การขอความเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 32 และร่างเอกสารผลลัพธ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 02 October 2024 23:32
- Hits: 5663
การขอความเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 32 และร่างเอกสารผลลัพธ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบต่อร่างเอกสาร 5 ฉบับ ดังนี้
1.1 ร่างถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 32 [Joint Statement of the Thirty-Second ASEAN Socio-Cultural Community (ASCC) Council Meeting) (การประชุม ASCC ครั้งที่ 32)
1.2 ร่างฉบับสุดท้ายของปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างเศรษฐกิจใส่ใจและความยืดหยุ่นต่อประชาคมอาเซียน (ร่างฉบับสุดท้ายของปฏิญญาอาเซียนฯ) ภายหลังปี พ.ศ. 2568
1.3 ร่างฉบับสุดท้ายของแนวทางระดับภูมิภาคสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างบทบาทของนักสังคมสงเคราะห์และบุคลากรด้านบริการสังคมในบริบทที่กว้างกว่าสำหรับภาคส่วนการศึกษา
1.4 ร่างฉบับสุดท้ายของแนวทางระดับภูมิภาคสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนว่าด้วยบทบาทของนักสังคมสงเคราะห์และบุคลากรด้านบริการสังคมในบริบทที่กว้างกว่าในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและการฟื้นฟูสภาพภูมิอากาศ
1.5 ร่างฉบับสุดท้ายของแนวปฏิบัติของอาเซียนสำหรับการพัฒนาขั้นตอนการปฏิบัติงานมาตรฐานระดับชาติเพื่อการตอบสนองแบบประสานงานต่อความรุนแรงต่อสตรีและเด็กหญิง
โดยหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย (ไทย) ให้ พม. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก และหลังจากนั้นให้รายงานผลเพื่อคณะรัฐมนตรีทราบต่อไป
2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในฐานะรัฐมนตรีที่รับผิดชอบการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสตรี (ASEAN Ministerial Meeting on Women: AMMW) ของไทย มีหนังสือไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ในฐานะประธาน AMMW เพื่อแจ้งรับรองร่างฉบับสุดท้ายของปฏิญญาอาเซียนฯ ภายหลังปี พ.ศ. 2568 (ตามข้อ 1.2) อย่างเป็นทางการ ในโอกาสแรก
3. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุม ASCC ครั้งที่ 32 ให้การรับรอง (adopt) ร่างถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุม ASCC ครั้งที่ 32 และร่างฉบับสุดท้ายของปฏิญญาอาเซียนฯ ภายหลังปี พ.ศ. 2568 (ตามข้อ 1.1 - 1.2) ในวันที่ 26 กันยายน 2567 ณ นครหลวงเวียงจันทร์ สปป.ลาว
4. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในฐานะรัฐมนตรีที่รับผิดชอบการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา (ASEAN Ministerial Meeting on Social Welfare and Development: AMMSWD) ของไทย มีหนังสือไปยังสหพันธรัฐมาเลเซีย ในฐานะประธานการประชุม AMMSWD เพื่อแจ้งรับรองร่างฉบับสุดท้ายของเอกสาร ตามข้อ 1.3 - 1.5 อย่างเป็นทางการ ในโอกาสแรก
สาระสำคัญ
1. การประชุม ASCC ครั้งที่ 32 ภายใต้การเป็นประธานอาเซียนของ สปป.ลาว ในวันที่ 26 กันยายน2567 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว จะมีการเสนอร่างถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุม ASCC ครั้งที่ 32 และร่างเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมจำนวน 5 ฉบับ โดยมีสาระสำคัญ สรุปได้ ดังนี้
1.1 ร่างเอกสารที่จะเสนอที่ประชุมพิจารณาให้การรับรองโดยไม่มีการลงนาม จำนวน 2 ฉบับ ดังนี้
