสววรรคโลก) ตำบลบ้านซ่าน ตำบลบ้านไร่ ตำบลวังใหญ่ ตำบลทับผึ้ง (อำเภอศรีสำโรง) ตำบลบ้านกล้วย ตำบลบลปากแคว (อำเภอเมืองสุโขทัย) |
|||||||||||||||||||||
ลักษณะโครงการฯ |
(1) ปรับปรุงคลองตามแนวร่องน้ำเดิมหรือทางน้ำธรรมชาติ ตลอดความยาว 54.65 กิโลเมตร ดังนี้
(2) ก่อสร้างถนนคันคลองทั้ง 2 ฝั่ง และปรับปรุงอาคารประกอบตามแนวคลองจำนวน 89 แห่ง |
|||||||||||||||||||||
ระยะเวลาดำเนินโครงการฯ |
6 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568-2573) |
|||||||||||||||||||||
วงเงินงบประมาณ |
3,557 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น หน่วย : ล้านบาท
|
|||||||||||||||||||||
สถานภาพของโครงการฯ |
(1) ด้านการศึกษาความเหมาะสม ดำเนินการศึกษาวางโครงการพิเศษ (Special Study Report) และทบทวนผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์แล้วเสร็จเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566 (2) ด้านการสำรวจ - ออกแบบ ออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2566 (3) ด้านการจัดหาที่ดิน จำเป็นต้องดำเนินการจัดหาที่ดินเพิ่มเติมจากพื้นที่แนวคลองเดิม จำนวน 850 แปลง เนื้อที่ 1,386 ไร่ 3 งาน 35 ตารางวา ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมในการเสนอขอตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน (4) ด้านการรับฟังความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมกับประชาชน กรมชลประทานได้ประชาสัมพันธ์จัดให้มีมวลชนสัมพันธ์ และให้ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นตอนการศึกษาความเหมาะสมของโครงการและขั้นตอนการสำรวจออกแบบโดยให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนเพื่อนำไปสู่การกำหนดรูปแบบของโครงการโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งประชาชนเห็นด้วยกับการพัฒนาโครงการ ทั้งนี้ ในขั้นตอนระหว่างการก่อสร้างจะได้ดำเนินการชี้แจงและสร้างความเข้าใจอย่างต่อเนื่องภายใต้แผนอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม |
|||||||||||||||||||||
การวิเคราะห์ผลตอบแทนด้านเศรษฐศาสตร์ |
ผลการวิเคราะห์ผลตอบแทนด้านเศรษฐศาสตร์ (ระดับอัตราคิดลดที่ร้อยละ 9) ดังนี้ (1) อัตราผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) เท่ากับร้อยละ 9.09 (2) มูลค่าปัจจุบันตอบแทนสุทธิ (NPV) เท่ากับ 24.28 ล้านบาท (3) อัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน (B/C Ratio) เท่ากับ 1.01 ทั้งนี้ การวิเคราะห์ผลตอบแทนด้านเศรษฐศาสตร์ได้พิจารณาตามหลักเกณฑ์การพิจารณาความเหมาะสมในการลงทุนโครงการของภาครัฐซึ่งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้กำหนดไว้ว่า หากโครงการมีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอยู่ในช่วงร้อยละ 9-12 ถือว่า มีความเหมาะสมในการลงทุน |
|||||||||||||||||||||
ผลกระทบของโครงการฯ |
การดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ จะทำให้เกิดผลกระทบต่อที่ดินและทรัพย์สินของประชาชนที่อยู่ในเขตพื้นที่โครงการฯ ซึ่ง กษ. โดยกรมชลประทาน ได้เตรียมมาตรการในการจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินและทรัพย์สินรวมไว้ในแผนงานโครงการแล้ว |
|||||||||||||||||||||
ประโยชน์ของโครงการฯ |
(1) ช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่อำเภอสวรรคโลก อำเภอศรีสำโรง อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ครอบคลุม 12 ตำบล 3 อำเภอ 30 หมู่บ้าน โดยควบคุมปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านพื้นที่เศรษฐกิจ สามารถป้องกันน้ำท่วมเมืองสุโขทัย ลดพื้นที่น้ำท่วมจังหวัดสุโขทัยลงได้170,189 ไร่ และลดความเสียหายได้ประมาณปีละ 100 ล้านบาท (2) เป็นแหล่งเก็บกักน้ำในบริเวณคลองชักน้ำแม่น้ำยมฝั่งขวา โดยมีพื้นที่รับประโยชน์ช่วงฤดูฝน 35,000 ไร่ และช่วงฤดูแล้ง 9,300 ไร่ (3) ประชาชนมีสภาพเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) 1 ตุลาคม 2567
1071