ขอความเห็นชอบต่อเอกสารผลลัพธ์ด้านแรงงานสำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 02 October 2024 23:37
- Hits: 5612
ขอความเห็นชอบต่อเอกสารผลลัพธ์ด้านแรงงานสำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อเอกสาร (for notation) ทั้ง 2 ฉบับ สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 ระหว่างวันที่ 6 - 11 ตุลาคม 2567 ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและการประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียน (ASEAN Labour Ministers Meeting : ALMN) ครั้งที่ 28 และการประชุมที่เกี่ยวข้องระหว่างวันที่ 28 -31 ตุลาคม 2567 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ได้แก่ 1) แนวทางอาเซียนว่าด้วยการเชื่อมโยงสิทธิประกันสังคมสำหรับแรงงานข้ามชาติ (ASEAN Guidelines on Portability of Social Security Benefits for Migrant Workers) 2) แนวทางอาเซียนว่าด้วยการบรรจุงานและการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติในภาคประมง (ASEAN Guidelines on the Placement and Protection of Migrant Fishers) ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ
ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเอกสารทั้ง 2 ฉบับ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ ให้กระทรวงแรงงานดำเนินการได้โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าวด้วย
สาระสำคัญ
กระทรวงแรงงานและการจ้างงาน สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ในฐานะประธานการประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียน (ASEAN Labour Ministers Meeting, ALMM) ระหว่างปี พ.ศ. 2565 - 2567 มีความประสงค์จะผลักดันเอกสาร 4 ฉบับ (2 ใน 4 ฉบับ คือ แนวทางอาเซียนว่าด้วยการเชื่อมโยงสิทธิประกันสังคมสำหรับแรงงานข้ามชาติ และแนวทางอาเซียนว่าด้วยการบรรจุงานและการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติในภาคประมง) เพื่อเป็นเอกสารผลลัพธ์ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 และ ครั้งที่ 45 (The 44th and 45th ASEAN Summits)
สาระสำคัญของเอกสารผลลัพธ์ มีดังนี้
1. แนวทางอาเซียนว่าด้วยการเชื่อมโยงสิทธิประกันสังคมสำหรับแรงงานข้ามชาติ (ASEAN Guidelines on Portability of Social Security Benefits for Migrant Workers) เป็นเอกสารที่แสดงเจตนารมณ์ร่วมกันระหว่างประเทศอาเซียนเพื่อกำหนดมาตรฐานและแนวทางในการจัดทำความตกลงด้านการประกันสังคมระหว่างประเทศ ในรูปแบบทวิภาคีหรือพหุภาคี ซึ่งหมายรวมถึงสัญญาระหว่างประเทศ (Agreement/Memorandum of Agreements: MOA) บันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MOU) และบันทึกความร่วมมือ (Memorandum of Cooperation: MOC) โดยให้ใช้ร่วมกันในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อเป็นพื้นฐานความเข้าใจที่ตรงกัน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเปรียบเทียบตลอดจนเชื่อมโยงสิทธิประกันสังคมสำหรับแรงงานข้ามชาติที่ย้ายถิ่นฐานภายในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนอันจะเป็นข้อมูลแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนและผู้เชี่ยวชาญจากภูมิภาคอื่นๆ
2. แนวทางอาเซียนว่าด้วยการบรรจุงานและการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติในภาคประมง (ASEAN Guidelines on the Placement and Protection of Migrant Fishers) เป็นเอกสารที่แสดงเจตนารมณ์ร่วมกันระหว่างประเทศอาเซียนในการดูแลและคุ้มครองแรงงานข้ามชาติในเรือประมงให้มีสภาพการทำงานและสภาพความเป็นอยู่ที่เหมาะสม มีความปลอดภัยในการทำงาน ได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม เข้าถึงความยุติธรรมและการเข้าถึงความคุ้มครองทางสังคม ซึ่งรวมถึงการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมสำหรับแรงงานข้ามชาติในภาคประมงเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินและสถานการณ์ฉุกเฉินบนเรือ
ประโยชน์และผลกระทบ
1. แนวทางอาเซียนว่าด้วยการเชื่อมโยงสิทธิประกันสังคมสำหรับแรงงานข้ามชาติ จะช่วยส่งเสริมให้แรงงานข้ามชาติในภูมิภาคอาเซียนได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการประกันสังคมระหว่างประเทศและอำนวยความสะดวกในการเปรียบเทียบ ตลอดจนเชื่อมโยงสิทธิประกันสังคมสำหรับแรงงานข้ามชาติที่ย้ายถิ่นฐานภายในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนอันจะเป็นข้อมูลแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนและผู้เชี่ยวชาญจากภูมิภาคอื่นๆ
2. แนวทางอาเซียนว่าด้วยการบรรจุงานและการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติในภาคประมง จะช่วยส่งเสริมการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติในภาคประมงในภูมิภาคอาเซียนให้ได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย คุ้มครองให้มีสภาพการทำงานและสภาพความเป็นอยู่ที่เหมาะสม มีความปลอดภัยในการทำงานได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม เข้าถึงความยุติธรรมและการเข้าถึงความคุ้มครองทางสังคม ซึ่งรวมถึงการให้ความช่วยเหลือ ด้านมนุษยธรรมสำหรับแรงงานข้ามชาติในภาคประมงเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินและสถานการณ์ฉุกเฉินบนเรือ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) 1 ตุลาคม 2567
1089