1.1.1 ร่างถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุม ASCC ครั้งที่ 32 สาระสำคัญ เช่น เน้นย้ำถึงการเสริมสร้างความเชื่อมโยงและความยืดหยุ่นของประชาคมอาเซียน และการบรรลุประเด็นที่สำคัญภายใต้การเป็นประธานอาเซียนของ สปป.ลาว
1.1.2 ร่างฉบับสุดท้ายของปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างเศรษฐกิจใส่ใจและความยืดหยุ่นต่อประชาคมอาเซียนภายหลังปี พ.ศ. 2568 สาระสำคัญ เช่น เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นของอาเซียนในการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและการเสริมพลังของผู้หญิงและเด็กผู้หญิงทุกคน
1.2 ร่างเอกสารผลลัพธ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่จะเสนอต่อที่ประชุมเพื่อรับทราบ จำนวน 3 ฉบับ ดังนี้
1.2.1 ร่างฉบับสุดท้ายของแนวทางระดับภูมิภาคสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างบทบาทของนักสังคมสงเคราะห์และบุคลากรด้านบริการสังคมในบริบทที่กว้างกว่าสำหรับภาคส่วนการศึกษา สาระสำคัญ เช่น เป็นการสนับสนุนผู้มีส่วนในการกำหนดนโยบายและผู้ที่มีอำนาจในด้านการศึกษาและสวัสดิการสังคม ผู้อำนวยการและบุคลากรครูในโรงเรียน รวมถึงผู้บริหารและสมาชิกบุคลากรด้านบริการสังคมได้พิจารณาถึงวิธีการที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการจัดสรรงานให้แก่บุคลากรด้านบริการสังคมและการสร้างเครือข่ายความเชื่อมโยง กับโรงเรียนและสภาพแวดล้อมก่อนช่วงปฐมวัยได้อย่างเหมาะสม
1.2.2 ร่างฉบับสุดท้ายของแนวทางระดับภูมิภาคสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนว่าด้วยบทบาทของนักสังคมสงเคราะห์และบุคลากรด้านบริการสังคมในบริบทที่กว้างกว่าในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและการฟื้นฟูสภาพภูมิอากาศ สาระสำคัญ เช่น เป็นการสนับสนุนผู้กำหนดนโยบาย ผู้ตัดสินใจ ผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานวางแผนของรัฐบาล และหน่วยงานจัดการภัยพิบัติและสภาพภูมิอากาศแห่งชาติรวมถึงในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจบทบาทของนักสังคมสงเคราะห์และแรงงานบริการสังคมในวงกว้างที่มีต่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
1.2.3 ร่างฉบับสุดท้ายของแนวปฏิบัติของอาเซียนสำหรับการพัฒนาขั้นตอนการปฏิบัติงานมาตรฐานระดับชาติ เพื่อการตอบสนองแบบประสานงานต่อความรุนแรง ต่อสตรีและเด็กหญิง สาระสำคัญ เช่น เป็นการพัฒนามาตรฐานการปฏิบัติงานแบบประสานงานในระดับชาติสำหรับการตอบสนองต่อความรุนแรงต่อสตรีและเด็กหญิงโดยให้ความสำคัญกับสิทธิและการเข้าถึงการบริการที่เหมาะสมกับความต้องการรวมทั้งส่งเสริมความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับความรุนแรงต่อผู้หญิง
ประโยชน์ที่จะได้รับ
การให้ความเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุม ASCC ครั้งที่ 32 และร่างฉบับสุดท้ายของเอกสารผลลัพธ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 4 ฉบับ มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับนโยบายและผลประโยชน์ของไทย ไม่มีผลผูกพันในเชิงงบประมาณโดยถือเป็นการย้ำเจตจำนงและความมุ่งมั่นของไทยในการร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนเสริมสร้างความเชื่อมโยงและความเข้มแข็งระดับภูมิภาค ตลอดจนแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ในการดำเนินความร่วมมือและรับรองหลักการเอกสารผลลัพธ์ด้านต่างๆ ที่จะนำเสนอต่อการประชุมสุดยอดอาเซียนต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) 1 ตุลาคม 2567
1086